รัฐบาลมาซิโดเนียเตรียมทุ่มงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นพิษครั้งใหญ่ หลังพบว่ามีประชาชนเสียชีวิตจากมลพิษเฉลี่ยปีละ 1,300 รายต่อปี
ปัญหาฝุ่นละอองในอากาศนับเป็นปัญหาสากลที่หลายพื้นที่ในโลกต้องเผชิญ ซึ่งมาซิโดเนียนับเป็นอีกประเทศหนึ่งในคาบสมุทรบอลข่าน ที่เผชิญกับวิกฤตฝุ่นอย่างรุนแรงโดยเฉพาะในกรุงสโกเปีย จนทางการได้สั่งหยุดเรียนเมื่อวันที่ 23 ม.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งค่ามลพิษในกรุงสโกเปียนั้นสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานของสหภาพยุโรปหรืออียูถึง 10 เท่า
ด้านนายJani Makraduli รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมของมาซิโดนียกล่าวว่า “มลพิษทางอากาศได้กลายเป็นหนึ่งในปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในมาซิโดเนีย” วิกฤตฝุ่นที่เกิดขึ้นครั้งนี้เกิดจากการรวมกันของการปล่อยมลพิษจากรถยนต์ที่เก่า, การเผาไหม้ถ่านหิน, ควันจากโรงงานอุตสาหกรรม, การจัดสรรพื้นที่ที่ไม่ดีและการให้ความร้อนจากเชื้อเพลิงแข็ง ทั้งนี้รัฐบาลได้ทุ่มงบประมาณครั้งใหญ่ เพื่อต่อสู้กับมลพิษทางอากาศและจัดสรรเงินทุนเพื่อช่วยเหลือประชาชน และหน่วยงานต่างๆ ให้หันมาใช้พลังงานความร้อนที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ ด้านเจ้าหน้าที่ในกรุงสโกเปีย เมืองหลวงของประเทศ ที่กล่าวว่า ควรรณรงค์ให้ประชาชนหันมาใช้บริการรถไฟและรถบัสฟรี รวมถึงเก็บค่าจอดรถเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าเพื่อลดการใช้รถยนต์
ด้านนักสิ่งแวดล้อมมองว่านโยบายดังกล่าวไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหา พร้อมกล่าวว่า นโยบาลจัดการฝุ่นควันของรัฐบาลถือเป็นเรื่องยาก เนื่องจากโรงงานผลิตไฟฟ้าหลักๆ ของประเทศต้องอาศัยถ่านหินลิกไนต์ที่ก่อมลพิษอย่างหนักเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศ อีกทั้งภาครัฐก็ยังไม่มีความชัดเจนในแนวทางการดำเนินงาน
โดยทางธนาคารโลกได้ประมาณการว่า มีชาวมาซิโดเนียเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศเฉลี่ยปีละ 1,350 คน ต่อปี ด้านนายเปตาร์ สเตฟานอฟสกี ที่อาศัยอยู่ในกรุงสโกเปียกล่าวว่า “อาคารใหม่ๆ ที่สร้างขึ้นในเมืองนี้ เปรียบเสมือนกำแพงเมืองจีนที่ปิดกั้นการไหลเวียนของอากาศ”