ประเด็นคือ – รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยืนยันว่า บทเรียนในอดีตของโรงไฟฟ้าถ่านหิน จะทำให้การทำงานของแต่ละฝ่ายมีความรอบคอบ และรับฟังเสียงประชาชนมากขึ้น ส่วนการสร้างโรงไฟฟ้าที่ล่าช้า ทำให้ กฟผ.ต้องใช้วิธีเพิ่มสายส่ง ซึ่งเสี่ยงต่อปัญหาคอขวดและภัยธรรมชาติ
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, ปลัดกระทรวงพลังงาน และผู้บริหาร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ร่วมเกี่ยวข้าวบนแปลงนาสาธิต ซึ่งใช้น้ำที่ผ่านระบบบำบัดจากหอหล่อเย็น ของโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติ ตามโครงการ ปลูกวันแม่ เกี่ยววันพ่อ เพื่อสืบสานพระราชปณิธาน และน้อมนำพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กฟผ.จัดสรรพื้นที่ 12 ไร่ พัฒนาศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชา พร้อมจำลองการปลูกพืชและการใช้น้ำจากโรงไฟฟ้า ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ทำให้มีพื้นที่สีเขียว เกินกว่ามาตรฐานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ ร้อยละ 30 ของพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า และไม่สร้างมลพิษต่อชุมชน
และแม้การดำเนินโครงการดังกล่าว ทำรอบพื้นที่โรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติ ต่างจากโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน แต่เชื่อว่า ความเหมาะสมในการตั้งโรงไฟฟ้า และบทเรียนความผิดพลาดในอดีต จากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ช่วยย้ำเตือนให้กฟผ.และกระทรวงพลังงาน ดำเนินการอย่างระมัดระวัง และรับฟังความเห็นประชาชนในพื้นที่ ควบคู่กับการพร้อมรับการตรวจสอบจากสังคมอย่างเต็มที่เช่นกันพร้อมยืนยัน จะตอบคำถามต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าถ่านหินอีกครั้งในวันนี้ ที่กระทรวงพลังงาน
ขณะที่ นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กระบวนการบำบัดของเสียของโรงไฟฟ้า เทพา และกระบี่ คล้ายกับกระบวนการของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ซึ่งมีเป้าหมาย ไม่มีค่ามลพิษออกสู่ชุมชนเลย
พร้อมระบุว่า แม้ปริมาณการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศขณะนี้จะล้นระบบ แต่ภาคใต้จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ เพื่อสร้างรองรับความต้องการใช้ไฟในพื้นที่ ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน มีความเหมาะสม และยังคงสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน แต่แผนการสร้างที่ล่าช้ากว่ากำหนด ทำให้ กฟผ.ต้องลงทุนสายส่งไปยังจังหวัดภูเก็ต เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่อาจขาดประสิทธิภาพการส่งไฟในพื้นที่ซึ่งมีลักษณะคอขวด และเสี่ยงกับภัยธรรมชาติ