สังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย เพราะคนส่วนใหญ่ไม่นิยมมีลูก ผู้สูงอายุหญิงมักเป็นโสดและเสี่ยงภาวะยากจนกว่าผู้ชาย เพราะการศึกษาต่ำทำให้ทำงานตอนแก่ได้น้อย พบการย้ายถิ่นภายในภูมิภาคมากขึ้น และวิถีชีวิตด้านที่อยู่อาศัยและการบริโภคเปลี่่ยนไป เนื่องจากเทคโนโลยี
วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับภาคีเครือข่าย สำรวจประชากรไทยตั้งแต่ปี 2559-2561 พบว่าอัตราการเกิดน้อยลง เพราะถึงประชากร 1 ใน 5 จะมีลูกคนแรกตั้งแต่ก่อนอายุ 20 ปี แต่ประชากรที่เหลืออีก 4 ใน 5 เลือกครองความโสดมากขึ้น หากแต่งงานก็มีลูกช้าลงและมีลูกจำนวนน้อย
พบผู้สูงอายุอยู่ในเมืองมากขึ้น คิดเป็น 41.1% และอีก 58.9% อาศัยอยู่ตามชนบทโดยมักอยู่ลำพัง เนื่องจากลูกหลานต้องย้ายถิ่นฐานเพื่อไปทำงานที่อื่น ซึ่งรศ.วิพรรณ ประจวบเหมาะ คณะบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาฯ บอกว่า รัฐจำเป็นต้องเดินหน้าการกระจายการพัฒนาหัวเมืองต่าง ๆ ให้เกิดงาน ไม่ให้คนย้ายออกจากต่างจังหวัด หากยังอยากรักษาระบบให้คนดูแลครอบครัว
ผู้สูงอายุวัย 60-69 ปีมักเป็นโสด โดยเฉพาะผู้สูงอายุหญิง เพราะครองความโสดหรือหย่าร้างมากกว่าผู้ชาย ผู้สูงอายุเหล่านี้ยังชีพด้วยการทำงานมากกว่าได้รับเงินจากลูก
ส่วนผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป เริ่มทำงานน้อยลงเพราะปัญหาด้านสมรรถภาพและสุขภาพ ในช่วงวัยนี้ผู้สูงอายุหญิงทำงานน้อยกว่าผู้สูงอายุชาย และมีระดับการศึกษาต่ำกว่า ทำให้มีความเสี่ยงยากจนเมื่อแก่ตัวลง ซึ่งผู้หญิงยังคงมีอายุยืนกว่าผู้ชาย
นอกจากนี้ยังพบว่ามีการย้ายถิ่นในภูมิภาคมากขึ้น ชาวภาคใต้และกรุงเทพส่วนใหญ่มักย้ายถิ่นในพื้นที่เดิมเพื่อสมรมและมีครอบครัว ขณะที่ภาคอีสานมีการย้ายออกจากถิ่นมากที่สุด รองลงมาคือภาคเหนือ โดยเป็นไปเพื่อการทำงาน สมรส และการศึกษา
ผลสำรวจยังพบว่าเทคโนโลยีทำให้วิถีชีวิตประชากรไทยเปลี่ยนไปด้วย แนวโน้มการอยู่อาศัยในที่อยู่แนวตั้ง เช่น แฟลต อพาร์ทเมนต์ หอพัก เพิ่มขึ้นเพราะที่ดินราคาสูงขึ้น คนส่วนใหญ่หันมาดื่มน้ำบรรจุขวดหรือน้ำจากตู้กด ส่วนทรัพย์สินที่ทุกบ้านต้องมี จากที่เคยเป็นวิทยุทรานซิสเตอร์ ปัจจุบันเป็นโทรทัศน์สี(95.03%) โทรศัพท์มือถือ (92.50%) ตู้เย็น (91.21%) จักรยานยนต์(81.51%) และ เคเบิลทีวี (76.52%)
ติดตามข่าวที่น่าสนใจได้ที่ workpointnews.com
Facebook / facebook.com/WorkpointNews/
Instagram / instagram.com/workpointnews/
Twitter / twitter.com/WorkpointShorts