ตำรวจสันติบาลใช้ข้อกำหนดสื่อมวลชนและช่างภาพ คุมเข้มรักษาความปลอดภัยนายกรัฐมนตรีเป็นวันแรก ขณะที่ นายกฯ ย้ำนโยบายด้านสังคม ต้องยกระดับฝีมือแรงงานไทย แต่ไม่ต้องการให้กระทบตกงาน
ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี วันที่ 3 ส.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานเปิดงาน Thailand Social Expo 2018 มหกรรมแสดงผลงานและนโยบายด้านสังคมครั้งแรกของประเทศ พร้อมปาฐถาพิเศษ เรื่อง “การขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาสังคมในยุค 4.0”
สำหรับการพัฒนาคนไทย 4.0 นั้น นายกัฐมนตรี ได้กล่าวย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับกับการพัฒนาคนทุกช่วงวัยและทุกกลุ่มเป้าหมาย ตั้งแต่ลืมตาดูโลกจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต โดยเฉพาะการค้นหาศักยภาพและพรสวรรค์ หรือ Talent ของเด็ก ต้องเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก รวมทั้งการเตรียมคนของประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องของความรู้ความสามารถทางด้านเทคโนโลยีและอิเล็กทรอนิกส์ และดิจิัทัล เพื่อรองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4
ยืนยัน ไม่ต้องการให้คนได้รับผลกระทบ หรือตกงาน แต่ต้องการให้คนในประเทศพัฒนาตนเองให้ทันกับสถานการณ์และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศในอนาคตตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ในส่วนของการประกอบอาชีพ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการยกระดับจาก “ผู้ใช้แรงงาน” เป็น “ผู้ใช้พลังสมอง” เน้นความมั่นคงในอาชีพและรายได้
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ปฏิเสธที่จะตอบคำถามกรณีสื่อท้องถิ่นของประเทศอินโดนีเซีย ตีพิมพ์บทความ คัดค้าน นายกฯ ของไทย นั่งเป็นประธานอาเซียน ในปี 2562
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการรักษาความปลอดภัยนายกรัฐมนตรี ถือเป็นครั้งแรก ที่วันนี้เจ้าหน้าที่จาก กองกำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 ได้ทำใบลงทะเบียนสำหรับสื่อมวลชน และช่างภาพ โดยให้ลงชื่อ, สังกัดและเบอร์โทรศัพท์ จดเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก พร้อมมีข้อกำหนด ดังนี้
- ต้องอยู่ในลักษณะเคารพต่อนายกรัฐมนตรี และแสดงความเคารพทั้งก่อนและหลังถ่ายภาพ
- การแต่งกาย สุภาพบุรุษชุดสูทสากล สุภาพสตรีชุดกระโปรง รองเท้าหุ้มส้น
- กล้องที่จะนำมาบันทึกภาพ ต้องผ่านการตรวจและติดแท็ก ที่ได้รับอนุญาตจากตำรวจสันติบาล
- จะอนุญาตให้เฉพาะช่างภาพที่ลงทะเบียน ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น
- ไม่แสดงกิริยาวาจา หรือมารยาทอันไม่สมควร
- ในการถ่ายภาพควรอยู่ห่างจากนายกรัฐมนตรี 5 เมตร เป็นอย่างน้อย
- ไม่ควรเบียดเสียดกันถ่ายภาพ หรือถ่ายภาพลักษณะยืนค้ำศีรษะผู้อื่น หรือยื่นกล้องถ่ายภาพในลักษณะถ่ายภาพข้ามท่าน
สำหรับข้อควรปฏิบัติในการบันทึกภาพ
- ต้องไม่ถ่ายภาพตรงหน้า ขณะที่นายกรัฐมนตรี อยู่ในห้องรับรอง
- ห้ามถ่ายภาพขณะเดินขึ้น หรือลงจากที่สูง เช่น บันได
- ห้ามถ่ายภาพขณะรับประทานอาหาร
- ห้ามออกนอกสถานที่ที่เจ้าหน้าที่จัดไว้ วิ่งตัดหน้า วิ่งลุกลน หรือห้อมล้อมกีดขวางทาง
- ให้บันทึกภาพได้ในจุด หรือสถานที่ที่เจ้าหน้าที่ได้จัดไว้ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย และสวยงาม
- การใช้ไฟฉาย ใช้ได้ในทุกโอกาส แต่การถ่ายไฟไม่ควรเกิน 1,500 วัตต์ และควรอยู่ห่างจากห้องรับรอง
- หากฝ่าฝืนมารยาทข้อควรปฏิบัติ หรือไม่เชื่อฟังคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ จะถูกริบปลอกแขน และห้ามบันทึกภาพ
ขอบคุณภาพ Thaigov