SHARE

คัดลอกแล้ว

หลังจากที่ ฟิล์ม รัฐภูมิ เปิดตัวลงสมัคร ส.ส. พรรคพลังท้องถิ่นไท

มาย้อนดูกันว่ามีดาราคนไหนเคยลงเล่นการเมืองกันบ้าง ?

มนต์สิทธิ์ คำสร้อย หรือ นายมนต์สิทธิ์คำสร้อย แก้วศรีนวน นักร้องลูกทุ่งชื่อดัง เคยลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 2 ของจังหวัดมุกดาหาร ในนามพรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งในวันที่เดินทางมาลงสมัครที่หอประชุมอำเภอเมืองมุกดาหาร มีกองเชียร์เดินทางมาให้กำลังใจร่วม 50 คน แต่สุดท้ายก็แพ้คะแนนเสียงให้กับ นายบุญฐิน ประทุมลี จากพรรคเพื่อไทย ในปี 2554

กล้วย เชิญยิ้ม หรือ นายฐานุพงศ์ ศักดิ์ธนาวัฒน์ ดาราตลกชื่อดัง เคยลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 3 ของจังหวัดอุตรดิตถ์ ในนามพรรคประชาธิปัตย์ ท้าชนนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และอดีต ส.ส. 5 สมัย ซึ่งเป็นคู่ที่น่าจับตามองเป็นอย่างมากในสมัยนั้น แต่สุดท้ายก็แพ้คะแนนเสียงให้กับ นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย จากพรรคเพื่อไทย ในปี 2554 เช่นกัน

อี้ แทนคุณ จิตต์อิสระ อดีตดาราชื่อดังได้ผันตัวมาเล่นการเมือง ซึ่งบทบาททางการเมืองของเขา เริ่มต้นจากการสนับสนุนการดำเนินนโยบายด้านเด็กและเยาวชน ร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ เช่น เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา ศิลปวัฒนธรรม กีฬา เด็ก และเยาวชน, ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิด้านเด็กและเยาวชน

หลังจากนั้น ในปี 2554 อี้ แทนคุณ ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตดอนเมือง ในนามพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งแพ้คะแนนเสียงให้กับ นายการุณ โหสกุล จากพรรคเพื่อไทย แต่เขาก็ได้เป็นโฆษกประจำตัวของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

ต่อมาปี 2556 อี้ แทนคุณได้ลงสมัครการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตดอนเมือง ในนามพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้ง โดยเป็นการเลือกตั้งซ่อม เนื่องจาก นายการุณ โหสกุล โดนใบแดงและถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี จึงทำให้เขาเอาชนะคู่แข่งอย่าง แซม ยุรนันท์ ภมรมนตรี จากพรรคเพื่อไทยได้สำเร็จ ซึ่งถือว่าอี้ แทนคุณ เป็น ส.ส. เขตดอนเมือง จาก พรรคประชาธิปัตย์ คนแรกในรอบ 37 ปี ปัจจุบันอี้ก็ยังคงเป็นกรรมการส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยในพรรคประชาธิปัตย์

นอกจากเหล่าดาราแล้ว ยังมีทัพนักกีฬาชื่อดังหันมาเล่นการเมืองกันหลายคนเลยทีเดียว

บอล ภราดร ศรีชาพันธุ์ อดีตนักเทนนิสชาวไทย มือวางอันดับ 9 ของโลก ซึ่งในปี 2554 ภราดรเคยเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน แต่เมื่อตรวจสอบคุณสมบัติแล้วพบว่า ภราดรไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งในครั้งที่ผ่านมา จึงเป็นแค่ผู้สนับสนุนเท่านั้น ต่อมาปี 2556 ภราดรหวนกลับมาเล่นการเมืองอีกครั้ง ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 6 ดินแดง พญาไท ในนามพรรคชาติพัฒนา แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง ซึ่งปัจจุบันไม่เล่นการเมืองแล้ว

สมรักษ์ คำสิงห์ นักมวยเหรียญทองโอลิมปิค ก็เป็นอีกคนที่เคยลงเล่นการเมืองเช่นกัน เคยสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 10 จังหวัดขอนแก่น ในนามพรรคชาติไทยพัฒนา แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง ซึ่งปัจจุบันไม่เล่นการเมืองแล้วเช่นกัน

ด้าน น้องวิว เยาวภา บุรพลชัย อดีตนักเทควันโดหญิงทีมชาติไทย เจ้าของเหรียญทองแดงโอลิมปิก 2004 ก็ผันตัวเล่นการเมืองเช่นกัน ซึ่งเคยสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ปี 2554 เขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในนามพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง โดยในปีนี้ก็ยังเห็นน้องวิวโลดแล่นในสนามการเมือง ซึ่งยืนยันว่ายังอยู่กับพรรคชาติพัฒนาเคียงข้างประชาชนเช่นเดิม

แบม จณิสตา ลิ่วเฉลิมวงศ์ ดาราพิธีกรชื่อดัง ผันตัวเล่นการเมืองตั้งแต่ปี 2544 โดยเข้าร่วมพรรคชาติไทย ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ คนที่ 6 ของพรรค นอกจากนี้ยังดำรงตำแหน่งโฆษกพรรคชาติไทยอีกด้วย

ในปี 2548 แบม จณิสตาได้เปลี่ยนมาลงสมัคร ส.ส.เขตดอนเมือง แทนนายการุณ โหสกุล ซึ่งเป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานครของพรรคชาติไทย ที่ย้ายไปสังกัดพรรคไทยรักไทยอย่างกะทันหัน อีกทั้งยังลงเลือกตั้งในเขตดอนเมืองแข่งกับพรรคชาติไทยด้วย ซึ่งผลการเลือกตั้งในครั้งนั้นปรากฏว่า แบม จณิสตาได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.เขตดอนเมือง และเป็น ส.ส.เพียงคนเดียวของพรรคชาติไทยที่ชนะการเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร

ต่อมาในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2550 แบม จณิสตาได้ลงสมัคร ส.ส.กรุงเทพมหานคร เขต 5 ในนามพรรคชาติไทยอีกครั้ง แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง และจากนั้นในปี 2551 ก็ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคชาติไทย ซึ่งปัจจุบันนี้ แบม จณิสตาได้หันหลังให้กับวงการการเมืองแล้ว

บรู๊ค ดนุพร ปุณณกันต์ อดีตพระเอกชื่อดัง ได้เริ่มเล่นการเมืองโดยสังกัดพรรคไทยรักไทย และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นตำแหน่งแรกทางการเมือง ต่อมาในปี 2548 บรู๊คได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตสาธรและยานนาวา กรุงเทพมหานคร แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง โดยแพ้ให้กับ กรณ์ จาติกวณิช ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย

ภายหลังจากการยุบพรรคไทยรักไทย บรู๊คได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งใน เขต 7 กรุงเทพมหานคร ในนามพรรคพลังประชาชน โดยได้รับเลือกเป็นอันดับที่ 1 ของเขตเลือกตั้ง ต่อมาปี 2554 บรู๊คได้ย้ายมาลงสมัครในแบบบัญชีรายชื่อ อันดับที่ 62 ของพรรคเพื่อไทย โดยไม่ได้รับเลือก แต่เนื่องจากนายบัณฑูร สุภัควณิช ได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรระบบบัญชีรายชื่อ จึงส่งผลให้บรู๊คได้รับการเลื่อนขึ้นเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สังกัดพรรคเพื่อไทย ซึ่งเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 61 บรู๊คได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า ยังสนุกกับการเป็นผู้จัดละคร ส่วนเรื่องการเมืองขอคิดดูก่อน ก็ต้องมาลุ้นกันว่าจะได้เห็นบรู๊คโลดแล่นอยู่ในสนามการเมืองอีกหรือไม่

ทอม ดันดี หรือธานัท ธนวัชรนนท์ อดีตนักร้องเพื่อชีวิตชื่อดัง ถึงแม้จะไม่ได้เล่นการเมืองโดยการลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็เริ่มต้นเข้าสู่สนามการเมืองโดยการเป็นแนวร่วม นปช. ซึ่งในปี 2553 ทอม ดันดีได้เปิดตัวโดยการขึ้นเวที นปช. พร้อมปราศรัยว่า “ถ้าอาทักษิณ กลับมาแล้วติดคุก ผมก็จะขอติดด้วย ไม่ร้องเพลงมันแล้ว”

เมื่อวันที่ 1พฤษภาคม 2554 ทอม ดันดีได้ขึ้นเวทีปราศรัยให้แนวร่วม นปช.ฟังในงาน “แรงงานสร้างบ้านแป๋งเมือง” ที่ตลาดจตุจักร ต.ป่าสัก อ.เมือง จ.ลำพูน โดยปราศรัยพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ในทางที่ไม่เหมาะสม จึงทำให้ตกเป็นจำเลยในความผิดฐานดูหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และการกระทำผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เนื่องจากนำคลิปคำปราศรัยไปเผยแพร่ ซึ่งศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยกระทำผิดหลายกรรม ให้ลงโทษจำคุกกรรมละ 5 ปี รวม 15 ปี แต่คำรับสารภาพเป็นประโยชน์ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 7 ปี 6 เดือน

ทนายของทอม ดันดีเผยว่า ทอมโดนฟ้องคดีหมิ่นสถาบันเบื้องสูงทั้งหมด 4 คดี คือ คดีของศาลทหาร ซึ่งพิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี 4 เดือน คดีที่ 2 คดีของศาลอาญา พิพากษาจำคุก 7 ปี 6 เดือน คดีที่ 3 ของศาลอาญา และคดีที่ 4 ของศาลจังหวัดราชบุรี ซึ่งในคดีที่ 3 นั้น ศาลอาญาพิพากษายกฟ้องแล้วเนื่องจาก เห็นว่าไม่มีความชัดเจนเพียงพอว่าจำเลยหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดแม้จะให้การรับสารภาพ แต่ทอม ดันดีก็ยังไม่พ้นคุก เพราะหากนับรวมเพียง 2 คดีแรกที่มีคำพิพากษาไปแล้ว ทอมยังต้องโทษตามคำพิพากษาอยู่อีก 10 ปี 10 เดือน

อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง อดีตนักร้องชื่องดัง เริ่มเข้าสูสนามการเมืองช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 โดยร่วมเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร หลังจากนั้น เมื่อปี 2538 อริสมันต์ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรก เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ในนามพรรคพลังธรรม โดยได้รับการเลือกตั้ง

ต่อมาปี 2541 อริสมันต์ย้ายไปสังกัดพรรคไทยรักไทย และในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2548 อริสมันต์ก็เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 56 ของพรรคไทยรักไทย หลังจากนั้นปี 2550 อริสมันต์กลับมาลงสมัคร ส.ส. กรุงเทพมหานคร ในเขต 12 อีกครั้ง ในนามพรรคพลังประชาชน แต่ก็ไม่ได้รับเลือกตั้ง

อริสมันต์เป็นแกนนำ นปช. ที่มักโดนกล่าวหาว่าหัวรุนแรง เคยนำผู้ชุมนุมไปปิดล้อมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่โรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท พัทยา จนรัฐบาลไทยในยุคนั้นต้องยุติการประชุม และขอเลื่อนการประชุมออกไปโดยไม่มีกำหนด โดยอริสมันต์ ต้องโทษ 3 คดี คือ 1. หมิ่นประมาท นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จำคุก 12 เดือน ซึ่งรับโทษครบกำหนดแล้ว 2.คดีก่อการร้าย อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล 3. คดีบุกปิดล้อมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน โดยศาลอุทธรณ์สั่งตัดสินจำคุก 4 ปี แต่ล่าสุดศาลฎีกาอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ด้วยวงเงินประกัน 2,200,000 บาท โดยวางข้อกำหนดห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร

ซึ่งภาพที่คนจำอริสมันต์ได้มากที่สุดคือ วันที่ตำรวจหน่วยคอมมานโดบุกล้อมจับแกนนำเสื้อแดงที่พักอยู่โรงแรมเอสซีปาร์ค อริสมันต์ได้หนีโดยการโรยตัวออกทางระเบียงห้องพักชั้น 3 ซึ่งมีกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงกว่า 100 คนคอยให้ความช่วยเหลือจนสำเร็จ

ติดตามข่าวที่น่าสนใจได้ที่ workpointnews.com

Facebook / facebook.com/WorkpointNews/

Instagram / instagram.com/workpointnews/

Twitter / twitter.com/WorkpointShorts

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า