“นายจ้างชอบบอกว่าถ้าอยากนั่ง อยากเข้าห้องน้ำ ก็ควรอยู่บ้าน ไม่ต้องออกมาทำงาน เราคิดว่ามันไม่ใช่ จึงเริ่มเรียกร้องสิทธิ์ที่เราควรได้”
Onam เป็นลูกจ้างขายของหน้าร้านที่ร้านขายผ้าส่าหรีแห่งหนึ่งในรัฐเกรละ ทางใต้ของอินเดีย ทุกวันเธอและลูกจ้างหญิงคนอื่น ๆ นั่งไม่ได้เลยตลอดช่วงเวลาทำงานที่ยาวนานวันละ 12-14 ชม. แม้แต่จะยืนพิงกำแพงก็ไม่ได้ “เจ้าของร้านคอยสอดส่องพวกเราจากกล้องวงจรปิด” ถ้าถูกจับได้ จะถูกตัดค่าจ้าง 100 รูปี (ประมาณ 46 บาท)
ร้านค้าปลีกส่วนใหญ่ห้ามลูกจ้างผู้หญิงนั่งระหว่างชั่วโมงทำงาน ห้ามแม้กระทั่งพิงกำแพงเพื่อพักขา ให้เวลาพักเที่ยง 30 นาที จำกัดการเข้าห้องน้ำ รวมถึงจำกัดการพูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน ถ้าไม่ปฏิบัติตามนี้ จะลงโทษด้วยการตัดเงินเดือน
Beena วัย 40 ปี เป็นลูกจ้างหญิงอีกคนที่มีปัญหาเรื่องการเข้าห้องน้ำ “เราไม่มีห้องน้ำในร้าน มีแต่ห้องน้ำรวมที่คนทั้งตึกใช้ร่วมกัน แล้วก็ไม่ได้แยกชาย-หญิง ฉันไม่อยากเข้าห้องน้ำแบบนี้ ก็เลยพยายามไม่ดื่มน้ำ”
“ลูกจ้างผู้หญิงหลายคนมีปัญหาสุขภาพทั้งเส้นเลือดขอดเพราะยืนนาน ทั้งเรื่องไตเรื่องทางเดินปัสสาวะเพราะไม่ได้เข้าห้องน้ำ” Viji Penkoot แกนนำสหภาพแรงงานเพื่อผู้หญิง Amtu ต่อสู้เรียกร้อง “สิทธิ์” ของลูกจ้างผู้หญิงมาตั้งแต่ปี 2553 “นายจ้างชอบบอกว่าถ้าอยากนั่ง อยากเข้าห้องน้ำ ก็ควรอยู่บ้าน ไม่ต้องออกมาทำงาน เราคิดว่ามันไม่ใช่ จึงเริ่มเรียกร้องสิทธิ์ที่เราควรได้”
หลังต่อสู้มา 8 ปีในที่สุดพวกเธอก็กำลังจะได้สิทธิ์นั้น เมื่อทางการรัฐเกรละประกาศเมื่อเดือนกรกฎาคมว่าจะแก้ไขกฎหมายแรงงาน โดยกำหนดเงินเดือนขั้นต่ำให้อยู่ที่เดือนละ 10,000 รูปี กำหนดชั่วโมงทำงานที่วันละ 8 ชม. กำหนดให้นายจ้างต้องจัดหาเก้าอี้หรือม้านั่งให้ลูกจ้างได้นั่งพัก รวมถึงต้องให้ลูกจ้างได้พักเที่ยงและพักเบรก แต่ทางการยังไม่ได้ตัดสินใจว่าเวลาพักควรเป็นกี่นาที
ที่มา The righ to sit: Indian law change allows female workers to rest How women workers in Kerala stood up for their right to sit