ทำความรู้จัก “ผู้ตรวจการเลือกตั้ง” ผู้มีบทบาทสำคัญในการเลือกตั้ง เสมือนหูตาของกกต.ชุดใหญ่ การที่ กกต.ชุดปัจจุบัน ซึ่งกำลังจะพ้นวาระเป็นผู้แต่งตั้ง ไม่ใช่ กกต.ชุดใหม่ ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวส่อโละผู้ตรวจการเลือกตั้งที่ตั้งไว้แล้ว
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ให้มี “ผู้ตรวจการเลือกตั้ง” แทน คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดปัจจุบันที่มีนายศุภชัย สมเจริญ เป็นประธานกกต. ได้คัดเลือก, แต่งตั้งและประกาศรายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้ง 77 จังหวัด จังหวัดละ 8 คนแล้ว รวม 616 คน

(ผู้ตรวจการเลือกตั้ง มีหน้าที่เข้าไปตรวจสอบการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในหน่วยเลือกตั้ง และสถานที่นับคะแนน / ภาพประกอบ)
ความหมาย “ผู้ตรวจการเลือกตั้ง” คือผู้ที่มีอำนาจ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา สามารถเข้าพื้นที่เลือกตั้ง หรือสถานที่นับคะแนนเลือกตั้ง เพื่อตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง และมีอำนาจแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติงานอย่างถูกต้อง หากเจ้าหน้าที่ไม่แก้ไขตามการแจ้งเตือน ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ต้องรายงาน กกต. นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่ตรวจสอบการทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ทั้งการดำเนินการของพรรคการเมือง และการทุจริตเลือกตั้งด้วย
กรณีที่มีการขัดขวางการทำหน้าที่ของผู้ตรวจการเลือกตั้ง ผู้ขัดขวาง มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ที่ขัดขวางโดยใช้กำลัง หรือขู่เข็ญ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถือได้ว่า ผู้ตรวจการเลือกตั้ง มีบทบาทสำคัญต่อการเลือกตั้ง เพราะต้องทำหน้าที่แทน กกต.ทั้ง 7 คน และต้องอยู่ในฐานะที่ “เป็นกลางทางการเมือง”

(ภาพประกอบ)
แต่ล่าสุด มีความเคลื่อนไหวของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวน 36 คน ร่วมลงชื่อจะเสนอแก้ไข ร่างพ.ร.ป.กกต. เพื่อที่จะคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งใหม่ อาทิ นายมหรรณพ เดชวิทักษ์, นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ และนายสมชาย แสวงการ
โดย นายสมชาย มองว่า การเลือกตั้งตามโรดแมปของรัฐบาลจะมีในช่วงต้นปี 2562 ยังเหลือเวลาอีกนาน การรีบเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งไว้อาจทำให้นักการเมืองเข้าไปติดต่อได้ ขณะที่ นายมหรรณพ ห่วงว่า จะเกิดความไม่เป็นเอกภาพในการทำงาน เพราะ กกต.ชุดเก่าเป็นผู้คัดเลือก แต่ กกต.ชุดใหม่เป็นผู้เข้ามาปฏิบัติงาน
อีกด้าน กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กล่าวว่า ไม่มีข้อกำหนดว่า ต้องแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งเมื่อใด แต่ต้องให้มีก่อน พระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งตามกฎหมายแล้ว กกต.ชุดปัจจุบันไม่ผิด แต่จะเหมาะสมหรือไม่เป็นอีกเรื่อง
ขณะที่ นายจรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการกกต. กล่าวยืนยันว่า กกต.จำเป็นต้องคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งตามที่กฎหมายเขียนไว้ ไม่เช่นนั้นจะถือว่า กกต.ชุดปัจจุบันละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ทั้งหมด 616 คนนั้น มีบุคคลที่มียศทหาร-ตำรวจอยู่ด้วย ยกตัวอย่าง เฉพาะ ผู้ตรวจการเลือกตั้งในกรุงเทพฯ มีในจำนวน 8 คน มีทหาร ตำรวจ 5 คน
ตรวจสอบรายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้ง 616 คน
ขอบคุณภาพ กกต.