วงเสวนาบทบาทสื่อและการรับมือสงครามด้านข้อมูลข่าวสารช่วงการเลือกตั้ง “ตัวแทน กกต.” ยอมรับ ตามจับยาก เตรียมเปิดพื้นที่สีขาว ให้พรรคการเมืองเผยแพร่นโยบาย-ประวัติที่ถูกต้อง สร้างภูมิต้านทานให้กับประชาชน “ผู้ประสานงานเครือข่ายเอเชียเสรีเพื่อการเลือกตั้ง” เตือนสื่ออย่าทำให้เกิดความขัดแย้งหลังเลือกตั้ง
วันที่ 18 ธ.ค. สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ จัดเวทีเสวนา Media Forum ครั้งที่ 6 : บทบาทสื่อและการรับมือสงครามด้านข้อมูลข่าวสารช่วงการเลือกตั้ง ที่ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล โดยผู้เข้าร่วมเสวนา ต่างแสดงความกังวลกับการเลือกตั้งในครั้งนี้ ที่เป็นช่วงสื่อออนไลน์-โซเชียลมีเดียกำลังมาแรง โดยเฉพาะการสร้างเฟค นิวส์ (Fake News) ที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งของต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา, ฟิลิปปินส์
ร.ต.อ.ชนินทร์ น้อยเล็ก ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและคดี สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 19 ธ.ค. กกต. จะมีการประชุมขอความเห็นจากสื่อ พรรคการเมือง และกระทรวงไอซีที เพื่อร่างระเบียบปฏิบัติให้เป็นที่ยอมรับได้มากที่สุด สำหรับการป้องกันข่าวเฟค นิวส์ กกต. มองว่า ต้องสร้างภูมิต้านทานให้กับประชาชน แต่ปัญหาคือเพจที่ให้ข้อเท็จจริงไม่สนุก เท่ากับ เน็ต อินฟูริเซอร์ ( Net influencer ) ที่ลงข้อมูลข่าวสารที่ไม่ได้เน้นความน่าเชื่อถือ ซึ่งคนไทยชอบเสพย์สื่อแบบนี้มากกว่า สุดท้ายภูมิคุ้มกันลดลงจนหันหน้ามาตีกันเอง
กกต.จะให้พื้นที่สีขาวให้พรรคการเมือง นำนโยบาย ประวัติ คุณงามความดีมาลงไว้โดย กกต.จะประชาสัมพันธ์ได้ประชาชนได้รับรู้ แต่ส่วนอื่นแน่นอนว่า ผิดกฎหมายหาเสียง และมีความผิดเกี่ยวกับ พรบ.คอมพิวเตอร์ แต่การจะดำเนินการจับกุมได้ระดับหนึ่ง พร้อมกับประสานขอความร่วมมือกับ เฟซบุ๊กและไลน์ ที่ตอบรับจะให้ความร่วมมือในการเลือกตั้งของไทยครั้งนี้
น.ส.สมศรี หาญอนันทสุข ผู้ประสานงานเครือข่ายเอเชียเสรีเพื่อการเลือกตั้ง กล่าวว่า ช่วงการเลือกตั้ง จะมีการขุดข้อมูลเก่าขึ้นมาโจมตีกัน เช่น เผาบ้านเผาเมือง รื้อฟื้นความขัดแย้งต่างๆ ตรงนี้สื่อต้องไฮไลต์ตรงว่า หลังการเลือกตั้งความขัดแย้งต้องไม่กลับมาใหม่ อยากเห็นสื่อหลักเปรียบเทียบนโยบายของพรรคมากกว่าตัวบุคคล และต้องมีความรู้เกี่ยวกับรายละเอียดของการเลือกตั้ง
นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมเสวนา มองว่า สื่อออนไลน์จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นกับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่ 4 ปีที่ผ่านมา หลายสื่อโดนควบคุม จะชินกับเซ็นเซอร์ตัวเอง ดังนั้นสื่อเองต้องตอบคำถามว่า พร้อมแล้วหรือไม่จะที่ออกจากการถูกควบคุม และเลิกเซ็นเซอร์ตัวเอง