SHARE

คัดลอกแล้ว

เหลือเวลาอีกเพียง 75 วันเท่านั้น ก่อนที่จะถึงการเลือกตั้งจริงในวันที่ 24 ก.พ. 2562 แต่ดูเหมือนว่าจะยังมีคำถามว่าองค์ประกอบหลายอย่างในการเลือกตั้งครั้งนี้ จะทำให้เกิดการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมได้หรือไม่ ทั้งประเด็นเรื่องบัตรเลือกตั้งที่อาจไม่มีทั้งโลโก้และชื่อพรรค ข้อเท็จจริงที่ว่าแต่ละพรรคการเมืองจะไม่ได้เบอร์เดียวกันทั้งประเทศซึ่งยิ่งอาจทำให้ผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งสับสน การที่พรรคการเมืองมีเวลาหาเสียงไม่มากเพียงไม่ถึง 2 เดือน รวมไปถึงการแบ่งเขตเลือกตั้งที่สร้างความฉงนให้กับหลายฝ่าย

ทีมข่าวเวิร์คพอยท์จึงอยากชวนผู้อ่านไปร่วมมองกฎและกติกาที่แวดล้อมการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในรอบเกือบ 8 ปีครั้งนี้อีกครั้ง แล้วดูว่ามีเรื่องอะไรบ้างที่อาจสร้างความงงงวยสับสน ให้กับทั้งประชาชนผู้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง รวมถึงพรรคการเมืองและนักการเมืองที่จะลงสู้ศึกเลือกตั้ง 62 ในครั้งนี้

บัตรเลือกตั้งอาจไม่มีโลโก้และชื่อพรรค

ในการประชุมระหว่างแม่น้ำ 5 สายกับตัวแทนพรรคการเมืองเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เสนอแนวคิดที่จะให้การเลือกตั้งครั้งนี้ใช้บัตรเลือกตั้งที่ไม่มีทั้งโลโก้และชื่อพรรค ต่อมาทางรองเลขาธิการ กกต. ก็ได้ออกมาแบ่งรับแบ่งสู้กับแนวคิดนี้ โดยระบุว่าการใส่โลโก้และชื่อพรรคลงในบัตรเลือกตั้ง อาจทำให้การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรมีปัญหา เนื่องจากบัตรเลือกตั้งต้องพิมพ์ในประเทศไทยและขนส่งไปต่างประเทศ เกรงว่าหากเกิดความผิดพลาดในกระบวนการขนส่ง ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่อยู่นอกราชอาณาจักรบางส่วนอาจไม่สามารถใช้สิทธิ์ได้

อย่างไรก็ตาม แนวคิดเรื่องการไม่พิมพ์โลโก้และชื่อพรรคลงในบัตรเลือกตั้งยังคงเป็นเพียงแนวคิด อีกทั้งทุกภาคส่วนทั้งพรรคการเมืองต่างๆ รวมถึงประชาชนวงกว้าง ดูเหมือนว่าจะไม่มีใครเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ ก็คงต้องรอดูกันต่อไปว่าสุดท้ายแล้ว กกต. ที่อ้างว่าทำงานโดยไม่ถูกฝ่ายใดแทรกแซง จะตัดสินใจเรื่องนี้อย่างไร

 

หนึ่งพรรค มีหลายเบอร์ อาจทำให้หาเสียงยาก

กฎใหม่ข้อหนึ่งที่ถูกระบุไว้ใน พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ฉบับปัจจุบันก็คือ การที่พรรคการเมืองจะไม่ได้ใช้เบอร์เดียวกันในการลงเลือกตั้งทั่วประเทศ โดยเบอร์ของผู้สมัครแต่ละคน จะถูกกำหนดจากลำดับในการยื่นเอกสารเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งในแต่ละเขต ฉะนั้นแล้วในการเลือกตั้งรอบนี้ เราคงไม่ได้เห็นนักการเมืองเบอร์ใหญ่ของแต่ละพรรคชูนิ้วเป็นสัญลักษณ์แทนเบอร์ของพรรคเป็นแน่ เพราะพรรคเดียวกัน ต่างเขตเลือกตั้ง ก็ต่างเบอร์แล้ว

ในแง่หนึ่ง การใช้ระบบหนึ่งพรรคหลายเบอร์นี้ นอกจากจะสร้างความลำบากในการหาเสียงให้พรรคการเมืองต่างๆ แล้ว ยังอาจสร้างความสับสนให้กับผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งทั่วประเทศด้วย โดยเฉพาะในเขตเมืองที่ประชากรหนาแน่น ที่อาจเต็มไปด้วยป้ายหาเสียงของหลากหลายพรรค ผู้ใช้สิทธิ์อาจจะไม่ทราบว่าพรรคที่ตนเองต้องการมอบคะแนนให้ได้เบอร์อะไรในเขตนั้นกันแน่

 

บัตรเลือกตั้งใบเดียว ทำเครื่องหมายกากบาทอันเดียว แต่ถูกนำไปคำนวณเลือก ส.ส. ถึง 2 ประเภท

อีกสิ่งหนึ่งที่การเลือกตั้งครั้งนี้แตกต่างจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆ มาก็คือ ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจะได้บัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว แทนที่จะเป็น 2 ใบแบบการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ โดยบัตรเลือกตั้งที่มีเพียง 1 ใบนี้ ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งสามารถกากบาทเลือกผู้สมัครได้เพียง 1 คน และคะแนนจะถูกนำไปรวมเพื่อเลือก ส.ส. แบบแบ่งเขตของเขตนั้นๆ เพียง 1 คนที่ได้คะแนนโหวตสูงสุด

อย่างไรก็ตาม คะแนนโหวตจาก ส.ส. เขตดังกล่าว จะถูกนำไปคำนวณอีกครั้ง เพื่อคำนวณหาจำนวน “ส.ส. ที่แต่ละพรรคพึงได้” และเมื่อนำไปหักลบกับจำนวน ส.ส. เขตที่แต่ละพรรคได้มาแล้ว ก็จะได้ออกมาเป็นจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคจะได้รับอีกครั้ง

ฉะนั้นแล้ว ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั่วประเทศอาจจะต้องตัดสินใจกันหนักหน่อย ว่าจะกาเลือกผู้สมัครจากพรรคไหน เพราะว่าถ้าเลือกใคร ก็เท่ากับเป็นการเทคะแนนให้ “พรรค” ที่ผู้สมัครคนนั้นสังกัดไปด้วย ผู้ใช้สิทธิ์ทั่วประเทศจะไม่สามารถเลือก “คนที่รัก” และ “พรรคที่ชอบ” แยกกันแบบการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ ได้อีกต่อไป

 

หลังจากวันนี้ (11 ธ.ค.) คสช. ออกคำสั่งปลดล็อคการเมือง ให้พรรคการเมืองสามารถกลับมาทำกิจกรรมทางการเมืองได้ ตั้งแต่การประชุมพรรค การระดมทุน รวมไปถึงการหาเสียง ทำให้ตอนนี้ทุกพรรคการเมืองสามารถเริ่มหาเสียงและแถลงนโยบายได้แล้ว โดยหากนับจากวันนี้ ไปจนถึงวันที่ 23 ก.พ. 2562 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่พรรคการเมืองต่างๆ จะหาเสียงได้ ก็แปลว่าพรรคการเมืองมีเวลาหาเสียงในศึกเลือกตั้งครั้งนี้ทั้งสิ้น 75 วัน

 

การแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่อาจเข้าข่ายการแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างไม่เป็นธรรม (gerrymandering)

อีกประเด็นหนึ่งที่ชวนให้ผู้คนตั้งคำถามถึงความเป็นธรรมในการเลือกตั้งครั้งนี้ก็คือ วิธีการแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าในหลายพื้นที่อาจจะเข้าข่ายการแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างไม่เป็นธรรม (gerrymandering) หรือไม่ เนื่องจากบางพื้นที่ที่ถูกจัดให้อยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน แม้จะมีอาณาเขตติดกัน แต่พื้นที่จริงกลับถูกคั่นตัดตอนด้วยภูเขา รวมถึงในหลายพื้นที่ก็มีการเลือกวิธีการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบที่ไม่ได้ถูกนำเสนอเข้าพิจารณาแต่แรก แต่กลับถูกแบ่งด้วยวิธีใหม่อย่างน่ากังขา อย่างเช่นที่เกิดขึ้นที่ จ.สุโขทัย รวมไปถึงการแบ่งพื้นที่อำเภอเดียวกันออกเป็นมากถึง 4 เขตเลือกตั้ง อย่างที่เกิดขึ้นกับ อ.เมือง นครราชสีมา

 

รัฐบาลหลังการเลือกตั้งอาจบริหารประเทศได้ยาก เพราะต้องทำตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

รัฐบาลที่ได้จากการเลือกตั้งครั้งนี้อาจบริหารประเทศได้ยากกว่ารัฐบาลที่ผ่านๆ มา เนื่องจากติดกรอบต้องบริหารประเทศตาม “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ที่ได้มีการวางกรอบเป้าหมายการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ไว้ โดยทั้งในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และใน พ.ร.บ. ว่าด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 ได้ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า การกำหนดนโยบาย การจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฯ การทำแผนหรือนโยบายระดับชาติใดๆ รวมถึงการจัดทำงบประมาณประจำปี ทั้งหมดจะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ

อีกทั้งข้าราชการที่ไม่ทำตามยุทธศาสตร์ชาติ ก็จะมีความผิด อาจถูกลงโทษปรับ ให้ออกจากตำแหน่ง รวมถึงนักการเมืองที่ไม่ทำตามยุทธศาสตร์ชาติอาจโดนลงโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 10 ปี

 

ส.ว. 250 คน ร่วมเลือกนายกฯ กับ ส.ส. 500 คนด้วย

การเลือกนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ จะแตกต่างจากการเลือกนายกฯ จากการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ เนื่องจากในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆ มา ผู้ที่มีสิทธิ์โหวตเลือกนายกฯ คือ ส.ส. ในสภาเท่านั้น ซึ่งตามหลักการแล้วถือว่าเป็นการยึดโยงกับประชาชนโดยตรง เนื่องจาก ส.ส. ถือเป็นตัวแทนของประชาชนซึ่งได้มาจากการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ส.ว. จำนวนทั้งสิ้น 250 คน จะมาร่วมเลือกนายกฯ กับ ส.ส. จากการเลือกตั้งทั้ง 500 คนด้วย ฉะนั้นแล้วผู้ที่มีสิทธิ์โหวตเลือกนายกฯ จึงมีทั้งสิ้น 750 คน และผู้ที่จะได้เป็นนายกฯ จะต้องได้เสียงสนับสนุนอย่างน้อยกึ่งหนึ่งของสภาร่วม นั่นคือต้องได้เสียงสนับสนุนตั้งแต่ 376 เสียงเป็นต้นไป

 

นายกรัฐมนตรี ไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. ฉะนั้นไม่ต้องลงเลือกตั้งก็ได้

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ไม่ได้กำหนดคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีว่าจะต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้าทั้งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 และฉบับปี 2540 ซึ่งกำหนดไว้ว่านายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากคนที่เป็น ส.ส. เท่านั้น

ฉะนั้นแล้ว ในการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ นายกรัฐมนตรีจึงอาจมาจากคนที่ไม่ได้เป็น ส.ส. รวมถึงไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้ ไม่ว่าจะในฐานะ ส.ส. เขต หรือ ส.ส. บัญชีรายชื่อเลยก็ได้

 

บทความโดย กฤดิกร เผดิมเกื้อกูลพงศ์
ออกแบบภาพโดย ชุติกานต์ ยินดีสุข

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า