SHARE

คัดลอกแล้ว

มูลนิธิรามาธิบดี ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เปิดตัวโครงการ “รามาธิบดีเพื่อโรงพยาบาลชุมชน เชื่อมชุมชุนเพื่อคนห่างไกล” สานต่อภารกิจแห่งการให้ ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่ห่างไกลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา

ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิรามาธิบดีฯ กล่าวว่า โรงพยาบาลรามาธิบดีได้มีความร่วมมือกับโรงพยาบาลชุมชนมาอย่างยาวนาน ในฐานะโรงพยาบาลรัฐและโรงเรียนแพทย์ของประเทศที่ได้ส่งนักศึกษาแพทย์ นักศึกษาพยาบาลออกไปทำงาน และเรียนรู้ระบบสาธารณสุขในต่างจังหวัด จึงตระหนักดีว่าโรงพยาบาลชุมชนมีศักยภาพในการขับเคลื่อนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาส อีกทั้งยังเป็นห้องเรียนนอกสถานที่ของนักศึกษาทางการแพทย์ และเป็นที่ทำงานของแพทย์ใช้ทุนหลังเรียนจบ หากมีการสนับสนุนงานของโรงพยาบาลชุมชนในมิติต่าง ๆ ก็จะช่วยทำให้ฟันเฟืองนี้เข้มแข็งขึ้น

ดังนั้นโครงการรามาธิบดีเพื่อโรงพยาบาลชุมชนจึงถือกำเนิดขึ้น เพื่อเป็นการต่อยอดจากความร่วมมือเดิม ด้วยความหวังว่าจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ยากไร้ในพื้นที่ทั่วประเทศ สร้างสุขภาพดี สร้างงาน สร้างอาชีพ และเป็นต้นแบบในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับหน่วยงานอื่น ๆ เข้ามาช่วยเหลือและสนับสนุนโรงพยาบาลชุมชนมากขึ้นในอนาคต เพราะหากชุมชนแข็งแรง ก็จะช่วยสร้างรากฐานระบบสาธารณสุขไทยให้แข็งแรงยิ่งขึ้น

“โรงพยาบาลรามาฯ คิดว่าแพทย์ที่ออกไปทำงานตามโรงพยาบาลชุมชน ควรนำการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นไปสู่ชุมชนด้วย เราเลยส่งเสริมให้บัณฑิตคิดนอกกรอบ รับผิดชอบสังคม และมีคุณสมบัติหลายอย่างที่พร้อมสำหรับการเป็นผู้นำ ไม่ใช่เพียงแพทย์ที่รอรักษาผู้ป่วยเท่านั้น แต่เป็นแพทย์ที่มีส่วนร่วมกับสังคมและนำการเปลี่ยนแปลงที่ดีมาให้ชุมชน”

ด้านนางสาวพรรณสิรี คุณากรไพบูลย์ศิริ ผู้จัดการมูลนิธิรามาธิบดีฯ เผยว่า มูลนิธิเป็นสะพานแห่งการให้ เพื่อเชื่อมโยงเงินบริจาคไปสู่ผู้ป่วยในโรงพยาบาลชุมชน และการสร้างบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้ คุณธรรม และเข้าใจบริบทของสังคม เดิมทีเรามีการช่วยเหลือผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกลผ่านโรงพยาบาลชุมชนอยู่แล้ว แต่โครงการครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจที่ได้ลงพื้นที่ช่วยพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งมากขึ้น ดังปณิธานที่ว่า “คำว่าให้ไม่สิ้นสุด” เงินที่ทุกท่านบริจาคให้โครงการไม่เพียงแต่เป็นการช่วยเหลือเรื่องการรักษาผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังช่วยครอบครัวให้เข็มแข็ง สร้างอาชีพให้ผู้พิการ สร้างความรู้เป็นเกราะป้องกันโรค และที่สำคัญช่วยให้โรงพยาบาลชุมชนมีความคล่องตัวในการดำเนินงานเพื่อเป็นที่พึ่งของชุมชนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

“การที่บุคลากรทางการแพทย์ลงไปพบปะชุมชนหรือการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ทำให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความประทับใจ เพราะเขามองว่าโรงพยาบาลชุมชนคือศูนย์กลางของการได้แบ่งปัน ในขณะที่บุคลากรทางแพทย์เป็นเหมือนฮีโร่ช่วยชีวิต การที่มีโครงการนี้ขึ้นมา จึงถือเป็นการผลักดันให้โรงพยาบาลทำหน้าที่ได้ดียิ่งขึ้น”

ขณะที่ นพ.อภิสิทธิ์ ธำรงวรางกูร อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น หนึ่งในโรงพยาบาลต้นแบบการส่งเสริมระบบดูแลสุขภาพ กล่าวว่า โครงการนี้จะช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ห่างไกล เปลี่ยน “ภาระ” ให้เป็น “พลัง” ทั้งในเรื่องสุขภาพและการใช้ชีวิตที่สามารถดูแลตัวเองได้ ผ่านระบบบริการของโรงพยาบาลและระบบสุขภาพชุมชน ซึ่งการทำสุขภาพให้แข็งแรงก็เหมือนการสร้างบ้านให้แข็งแรงไม่ต้องมาตามซ่อมทีหลัง เพราะการซ่อมสุขภาพเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ จากงานวิจัยของโรงพยาบาลอุบลรัตน์พบว่า การเจ็บป่วยของประชาชน ร้อยละ 75 สามารถดูแลรักษาตัวเองที่บ้านและชุมชนได้ หากเราไปสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัวและชุมชนในการดูแลรักษาพยาบาลที่บ้านและชุมชน จะทำให้โรงพยาบาลมีงานลดลง ทีมงานของโรงพยาบาลมีเวลาไปสร้างสุขภาพ ป้องกันโรค และสนับสนุนการแก้ปัญหาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต ทำให้ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง พึ่งตนเองได้ในระยะยาว และมีสุขภาพดีขึ้นทั้งทางกาย ทางใจ ไม่ต้องซ่อมสุขภาพเสียจนคนไข้ล้นโรงพยาบาลดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

นพ.ภักดี สืบนุการณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย จ.เลย หนึ่งในโรงพยาบาลต้นแบบการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพผู้พิการ กล่าวว่า โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย เป็นที่พึ่งสำคัญของประชาชนในเขตชายแดน เนื่องจากอยู่ห่างตัวเมืองนับร้อยกิโลเมตร การได้เข้าร่วมโครงการนี้ ทำให้ได้รับการช่วยเหลือในการก่อสร้างห้องผ่าตัดเพิ่มเติมจากทีมช่างมืออาชีพ และได้รับครุภัณฑ์สำหรับการใช้ชีวิตที่สะดวกขึ้น โดยเฉพาะกับผู้พิการ แต่นอกเหนือจากนั้น เรามีแนวคิดว่าผู้พิการควรได้รับมากกว่าสิ่งของ นั่นคือการดูแลและส่งเสริมความสามารถอย่างรอบด้าน เพื่อให้มีความรู้ความสามารถเป็นที่ยอมรับ มีอาชีพที่เป็นประโยชน์ สร้างรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ เพราะผู้พิการก็คือคนปกติ แต่สิ่งที่พวกเขาต้องการมากที่สุดคือโอกาสในการกลับสู่สังคมอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสามารถดำรงชีวิตประจำวันใกล้เคียงบุคคลปกติให้ได้มากที่สุด

นพ.วิชัย อัศวภาคย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลน้ำพอง จ.ขอนแก่น หนึ่งในโรงพยาบาลต้นแบบที่ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ กล่าวว่า หัวใจสำคัญในการพัฒนาโรงพยาบาลชุมชนคือคนทำงานที่มีคุณภาพ รักการบริการชาวบ้าน และเข้าใจบริบทของชุมชน ก็จะสร้างสิ่งดี ๆ ได้อีกมากมาย โรงพยาบาลน้ำพองจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังคน โดยใช้โครงสร้างของพยาบาลชุมชน เพื่อชุมชน ของชุมชน โดยชุมชน ด้วยการจัดหาทุนส่งเสริมเพื่อเพิ่มกำลังสำคัญในการให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง เช่น การส่งเสริมศักยภาพนักกายภาพบำบัด รวมถึงขยายหน่วยการรักษาที่สำคัญออกสู่พื้นที่ชุมชนมากขึ้น เช่น ศูนย์ตรวจผ่าตัดต้อกระจก ศูนย์ฟอกไต ควบคู่ไปกับงานเสริมสร้างสุขภาพและป้องกันโรคด้วยนักบริบาลชุมชน เพราะหากได้คนดีมีคุณภาพในปริมาณที่มากพอเข้ามาทำงาน จะช่วยสนับสนุนระบบสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ประชาชนมีสุขภาวะที่ดีทั้งกาย ใจ สังคม และปัญญา

ท้ายนี้  นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก หนึ่งในโรงพยาบาลต้นแบบด้านการส่งเสริมสุขภาพประชาชนในพื้นที่ชายแดน กล่าวว่า โรงพยาบาลอุ้มผางคือที่พึ่งของชาวบ้านยามเจ็บป่วยราว 73,000 กว่าชีวิตในแต่ละปี แต่ขณะเดียวกันมากกว่าครึ่งของประชาชนเหล่านั้นมีสถานะเป็นบุคคลไร้สัญชาติ ไร้ซึ่งหลักประกันสุขภาพ เราจึงทำงานเชิงรุกร่วมกับโครงการฯ เพื่อผลักดัน พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ครอบคลุมบุคคลไร้สัญชาติในประเทศไทย เพื่อให้ชาวบ้านเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพพร้อมแก้ไขปัญหาโรคติดต่อในพื้นที่เพื่อลดการแพร่กระจายเข้าสู่พื้นที่ในเขตเมือง รวมถึงยังส่งเสริมการดูแลปัญหาเชิงพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม

อนึ่งโครงการรามาธิบดีเพื่อโรงพยาบาลชุมชน ก่อตั้งโดยคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมกับ 4 โรงพยาบาลชุมชน ได้แก่ โรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย จ.เลย โรงพยาบาลน้ำพอง และโรงพยาบาลอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสที่อยู่ห่างไกล ผ่านการสนับสนุนโรงพยาบาลชุมชนในด้านทุนทรัพย์สำหรับการปรับปรุงอาคารสถานที่ จัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ งบวิจัยสำหรับส่งเสริมการเรียนการสอนและการป้องกันสุขภาพ เช่น การรับมือการแพร่ระบาดของโควิด – 19 รวมถึงงบประมาณสำหรับการผลิตนักบริบาลชุมชนให้แก่ 23 โรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือชุมชนได้ทั้งในด้านสุขภาพและการดำรงชีวิต

ผู้สนใจสามารถร่วมส่งต่อการให้ที่ยิ่งใหญ่นี้ได้ที่บัญชี มูลนิธิรามาธิบดี โครงการรามาธิบดีเพื่อโรงพยาบาลชุมชน ธนาคารกสิกรไทย เลขที่ 879-2-00448-3, ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่ 026-3-05216-3, ธนาคารกรุงเทพ เลขที่ 090-3-50015-5 หรือบริจาคออนไลน์ที่ www.ramafoundation.or.th และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร 02-201-1111

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า