SHARE

คัดลอกแล้ว

ตลอด 70 ปี แห่งการครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงนำการเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ความเจริญในหลายมิติ

“แม้จะเป็นเรื่องเล็ก แต่ยิ่งใหญ่ ทรงทุ่มเทพระวรกาย ทรงใช้ความรู้ความสามารถของพระองค์ ช่วยให้พสกนิกรไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น”

 “กรุงเทพมหานคร” มีประชากรมากที่สุดของประเทศไทย เป็นศูนย์กลางความเจริญของประเทศ ที่มองไปทางไหน สภาพถนนเต็มไปด้วยรถแน่นขนัด ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้คนทุกระดับจากความสัมพันธ์ของถนนและปริมาณรถ ที่ไม่สอดคล้องตามมาตรฐานสากล

พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยกับทีมข่าวเวิร์คพอยท์ว่า ปัญหาการจราจรติดขัดในปัจจุบันนั้น มาจาก  2 ปัจจัยหลักคือ 1.)  ปริมาณการจราจรเกินความจุของถนน ที่เกิดจากการขยายตัวของชุมชน, ปริมาณรถเป็นจำนวนมาก, โครงข่ายถนนที่ไม่เพียงพอ , พื้นที่ถนนมีเพียง 4% ของพื้นที่ (กรุงเทพมหานครมีพื้นที่ทั้งหมด 1,568 ตาราง-กิโลเมตร เป็นพื้นที่ถนน 60 ตารางกิโลเมตร) ซึ่งตามมาตรฐานสากลควรมีพื้นที่ถนนประมาณ 20-25 % ของพื้นที่เมือง  อีกทั้งพบว่าย่านศูนย์กลางเมืองมีปัญหาด้านการจราจรที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยความเร็วเฉลี่ยในการเดินทางในศูนย์กลางธุรกิจ เช่น ย่านสีลม สาทร ในชั่วโมงเร่งด่วนอยู่ที่ 10 กม./ชม.

และ 2.) ถนนขาดการเชื่อมต่ออย่างมีประสิทธิภาพ เช่น มีจุดตัดทางร่วมทางแยกและจุดกลับรถจำนวนมาก, มีจุดตัดระหว่างถนนวงแหวนและถนนสายหลักประมาณ 200 จุด

สภาพปัญหาจราจรติดขัดมากมายในกรุงเทพฯและปริมณฑล ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยอมรับว่า หากไม่มีโครงการพระราชดำริจำนวนมากในการแก้ไขปัญหาจราจรในเมืองกรุง จากสายพระเนตรอันยาวไกลของในหลวงรัชกาลที่ 9 ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน ทำให้การสัญจรของกรุงเทพฯดีขึ้นอย่างมากมาย พร้อมกล่าวอีกว่า หากมาสร้างในปัจจุบัน ค่าใช้จ่ายก็จะสูงขึ้น และมีปัญหาเรื่องการเวนคืนที่ดินอีกมากมาย

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระอัจฉริยภาพทั้งในเชิงศาสตร์และศิลป์สาขาต่างๆเป็นที่ประจักษ์ในระดับสากล ไม่ว่าจะเป็นพระอัจฉริยภาพด้านการดนตรี หรือวิศวกรรมชลประทาน  ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากการบริหารจัดการน้ำในยามบ้านเมืองมีวิกฤติน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการคิดค้นนวัตกรรม “กังหันน้ำชัยพัฒนา” เพื่อการบำบัดน้ำเสีย ที่เป็นที่ยอมรับและ มีชื่อเสียงระดับโลก

วิศวกรรมจราจร  นับเป็นศาสตร์อีกแขนงหนึ่งที่พระองค์ท่านทรงมีพระปรีชาสามารถเป็นที่ประจักษ์อย่างยิ่ง โดยได้ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรของกรุงเทพมหานครอย่างเป็นรูปธรรม และเกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อพสกนิกร  จากแนวทาง 1) พัฒนาโครงข่ายถนน โดยก่อสร้างถนนใหม่ทั้งถนนสายหลักและถนนสายรองเพื่อเพิ่มทางเลือกในการเดินทาง 2) ปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพของโครงข่ายถนนที่มีอยู่เดิม ให้สามารถรองรับปริมาณจราจร (Road Capacity) ได้มากขึ้น ซึ่งทุกโครงการล้วนมีความสำคัญหมด โครงการที่เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป  เช่น

ถนนรัชดาภิเษก เป็นถนนที่สร้างขึ้นตามกระแสพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่พระราชทานเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพฯ-ธนบุรีเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2514 โดยมีพระราชประสงค์ให้สร้างถนนเพิ่มขึ้นเป็นถนนวงแหวน เพื่อพระราชทานเป็นของขวัญแก่ประชาชนแทนการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์

“….ขอเถิดอนุสาวรีย์อย่าเพิ่งสร้าง สร้างถนนดีกว่า สร้างถนนเรียกว่าวงแหวนเพราะมันเป็นความฝัน เป็นความฝันมาตั้งนานแล้ว เกือบ 40 ปี อยากสร้างถนนวงแหวน…”  ความตอนหนึ่งในพระราชดำรัส พระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าถวายชัยมงคลในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระราชวังดุสิต วันเสาร์ที่ 5 ธันวาคม 2536

“ถนนรัชดาภิเษก จึงเป็นถนนวงแหวนสายแรก ความฝันที่เป็นจริง” โดยพระองค์ ร.9 ก่อนที่ กทม.จะมีปัญหาจราจรเมื่อเช่นวันนี้ ทรงมีสายพระเนตรอันยาวไกลว่า เมื่อเมืองขยายตัว การจราจรจะติดขัด และเมื่อรัฐบาลสมัยนั้นใครจัดสร้างอนุสาวรีย์น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายในโอกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 25 ปี มีพระราชประสงค์ให้สร้างถนนวงแหวนขึ้นแทน ในที่สุดถนนวงแหวนสายแรกมีความยาว 45 กิโลเมตร

ประกอบด้วย 5 ถนนสายหลัก ได้แก่ (1) ถ.รัชดาภิเษก (2) ถ.อโศก-ดินแดง (3) ถ.อโศกมนตรี (4) ถ.จรัญสนิทวงศ์ และ (5) ถ.วงศ์สว่าง ใช้ประกอบกับถนนรัศมีที่เชื่อมระหว่างพื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นในกับเขตรอบนอก ช่วยบรรเทาปริมาณรถที่สัญจรจากชานเมืองด้านหนึ่งไปยังชานเมืองอีกด้านหนึ่ง ให้ไม่ต้องวิ่งผ่านกลางเมืองที่มีรถหนาแน่น ช่วยสร้างระบบให้รถสามารถไหลเวียนได้ทุกทิศทาง และย่นระยะเวลาในการเดินทางและลดปริมาณรถยนต์ที่เข้ามาในเขตเมืองโดยไม่จำเป็นประกอบด้วยถนนเดิมที่มีอยู่หลายสาย และถนนที่สร้างขึ้นใหม่ก็กลายเป็นเส้นทางที่สามารถเดินรถเป็นวงรอบกรุงเทพฯโดยสมบูรณ์ในเดือนสิงหาคม 2536 รวมระยะเวลาสร้าง 23 ปี และพระราชทานนามถนนสายนี้ว่า “ถนนรัชดาภิเษก” เพื่อเป็นของขวัญแก่ประชาชน

ถนนรัชดาภิเษก

“ด้วยเดชะพระบารมีของพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านได้วางอนาคตเอาไว้ ในช่วงนั้นประชากรของประเทศไทย ยังไม่ถึง 30 ล้านคนที่ท่านทรงดำริ ด้วยพระอัจฉริยะภาพของพระองค์ท่าน ท่านได้เล็งเห็น ตอนนั้นท่านได้ทำโครงการต่างๆ ทั้งถนน ทำแก้มลิง การระบายน้ำต่างๆ จนกระทั่งสมเด็จย่า ท่านประชวรเมื่อประมาณปี พ.ศ.2530 เศษ ได้พักรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช พ่อหลวงของเราพระองค์ท่านได้เสด็จฯ ไปเยี่ยมพระบรมราชชนนีตลอด จึงเห็นการติดขัดของจราจร เช่นคนจากนครปฐม นครชัยศรี หรือฝั่งธนฯ ตอนเช้าเย็นก็กลับ ข้ามมาทำงาน ตรงสะพานพระปิ่นเกล้ารถมันก็ติดมาก จะเดินทางไปนครปฐมราชบุรี สุพรรณฯ กาญจนบุรีก็ต้องไปเส้นนี้ พระองค์ท่านได้เล็งเห็นตรงนี้จึงได้มีการดำริสร้างทางคู่ขนานลอยฟ้า ถนนบรมราชชนนี เมื่อปี พ.ศ. 2530 ปลายๆ เกือบ พ.ศ.2540

แต่ขณะเมื่อประทับรถไป รพ.ศิริราช พระองค์ทรงเห็นว่าทางขวายังโล่งอยู่ พระองค์ท่านจึงมีพระราชดำริให้สร้างสะพานพระราม 8 ขึ้น เพื่อจะช่วยแบ่งเบา ปกติแถวนี้ก็จะมีสะพานพุทธฯ สะพานพระปิ่นเกล้า และสะพานกรุงเทพ พ.ศ.2541 จึงเกิดสะพานพระราม 8 ขึ้น เป็นสะพานขึงแห่งแรก ตรงนี้ก็เป็นจุดที่แก้ปัญหาจราจรแห่งแรกของกรุงเทพและฝั่งธนฯ” พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว

โครงการทางคู่ขนานลอยฟ้า ถนนบรมราชชนนี เป็นหนึ่งในโครงการพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับการจราจรบริเวณถนนบรมราชชนนีจากสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าถึงทางแยกถนนสิรินธร สร้างเมื่อปี 2539 แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2541 งบประมาณ 1,250 ล้านบาท

แม้ว่าโครงการพระราชดำริทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนี ทำให้การจราจรคล่องตัว แต่กลับเกิดปัญหา “คอขวด” บริเวณสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งใหม่ ให้เชื่อมต่อจากทางคู่ขนานลอยฟ้า ถนนบรมราชชนนีบริเวณแยกอรุณอัมรินทร์ผ่านถนนอรุณอัมรินทร์ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่ฝั่งพระนคร โดยไม่ต้องฝ่าการจราจรบนถนนราชดำเนิน และไม่ไปเพิ่มความแออัดในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ และโครงข่ายถนนใกล้ และได้พระราชทานนามว่า “สะพานพระราม 8”

“ตั้งแต่เกิดมาจำความได้ ก็เห็นรูปของพระองค์ท่านติดที่ฝาบ้าน ผมเป็นคนบ้านนอก ปู่ย่าตายายก็ติดไว้ แม่ก็บอกว่านี่ในหลวง คนบ้านนอกก็จะเรียกพระองค์ท่านว่าในหลวง พอเช้าจะไปไหนมาก็กราบ เย็นกลับมาก็กราบตอนแรกเราก็ไม่รู้ว่าคือใคร เค้าก็บอกว่าในหลวงคือคนปกครองประเทศ พวกเราอยู่ได้เพราะพระองค์ท่าน เราก็จดจำมาตั้งแต่เด็ก จนกระทั่งเรียนหนังสือ โตมารับราชการ

ผมได้รับใช้พระองค์ท่าน ผมได้เป็นราชองครักษ์ ตั้งแต่ปี 2539 ได้สนองงานใกล้ชิดพระองค์ท่านตอนที่เป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ใกล้ชิดพระองค์ท่านพอสมควร ตอนเป็นราชองครักษ์ตอนเป็นรองผู้บัญชาการกองปราบ ก็เข้าเวรที่วังสวนจิตร เวลาที่พระองค์ท่านเสด็จฯไปไหน ถ้าเป็นเส้นทางที่เรารับผิดชอบเราก็จะไปถวายความปลอดภัย และตอนพระองค์ท่านประชวร ที่รพ. ก็ได้สนองงานใกล้ชิด” พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว

พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ  ได้พระราชทานโครงการพระราชดำริ เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรของ กทม. ไว้ จำนวน “16 ถนน 1 สะพาน”

  • 16 ถนน  หมายถึงเส้นทางสำหรับรถวิ่ง  ได้แก่
  1. ทางแยกต่างระดับบน ถ.รัชดาภิเษก – ถ.วิภาวดีรังสิต
  2. ทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนี
  3. สะพานพระรามที่ 8
  4. สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า
  5. ถนนจตุรทิศ
  6. ถนนเชื่อมถนนพระราม 9 – เทียมร่วมมิตร
  7. ขยายสะพานผ่านฟ้าลีลาศ
  8. สะพานคู่ขนานสะพานมัฆวานรังสรรค์
  9. ขยายสะพานอรุณอมรินทร์พร้อมทางขึ้น-ลง และทางยกระดับข้ามแยกศิริราช
  10. ถนนเลียบทางรถไฟสายธนบุรี
  11. ถนนเชื่อมต่อถนนพระราม 9 – ประชาอุทิศ – รามคำแหง
  12. ถนนคู่ขนานถนนพระราม 9 จากทางแยกเข้าวัดอุทัยธาราม ถึงบริเวณก่อนถึงทางด่วนขั้นที่ 2
  13. ปรับปรุงถนนราชดำเนิน
  14. ถนนบริเวณริมคลองบางกอกน้อย
  15. ขยายผิวจราจรถนนสุทธาวาส และสะพานข้ามถนนจรัญสนิทวงศ์
  16. เชื่อมสะพานพระราม 8 กับถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4
  • 1 สะพาน  หมายถึงสะพานทางเดินเท้า ได้แก่ สะพานคนเดิมข้ามถนนรัชดาภิเษกบริเวณหน้าศาลอาญา

พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

“ผมว่าพระองค์ท่าน นอกจากเป็นเป็นหัวจิตหัวใจของคนไทยทั้งประเทศ ผมว่าพระองค์ท่านเป็นเทพด้วยน่ะ มันเกินกว่าที่เราจะบอกว่ารักพระองค์ท่านในฐานะกษัตริย์ ท่านเป็นเทพของคนทั้งประเทศ ท่านเป็นเทพของพวกเรา”  พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว

“16 ถนน กับ 1 สะพาน” เป็นเพียงส่วนหนึ่งในโครงการพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่คลายทุกข์คนกรุงเทพฯ กับวิกฤติจราจรให้เบาบางลง สมดังพระราชสมัญญา “ครูวิศวกรรมจราจรของแผ่นดิน” นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้น ที่จะจารจารึกตราบนานเท่านาน…

 

https://youtu.be/Q3eSaSuwqLA

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า