ประเด็นคือ – เจ้าของร้านอาหาร ที่ จ.เชียงใหม่ เครียดหนัก ถูกเรียกเก็บค่าไฟฟ้าย้อนหลังเป็นเงิน 338,000 บาท เจ้าหน้าที่อ้างจดเลขมิเตอร์ผิดนานกว่า 4 ปี ร้องไฟฟ้าชี้แจง
วันที่ 20 ตุลาคม 2560 นางสุดา ทาปัญญา อายุ 45 ปี ชาวบ้านบ้านโค้งงาม ต.หางดง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ นำเอกสารหลักฐานบิลค่าไฟฟ้ามาร้องเรียนกับสื่อมวลชน หลังถูกทางการไฟฟ้าเรียกเก็บค่าไฟฟ้าย้อนหลัง 4 ปี รวมเป็นเงิน 338,000 บาท โดยบอกว่า ตนได้เช่าพื้นที่เปิดร้านอาหาร เมื่อเดือนมีนาคม 2555 ซึ่งช่วงแรกได้จ่ายค่าไฟฟ้าแต่ละเดือนต่ำสุดจะอยู่ที่ 2,000 บาท หากเป็นช่วงฤดูร้อนจะเสียค่าไฟฟ้าประมาณ 7,000 บาท
ต่อมาเดือนสิงหาคมปี 2559 ได้ย้ายร้านออกจากพื้นที่เดิมกลับไปเปิดร้านที่บ้าน แต่ปรากฏว่ามีหนังสือจากการไฟฟ้าเรียกเก็บค่าไฟฟ้า ระบุเก็บค่าไฟฟ้า ย้อนหลังเพิ่ม เป็นระยะเวลา 4 ปี รวมเป็น 338,000 บาท ซึ่งเจ้าหน้าที่ระบุว่ามีการจดเลขมิเตอร์คลาดเคลื่อน จากยอดรวมที่เรียกเก็บตามปกติยอดรวมที่ 85,774 บาท
จากการตรวจสอบหนังสือและตารางเรียกเก็บที่การไฟฟ้าส่งมาให้ พบความผิดปกติของการจดมิเตอร์หลายจุด เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2555 พบว่าหน่วยเลขมิเตอร์ไฟฟ้าอยู่ที่ 9490 พอเดือนต่อมาเลขมิเตอร์กลับมาอยู่ที่เลข 1106 หลังจากนั้นมาทำให้การคำนวณค่าไฟฟ้าคาดเคลื่อนจนถึงเดือนสิงหาคม 2559 ทั้งหมดรวมเป็นระยะเวลา 47 เดือน หรือ เกือบ 4 ปี
เมื่อมีการเรียกเก็บค่าไฟเพิ่มพบว่ามีการเติมเลขศูนย์หลังเลขมิเตอร์ ทำให้การการคำนวณค่าไฟฟ้าแพงเกินความเป็นจริง บางเดือนค่าฟ้าแพงขึ้นกว่า 10,000 บาท ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริง หากนับจากจำนวนเงิน 338,000 บาท เมื่อนำมาหารด้วยจำนวน 47 เดือน ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บย้อนหลังคิดเป็นเดือนละกว่า 7,000 บาท ตนจึงอยากขอความช่วยเหลือจากผู้ที่มีความรู้ ช่วยเหลือในการตรวจสอบการคำนวณค่าไฟฟ้าจากหน่วยงานดังกล่าวเนื่องจากมีการส่งหนังสือแจ้งและตารางการปรับปรุงค่ากระแสไฟฟ้ามาให้ 3 ครั้ง แต่ละครั้งตัวเลขไม่เหมือนกัน
นอกจากนี้ตนลองนำเครื่องคิดเลขมาลองคำนวณตัวเลขในเอกสาร พบว่ามีการคาดเคลื่อนหลายจุด จึงอยากจะทราบว่าหน่วยงานดังกล่าวใช้หลักอะไรในการคำนวณตัวเลขมิเตอร์ย้อนหลังแต่ล่ะเดือน เนื่องจากว่ามีความผิดปกติของเลขมิเตอร์ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2555 และความผิดพลาดดังกล่าวเกิดจากเจ้าหน้าที่ ของหน่วยงานดังกล่าวเป็นระยะเวลานานเกือบ 4 ปี ทำไมไม่มีการตรวจสอบตั้งแต่พบความผิดปกติในช่วงแรก แต่หน่วยงานดังกล่าวกลับผลักภาระให้กับชาวบ้านเป็นผู้รับผิดชอบ