SHARE

คัดลอกแล้ว

“นิตยสารทยอยปิดตัว…สื่อสิ่งพิมพ์ลดพนักงาน…มหาวิทยาลัยยุบสาขาวารสารศาสตร์” ล้วนเป็นข่าวที่สร้างความหวั่นวิตกให้คนที่อยู่ในองค์กรสื่อ รวมถึงเด็กนิเทศฯ จบใหม่ และที่กำลังเรียนอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยอีกหลายหมื่น

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการส่งสัญญาณว่า ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ รวมถึงสื่อทีวีกำลังเผชิญภาวะวิกฤติจากการรุกหนักของสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะโซเซียลมีเดียอย่าง เฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรม ยูทูบ ไปจนถึงเพจข่าวอย่าง “อีจัน” วารสารศาสตร์มือถือ หรือ “โมโจ” (Mobile Journalism) รวมถึงสื่อที่นำเสนอเนื้อหา โดยเผยแพร่เสียงผ่านอินเทอร์เน็ตอย่าง พอดแคสต์ (Podcast) ที่เข้ามามีอิทธิพลต่อผู้บริโภคแทนสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อทีวี

วิกฤติที่เกิดขึ้นไม่เฉพาะในประเทศไทย แต่สะเทือนธุรกิจสื่อทั่วโลก จากจำนวนผู้บริโภคและรายได้จากโฆษณาลดลง ไม่เว้นแม้สื่อยักษ์ใหญ่เก่าแก่ที่ครองตลาดมานาน อย่างเช่น “วอลสตรีต เจอนัล” มีการปรับลดพนักงานเพื่อลดค่าใช้จ่าย เนื่องจากรายได้จากโฆษณาลดลง ส่วน “เดลิเมล์ แอนด์ เจอเนอรัล ทรัสต์” ลดพนักงาน 400 อัตรา ตามมาด้วย “ไทม์อิงค์” เจ้าของนิตยสารไทม์ ประกาศลดพนักงาน 300 ตำแหน่ง และล่าสุด Little Things สื่อแนวไลฟ์สไตล์ ซึ่งเป็นสื่อที่อยู่ในกลุ่มโซเซียลมีเดียด้วยกันเอง ก็ได้ประกาศปิดตัวโดยให้เหตุผลว่า เป็นเพราะการปรับเปลี่ยน อัลกอริทึ่ม (Algorithmใหม่ของ Facebook ทำให้คอนเทนต์จากเพจข่าวลดบทบาทลงจากหน้า feed

ภาพจาก Brand Buffet

สำหรับประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2559 ต่อเนื่องถึงปี 2560 มีหนังสือพิมพ์และนิตยสารทยอยปิดตัวไปแล้วหลายฉบับ อย่างเช่น หนังสือพิมพ์บ้านเมือง กลุ่มนิตยสารวัยรุ่นและนิตยสารผู้หญิง  เช่น คอสโม อิมเมจ บางกอกรายสัปดาห์ สกุลไทย ภาพยนตร์บันเทิง พลอยแกมเพชร ขวัญเรือน ดิฉัน และล่าสุดคือ คู่สร้างคู่สม นิตยสารที่ครองความนิยมในกลุ่มแม่บ้านมานาน 37 ปี ก็ประกาศปิดตัวลงด้วยเหตุผลที่ต้านสื่อโซเซียลมีเดียไม่ไหว โดย “ดำรง พุฒตาล” ผู้ก่อตั้งนิตยสารคู่สร้างคู่สม ให้เหตุผลถึงการปิดตำนานนิตยสารคู่สร้างคู่สมว่า “คนไม่ซื้อ ไม่อ่านสื่อที่เป็นกระดาษแล้ว” ส่วนสื่อสิ่งพิมพ์ที่ยังอยู่ก็ปรับตัวด้วยการลดต้นทุน บุคลากร ลดขนาดองค์กร พร้อมหาแพลตฟอร์มใหม่ๆ เช่น ออนไลน์ เข้ามาเสริม โดยดึงสินค้ามาลงโฆษณาในออนไลน์แทนสิ่งพิมพ์ที่ยอดขายหด

จากภาวะเศรษฐกิจและการแข่งขันของสื่อในภูมิทัศน์ใหม่ ทำให้องค์กรสื่อและผู้ที่ประกอบอาชีพสื่อมวลชนทุกแขนงมองว่า อาชีพสื่อเป็นอาชีพที่ไม่มีความมั่นคงสูง สะท้อนจากผลสำรวจ 10 อาชีพที่เสี่ยงตกงานสูงในปี 2561 โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เมื่อเดือนธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา ระบุว่า อาชีพนักหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และผู้สื่อข่าวภาคสนาม เป็น 1 ใน 10 อาชีพที่เสี่ยงตกงานสูง โดย “วชิร คูณทวีเทพ” อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บอกถึงสาเหตุการตกงานของคนในอาชีพสื่อสิ่งพิมพ์ว่า เป็นเพราะคนหันไปบริโภคข่าวจากโซเซียลมีเดีย ยูทูบ สื่อออนไลน์ และคนทั่วไปก็สามารถทำตัวเป็นนักข่าวได้ โดยรายงานข่าวผ่านโซเซียลมีเดียต่างๆ ซึ่งสวนทางกับเด็กนิเทศฯ จบใหม่ ที่ยังคงมีเพิ่มขึ้นและเสี่ยงที่จะหางานได้ยาก

ภาพจาก pixabay

ดังนั้น “ทางรอด” ของสื่อยุคใหม่ ในมุมมองของนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและคนที่อยู่ในแวดวงสื่อ คือ “ความเป็นมืออาชีพ” (professionalism) ซึ่งในหนังสือวันนักข่าว 2561 “สื่อมืออาชีพในภูมิทัศน์ใหม่” จัดทำโดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้สัมภาษณ์ความเห็นนักวิชาการและคนในแวดวงสื่อสารมวลชนต่อ “ความเป็นมืออาชีพของสื่อในภูมิทัศน์ใหม่” อาทิ “เขมทัตต์ พลเดช” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท. มองว่า นักข่าวมืออาชีพต้องเปิดหู เปิดตา เปิดใจ เปิดโลกทัศน์ รวมถึงวิธีคิดในเรื่องเทคโนโลยี ส่วน “จิตสุภา วัชรพล” รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เทรนด์ วีจี 3 จำกัด (ไทยรัฐออนไลน์) บอกว่า การทำข่าวโดยสนใจแต่เรตติ้ง ไม่สนใจคุณภาพ สุดท้ายแบรนด์ ชื่อเสียงที่สั่งสมมาจะอยู่ไม่ได้ การเสนอข่าวผิด เน้นความเร็ว สนุกปาก คนดูรับรู้ได้ และไม่ดู เรตติ้งก็ไม่มาอยู่ดี

ด้าน “รศ.ดร.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์” อธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ให้ความเห็นในบทความ “สื่อมืออาชีพ กับการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสังคม” ว่า  สื่อจะต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญในวิชาชีพ มีจรรยาบรรณ ซื่อสัตย์สุจริตต่อวิชาชีพ นำเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีอคติ บิดเบือน หรือเติมแต่งข้อมูลที่ไม่เป็นจริง หรือคาดเดาทำให้ข้อมูลผิดเพี้ยนจากความเป็นจริง ก่อให้เกิดความเสียงหายต่อบุคคลหรือสังคม และคนทำสื่อจะต้องศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ ตลอดเวลา เพราะยุคนี้ข้อมูลข่าวสารเปลี่ยนแปลงเร็วมาก

ขณะที่ “ดร.พีรชัย เกิดสินธุ์” คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า โลกของนิเทศศาสตร์คือโลกแห่งการเรียนรู้ เป็นศาสตร์และศิลป์ของทักษะการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เป็นโลกของการทำงานร่วมกันเป็นทีม และความคิดสร้างสรรค์ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ไม่เฉพาะการสื่อสาร แต่สามารถนำไปใช้สร้างธุรกิจได้ ไม่อยากให้มองเคสสื่อที่ไปต่อไม่ได้ หรือไม่ประสบความสำเร็จ มีเคสที่ประสบความสำเร็จอีกมากมาย อย่างบัณฑิตนิเทศศาสตร์ของ ม.กรุงเทพ จบไปมีงานทำ 100% ทั้งงานประจำ งานอิสระ และเจ้าของธุรกิจ

ภาพจาก pixabay

สื่อเปลี่ยน “เด็กนิเทศฯ” ต้องปรับ

“เดี๋ยวนี้คนที่จะทำหนังสือไม่จำเป็นต้องเรียนนิเทศศาสตร์ และผมก็บอกลูกว่า ถ้าลูกสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ ไม่ต้องเสียใจเลย เพราะเดี๋ยวนี้ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปแล้ว ระบบการศึกษามันก็เปลี่ยนไปหมด คนที่ไม่ได้เรียนนิเทศศาสตร์มาบางคน แค่เขามีโทรศัพท์มือถือเครื่องเดียว เขาก็ทำรายการออกมาได้ดีแล้ว เพราะฉะนั้นนิเทศศาสตร์ต้องเปลี่ยนหลักสูตร ต้องออกไปลุยงานนอกห้องเรียนมากกว่าเรียนทฤษฎี”

คำให้สัมภาษณ์ของ “ดำรง พุฒตาล” ผู้ก่อตั้งนิตยสารคู่สร้างคู่สม ในฐานะคนสื่อเก่าแก่ สะท้อนมุมมองต่ออาชีพสื่อสารมวลชนในปัจจุบัน และผลจากการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัลที่ส่งผลกระทบต่อคนข่าวและเด็กนิเทศฯ ที่กำลังจบออกสู่ตลาดอาชีพ ซึ่งเรื่องนี้สถาบันอุดมศึกษาที่ผลิตนักนิเทศศาสตร์ตระหนักและเห็นพ้องต้องกันว่า เมื่อสื่อเปลี่ยน การจัดการเรียนการสอนด้านนิเทศศาสตร์ต้องเปลี่ยน และเด็กนิเทศฯ จะต้องปรับตัว

จะเห็นว่าช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนในกลุ่มสาขาทางด้านสื่อสารมวลชนหลายแห่ง ได้มีการยกเครื่องหลักสูตรการเรียนการสอนครั้งใหญ่ โดยเฉพาะสาขาวิชาด้านวารสารหรือสิ่งพิมพ์ อย่างเช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยืนยันจะยังเปิดสอนด้านวารสารศาสตร์ แม้ตัวเลขของผู้ที่เลือกเรียนเป็นวิชาเอกจะลดลง แต่มีนักศึกษาจากสาขาอื่นมาเรียนเป็นวิชาโทมากขึ้น โดยปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนในภาควิชาวารสารสนเทศไปสู่ Data journalism หรือวารสารศาสตร์เชิงข้อมูล ที่นอกจากการทำข่าวทั่วไปแล้ว นิสิตจะต้องสามารถวิเคราะห์ข้อมูลที่ปรากฏบนโซเซียลมารายงานได้ เน้นการฝึกปฏิบัติจริงและเพิ่มเติมความรู้ทางด้านธุรกิจให้นำไปปรับใช้กับธุรกิจได้ ส่วน คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการปรับหลักสูตรใหม่ จากเดิมที่มี 6 สาขาวิชา เหลือ 2 หมวด คือ หมวดสื่อสารกลยุทธ์ และหมวดวารสารศาสตร์และการผลิตสื่อที่มุ่งสู่ความเป็นดิจิทัล โดยเน้นการผลิตสื่อในแพลตฟอร์มใหม่ๆ เช่น การทำหนังสือพิมพ์ออนไลน์ และเน้นฝึกปฏิบัติโดยให้นักศึกษาได้ลงพื้นที่จริง

ภาพจาก pixabay

สำหรับ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่าจะปิดภาควิชาวารสารศาสตร์ แต่มีการออกมายืนยันจาก “ดร.พีรชัย เกิดสินธุ์” คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพว่า ไม่ได้ปิด แต่จะควบรวมกับภาควิชาบรอดแคสติ้ง และใช้ชื่อภาควิชาเป็น “บรอดแคสติ้งและวารสารศาสตร์ดิจิทัล” เพื่อให้สอดรับกับรูปแบบเนื้อหาและแพลตฟอร์มการนำเสนอข่าวสารในปัจจุบันและอนาคต ที่มีความหลากหลาย และว่า การควบรวมภาควิชาบรอดแคสติ้งกับวารสารศาสตร์เข้าด้วยกัน ทำให้เกิดความยืดหยุ่นในการผสมผสานความรู้ การแลกเปลี่ยนนักศึกษา อาจารย์ และพันธมิตรซึ่งเป็นบริษัท องค์กร หรือหน่วยงานภายนอกระหว่างสาขาวิชาได้ราบรื่นกว่าเดิม เนื่องจากศาสตร์ทั้งสองแขนงมีความเกื้อกูลกันอยู่แล้ว ทำให้นักศึกษาได้ฝึกฝนตนเองรอบด้านมากขึ้น ไม่จำกัดแต่ด้านใดด้านหนึ่งบนพื้นฐานของการผลิตเนื้อหา (Content Base) มากกว่าผลิตเพื่อป้อนแพลตฟอร์ม (Platform Base) เพื่อให้นักศึกษาสามารถผลิตเนื้อหาที่เหมาะสมกับทุกแพลตฟอร์ม เป็นการตอบโจทย์ตลาดงานในปัจจุบัน ฉะนั้น นักศึกษาจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการปรับเปลี่ยนครั้งนี้

“มีคนบอกว่านิเทศศาสตร์กำลังถดถอย ไม่เรียนนิเทศฯ แล้ว ผมมองว่าเรายังต้องเรียนนิเทศศาสตร์ เพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่เลือกสื่อที่มีคุณภาพ มีความแปลกใหม่ทั้งรูปแบบและเนื้อหา จริงอยู่ที่มียูทูบเบอร์มากมายที่ใช้วิธีนั่งพูดในห้องนอนแล้วฟลุกดังขึ้นมา แต่ไม่สามารถต่อยอดเป็นเครื่องมือสำหรับประกอบอาชีพได้ สุดท้ายก็ล้มหายตายจากไป ดังนั้น การทำคอนเทนต์ดีๆ ให้คนติดตาม จะต้องใช้ความรู้ทางนิเทศมาช่วยดีไซน์ ทำให้ความฟลุกหรือโชคกลายเป็นสิ่งที่จีรังยั่งยืนหรือเป็นอาชีพได้ ยิ่งตอนนี้สื่อมีเยอะ และก็มีรูปแบบเทคนิค เทคโนโลยี มีลูกเล่นต่างๆ มากขึ้น อย่างเช่น แต่ก่อนมีแต่ละครช่วงไพร์มไทม์ ตอนนี้มีซีรีส์ ซิตคอม ซึ่งมีลักษณ์เฉพาะมากขึ้น ยิ่งจะต้องมีทักษะให้เรียนรู้องค์ประกอบของเนื้อหาที่เปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น เหล่านี้คือคำตอบว่าทำไมนิเทศศาสตร์ยังต้องมีอยู่” คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าว

ภาพจาก pixabay

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายมหาวิทยาลัยที่ปรับหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อให้ตอบโจทย์ตลาด เช่น มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต ปรับหลักสูตรใหม่ มุ่งสู่ความเป็นดิจิทัล เช่น สาขาการสื่อสารการแสดง ดิจิทัล สื่อดิจิทัลและการสร้างสรรค์ ภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล การสื่อสารการตลาดดิจิทัล มหาวิทยาลัยบูรพา เปลี่ยนเป็นวารสารศาสตร์คอนเวอร์เจนต์ ส่วน ศิลปากร ควบรวมเอกวารสารศาสตร์กับเอกวิทยุ – โทรทัศน์ เป็นสาขาสื่อสารมวลชน เป็นต้น

แม้ว่าชื่อสาขาวิชาและการจัดการเรียนการสอนจะเปลี่ยนไป เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของธุรกิจสื่อยุคใหม่ หรือสื่อในภูมิทัศน์ใหม่ แต่สิ่งที่สังคมคาดหวังจากองค์กรสื่อ หรือสื่อมวลชน นอกจากการส่งสาร ก็คือการเสนอข่าวอย่างรู้ลึก รู้จริง ยึดมั่นในหลักจรรยาบรรณของสื่อมวลชน และยังหวังอยู่เสมอว่า สื่อสารมวลชน เป็นหนึ่งในวิชาชีพที่มีบทบาทสำคัญ ในการขับเคลื่อนสังคมและประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับนานาประเทศ

 

บทความโดย: สิริลักษณ์ เล่า

ผู้สื่อข่าวอาวุโส เชี่ยวชาญด้านการศึกษา, อดีต บก.ฉบับพิเศษ บมจ.มติชน

———-

อ่านบทความย้อนหลัง

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า