SHARE

คัดลอกแล้ว

วิเคราะห์ ‘One Piece’ กับการซ่อนประวัติศาสตร์การเมืองของญี่ปุ่นไว้ใต้ตำนานโจรสลัด

วันพีซ (One Piece) เป็นหนึ่งในมังงะที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และครองตำแหน่งมังงะยอดนิยมที่สุดตลอดกาลเรื่องหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นอย่างแน่นอน ข้อมูลจากเว็บไซต์ Statistics and Data ระบุว่าตั้งแต่ 1997 จนถึงปี 2021 วันพีซขายไปแล้วมากกว่า 500 ล้านฉบับ และยังเดินหน้าต่อไปเรื่อย ๆ หลังจากที่ตีพิมพ์ออกมาแล้ว 1072 ตอน มีเวอร์ชั่นแอนิเมะประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงมาตลอด 20 ซีซั่น และได้รับความนิยมต่อเนื่องไปอีกจากการทำ Live Action ล่าสุด ที่เพิ่งเข้า Netflix ไปหมาด ๆ และบทความนี้จะมาวิเคราห์ตีความว่าทำไมวันพีซจึงเป็นเรื่องที่จับใจคนได้ทุกสมัยมาจนปัจจุบัน

[บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของเรื่องราวจากมังงะ ซึ่งยังไม่ถูกกล่าวถึงในซีรีส์]

เรื่องย่อวันพีซ

ประมาณ 800 ก่อนมหาอาณาจักร (Great Kingdom) ที่ว่ากันว่ารุ่งเรืองมากล่มสลายลงเพราะกษัตริย์จาก 20 ราชวงศ์ได้ร่วมมือกันโค่นล้มอำนาจ กษัตริย์กลุ่มนั้นก่อตั้งรัฐบาลโลกขึ้นมา (World Govenment) เพื่อดูแลความสงบเรียบร้อย และเหล่า ‘สมาชิกแรกเริ่ม 20 ท่าน’ ที่เรียกกันว่า (World Nobles) หรือ Celestial Dragons ที่เรียกกันในไทยว่าเผ่ามังกรฟ้า เผ่ามังกรฟ้าที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘พระเจ้าที่สร้างโลกใบนี้ขึ้นมา’ ลบร่องรอยทุกอย่างออกไปจากประวัติศาสตร์ และช่วงเวลาที่หายไปนั้นถูกเรียกว่า ‘ร้อยปีแห่งความว่างเปล่า’ (The Void Century) แต่ที่จริงแล้วมีการบันทึกเรื่องราวไว้ในศิลาหินขนาดใหญ่เรียกว่า โพเนกลีฟ (Poneglyph) ซึ่งถูกซ่อนไว้ตามที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งรัฐบาลโลกสั่งห้ามไม่ใครค้นหามันโดยเด็ดขาด

ประมาณ 20 ปีก่อนเรื่องราวในวันพีซจะเริ่มก็มีโจรสลัดชื่อ โกลด์ ดี โรเจอร์ และลูกเรือได้ออกค้นหาจบพบโพเนกลีฟที่มีอยู่ทั้งหมด 30 ชิ้น และในนั้นมีข้อมูลเรื่องร้อยปีแห่งความว่างเปล่าและอาวุธในตำนาน 3 อย่างที่ทำลายล้างโลกได้ และยังมีโร้ดโพเนกลีฟสีแดงที่บอกสถานที่ของเกาะลึกลับสี่แห่งที่จะนำไปสู่ลาฟเทล เกาะที่ว่ากันว่ามีมหาสมบัติอยู่ โกลด์ ดี โรเจอร์ ที่เป็นโรคร้ายได้เข้ามอบตัวกับทหารเรือและประกาศว่ามีสมบัติรอให้ทุกคนครอบครองก่อนที่จะโดนประหาร ซึ่งทำให้ยุคทองจองโจรสลัดเริ่มต้นขึ้น โจรสลัดทั่วโลกต่างออกตามหามหาสมบัติที่ถูกเรียกว่าวันพีซโดยหวังว่าจะเป็นราชาโจรสลัดคนต่อไป

ตัดภาพมาที่ มังกี้ ดี ลูฟี่ พระเอกของเราก็มีความฝันที่จะเป็นโจรสลัดตั้งแต่เด็ก เขาบังเอิญได้กินผลไม้ปีศาจของแชงคูสโจรสลัดที่เขาชื่นชมจนตัวกลายเป็นยางยืด และจะว่ายน้ำไม่ได้ แม้จะเจอเหตุการณ์เสี่ยงชีวิตที่ทำใ้ห้แชงคูสต้องเสียแขนไป ลูฟี่ก็ยังเติบโตมาด้วยความฝันและความทะเยอทะยานจะเป็นราชาโจรสลัด เขาฟอร์มดรีมทีมขึ้นมาเพื่อที่จะไปตะลุยหาวันพีซ ทำให้มีมิตรภาพและเรื่องราวมากมายเกิดขึ้น

One Piece. (L to R) Taz Skylar as Sanji, Mackenyu Arata as Roronoa Zoro, Iñaki Godoy as Monkey D. Luffy, Emily Rudd as Nami, Jacob Romero Gibson as Usopp in season 1 of One Piece. Cr. Courtesy of Netflix © 2023

วันพีซ มังงะที่มีการเมืองและตัวละครที่เชื่อมโยงกับผู้คนได้ทุกยุคสมัย

สิ่งหนึ่งในสิ่งที่ทำให้ One Piece เป็นเรื่องคลาสสิกที่อยู่ได้ข้ามยุคสมัยแม้เวลาจะผ่านไปนานกว่า 26 ปีคือการสร้างโลกแฟนตาซีขึ้นมาแบบซับซ้อนและละเอียดละออ แต่ถึงแม้โลกจะเหนือจินตนาการแค่ไหนก็ไม่เคยไกลเกินกว่าที่คนดูจะเชื่อมโยงถึงได้ เพราะองค์ประกอบในเรื่องมีทั้งความหลากหลายของตัวละคร การเมือง และประวัติศาสตร์ทำให้เรื่องราวของวันพีซนั้น สามารถแตะประเด็นที่หลายจุดยังคงร่วมสมัยตั้งแต่เรื่องราวเริ่มขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน อย่างเรื่องความหลากหลายทาง รูปร่างหน้าตา เพศ ฐานะ และเชื้อชาติ อคติและการเหยียด ความเหลื่อมล้ำ การโกงกิน สงคราม และ ทาส ฯลฯ

เหมือนกับโลกที่เราอยู่ ในวันพีซยังมีคนกลุ่มต่าง ๆ จากหลายอาณาจักร อยู่ภายใต้รัฐบาลโลกผู้กุมอำนาจและความเป็นไปของโลก ซึ่งแม้ฉากหน้าจะดูเหมือนคอยทำหน้าที่ให้โลกสงบสุข แต่เบื้องหลังกลับโกงกินเอื้อผลประโยชน์ให้พวกพ้อง มีเผ่ามังกรฟ้าที่ยิ่งใหญ่ดุจราชาจนห้ามใครแตะต้อง มีสื่อที่ทำหน้าที่เป็นเอกเทศ แต่ก็เป็นหนึ่งในหมากของเกมการเมือง ประวัติศาสตร์ที่ถูกบันทึกโดยผู้ชนะ ทิ้งไว้เพียงแค่รอยโหว่ในกาลเวลากับ ‘ร้อยปีแห่งความว่างเปล่า’ ที่ถูกลบไปโดยรัฐบาล รอวันที่จะถูกเปิดเผยในไม่ช้า ทำให้วันพีซเหมือนกับโลกเราที่ถูกย่อไว้ในหน้ากระดาษฝังเรื่องราวไว้หลังลายเส้น 

วันพีซและสงครามโลกครั้งที่ 2 อนุสาวรีย์แห่งความอายของญี่ปุ่น

ในบทความชื่อ ‘One Piece of the Puzzle: Implications of Japan’s Insecurities & Hope Reflected in the Characters of One Piece’ หรือแปลเป็นไทยได้ว่า ‘ชิ้นหนึ่งของจิกซอว์: นัยของความไม่มั่นคงทางใจและความหวังของญี่ปุ่นซึ่งสะท้อนผ่านตัวละครจากวันพีซ’ โดย Dana Yost ได้เชื่อมโยงวันพีซกับสังคมญี่ปุ่นให้กับผู้อ่านได้เห็นอย่างชัดเจน 

  • ในบทความกล่าวว่าการลบประวัติศาสตร์ในเรื่องและการซุกซ่อนทุกอย่างไว้ชวนให้นึกถึงการหลบซ่อนรอยแผลของญี่ปุ่นที่เกิดจากสงครามโลกครั้งที่สอง และเมื่อเราได้อ่านบทความ ‘HOW JAPAN TEACHES ITS OWN HISTORY’ ‘ญีปุ่นสอนประวัติศาสตร์ของชาติตัวเองอย่างไร’ จาก The New York Times ภาพชีวิตจริงและภาพในมังงะก็เริ่มซ้อนทับกันเป็นภาพเดียว 
  • เพราะการที่ญี่ปุ่น ‘ฟอกขาว’ ความโหดร้ายของสงครามในหนังสือประวัติศาสตร์ให้ดูเบาลงและชอบธรรมมากขึ้น ทำให้ประชาชนเหมือนอยู่ในช่วงความจำเสื่อมที่พอกินเวลาหลายปีเข้าประวัติศาสตร์ในความทรงจำของผู้คนก็ผิดเพี้ยนไป เพราะความทุกข์ยากที่เกิดจากการถูกกระทำของประเทศนั้นน่าจดจำกว่าความทุกข์ทรมานที่ประเทศนั้นทำแก่ผู้อื่น ไม่ต่างกับรัฐบาลโลกที่พยายามซ่อนประวัติศาสตร์ที่ถูกสลักไว้บนศิลาซึ่งไม่สามารถทำลายทิ้งไว้
  • เคนซาบุโระ โอเอะ นักเขียนชาวญี่ปุ่น เคยกล่าวถึงการที่ญี่ปุ่นประกาศว่า ยุคใหม่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับความอัปยศอดสูหลังสงครามของญี่ปุ่นนั้นจะต้องเริ่มขึ้นแล้วในสี่สิบปีให้หลัง ว่าเป็นเพียงความพยายามที่จะลบล้างบทเรียนของสงครามโลกครั้งที่ 2 และการบ่อนทำลายภาพฝันของญี่ปุ่นที่อยากจะเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณในโลกที่ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ ก็คล้ายกับความพยายามที่จะซ่อนลายแทงไม่ให้ใครหาอาวุธที่ทำลายล้างโลกไว้อย่างมิดชิด
  • และถ้ายิ่งลองเอาประวัติศาสตร์การเมืองของญี่ปุ่นที่ฝ่ายสัมพันธมิตร 26 ประเทศร่วมมือกันรบจนชนะ จบลงด้วยการที่จักรพรรดิสูญเสียอำนาจ มีการจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมา ญี่ปุ่นรับเอารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่อเมริกามีบทบาทหลักในการร่างขึ้นมาใช้  มาวางข้าง ๆ ประวัติศาสตร์ในวันพีซที่มหาอาณาจักรผ่ายแพ้แก่กษัตริย์จาก 20 ราชวงศ์ที่ร่วมกันก่อตั้งมหาพันธมิตร และมีการจัดตั้งรัฐบาลโลกขึ้นมา ก็จะยิ่งเห็นสายที่โยงใยโลกแฟนตาซีกับโลกแห่งความเป็นจริงได้ชัดเจนขึ้น

มังกรฟ้า เผ่าพันธุ์นายทุนที่เป็นดั่งพระเจ้า

อีกกลุ่มตัวละครหนึ่งที่น่าสนใจคือกลุ่มมังกรฟ้า (Celetial Dragon) หรือ ขุนนางโลก (World Nobles) ลูกหลานของราชาจาก 19 อาณาจักร (มีแค่ 19 จาก 20 เพราะมีกษัตริย์เนเฟลตาลีที่ไม่อยากเข้าร่วมหายไปหนึ่งคน) ที่อยู่ในจุดสูงสุดของยอดปิรามิดในโลกของวันพีซ ด้วยอำนาจ เงินตรา และสายเลือดที่ถูกส่งต่อมาทำให้ทุกคนต้องก้มหัวให้ พวกเขาทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ ตั้งแต่ซื้อและกดขี่ทาส ให้ใส่ปลอกคอราวกับสัตว์ ทำร้ายร่างกาย เหยียดหยาม และฆ่าทุกคนที่เชื่อว่าอยู่ต่ำกว่าโดยแทบไม่มีผลกระทบ เพราะใครที่ทำร้ายเผ่ามังกรฟ้าจะถูกกองทัพเรือจัดการ

พวกเขาสามารถควบคุมทั้งรัฐบาล ทหารเรือ ไซเฟอร์โพล ไปจนถึง เจ็ดเทพโจรสลัด อาศัยอยู่ที่ แมรีจัวส์ ดินแดนศักดิ์สิทธ์ และมีเซนต์นำหน้าชื่ออย่าง เซนต์ชาร์ลอสที่มีความโหดเหี้ยม ใครขวางทางก็ฆ่าทิ้ง ชอบผู้หญิงคนไหนก็เอาเขามาเป็นเมีย แม้ว่าเขาจะมีครอบครัวแล้วก็ไม่สนใจ เบื่อก็ปลดออกจากตำแหน่ง 

มีกลุ่มหนึ่งในญี่ปุ่นที่เป็นชนชั้นนำ ซึ่งชวนให้นึกถึงเหล่า World Nobles คือไซบัสซึ (Zaibatsu) ที่แม้ไม่ใช่ราชวงศ์ แต่ก็มีอำนาจไม่ต่างกัน​ ไซบัสซึเป็นกลุ่มบริษัทที่บริหารโดยเจ้าของที่เป็นครอบครัวเดียว เกิดขึ้นประมาณในปลายยุค Meiji Restoration (การฟื้นฟูเมจิ) ไปจนถึงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่มีการปฏิรูปญี่ปุ่นให้เจริญทัดเทียมชาติตะวันตก ประมาณช่วง 1867 เทียบคร่าว ๆ ประเทศไทยก็อยู่ในยุครัชกาลที่ 5

ไซบัสซึที่ใหญ่ที่สุดก็คือ ซูมิโตโม มิตซุย มิตซูบิชิ และยาสุดะ กลุ่มบริษัทไซบัตสึทั้งสี่ทำธุรกิจหลากหลายครอบคลุมไปหลายอุตสาหรรม ทำให้พวกเขาให้มีอิทธิพลสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นหนึ่งในไม่กี่กลุ่มธุรกิจที่ได้ผลประโยชน์ยิ่งใหญ่จากสงครามโลกครั้งที่สอง บทความเรื่อง ‘Zaibatsu Wartime Role’ (บทบาทในช่วงสงครามของไซบัสซึ) ถึงกับเขียนว่าพวกเขามีอำนาจเหนือรัฐมนตรีที่เป็นทหารบกและทหารเรือ บวกกับการสนับสนุนจากคณะข้าราชการ ทำให้พวกเขามีบทบาททั้งในด้านการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศ และเจริญรุ่งเรืองระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพากำลังดำเนินไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ปัญหาเดียวของพวกเขาก็คือการขาดแรงงานจากการที่ชายหนุ่มทั้งหลายต้องไปรบในสงคราม แต่กองทัพก็ชดเชยแรงงานด้วยเชลยสงครามจากฝั่งสัมพันธมิตร บางครั้งพวกเขาก็ซื้อแรงงานราคาถูกโดยจ่ายเงินให้กองทัพ เช่นเดียวกับการที่เผ่ามังกรฟ้ามาซื้อทาสที่โรงประมูลในหมู่เกาะชาบอนดี้ และเชลยศึกก็ได้รับการปฏิบัติเหมือนกับเป็นสัตว์ตัวหนึ่งมากกว่าคน พวกเขาไม่มีอาหาร ยา เสื้อผ้า และสุขอนามัย แทบไม่ต่างกับทาสของเผ่ามังกรฟ้า

ในปี 2015 บริษัทมิตซูบิชิก็ได้ออกมาขอโทษเชลยศึกชาวอเมริกันอย่างเป็นทางการ ภายหลังจากรัฐบาลญี่ปุ่นออกมากล่าวขอโทษห้าปีก่อนหน้านั้น ไซบัตสึเสียอำนาจไปหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองจบลง เมื่อ นายพล Douglas MacArthur ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของฝ่ายสัมพันธมิตร (Supreme Commander for the Allied Powers) เข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบลดโอกาสการผูกขาดตลาดของกลุ่มทุนใหญ่ แต่สุดท้ายไซบัตสึก็ยังพอมีชีวิตรอดด้วยการแปลงร่างเป็น เคอิเรตสึ (Keiretsu) หรือกลุ่มธุรกิจแบบเครือข่าย โดยไม่ได้เป็นบริษัทแม่-ลูกกันโดยตรง แต่เชื่อมกันด้วยธนาคาร และทำงานร่วมกันอย่างเหนียวแน่น

ถึงจะดูร้ายแบบสุดตัว แต่ก็มีตัวละครอย่าง เซนต์ ดองกี้โฮเต้ โฮมมิ่งและครอบครัว ที่พลิกให้เห็นว่าไม่มีเผ่าพันธุ์ไหนที่โหดร้ายเหมือนกันเสมอไป เขา ภรรยาและลูกชายคนเล็กเป็นชาวเผ่ามังกรฟ้าที่มีจิตใจดี โฮมมิ่งตัดสินใจละทิ้งสถานะอันสูงส่งมาอยู่รวมกับชาวบ้านนอกการปกครองของรัฐบาลโลกเพื่ออยู่อย่างถ่อมตน แต่เมื่อชาวบ้านรู้ชาติกำเนิดของเขา ทั้งครอบครัวกลับโดนชาวบ้านเกลียดชังและทำร้ายเพราะความแค้นที่มีต่อเผ่ามังกรฟ้า บ้านพวกเขาโดนเผา ถูกทรมาน ต้องหนีจากการทำร้าย มาอยู่ท่ามกลางกองขยะ โฮมมิ่งพยายามให้ลูกและภรรยากลับไปสู่สถานะเดิมแต่ถูกปฏิเสธ สุดท้ายภรรยาของเขาต้องตายเพราะความจน เรื่องนี้อาจจะเป็นสิ่งสะท้อนได้ตั้งแต่ความแตกแยกที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำ กลายเป็นอคติที่ยากจะลบ และก็ในอีกมุมก็สะท้อนความโลกสวย ไม่เข้าใจโลกภายนอกของชนชั้นนำด้วยเช่นกัน 

รายละเอียดทั้งหมดนี้ ทำให้แม้กลุ่มมังกรฟ้าจะเป็นตัวละครสมมุติที่ดูเหนือจริงด้วยเสื้อผ้าที่ล้ำหน้าแฟชั่นปรกติไปไกล การหายใจในครอบแก้วที่ทำให้พวกเขาไม่ต้องใช้อากาศร่วมกับคนทั่วไป ก็ยังมีความเชื่อมโยงไปถึงชนชั้นนำในหลายประเทศซึ่งมีอำนาจราวเป็นเจ้าชีวิตคน อยู่เหนือกฏหมาย มีอำนาจดุจพระเจ้านั้นชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ก็นำเสนอว่าไม่ใช่เผ่ามังกรฟ้าทุกคนจะเป็นคนเลวไปเสียหมด

 

วิกฤตในชีวิตตัวละคร และ วิกฤติ IMF ที่เปลี่ยนอนาคตของชาติ

ถึงจะเขยิบออกจากประวัติศาสตร์สงครามมาถึงเรื่องของลูฟี่ พระเอกของเรื่อง ก็ยังเห็นการที่วันพีซเป็นภาพสะท้อนของสังคมญี่ปุ่นได้อย่างชัดเจน โดย Dana Yost ชี้ให้เห็นว่าชีวิตของลูฟี่ที่มีชีวิตวัยเด็กที่เหมือนจะไม่ได้อยู่พร้อมหน้ากับครอบครัว อาจจะเป็นภาพสะท้อนของครอบครัวที่เริ่มแตกแยกในช่วงฟองสบู่แตกในช่วงปี 1997 ที่ไม่ได้ทำให้เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เกิดวิกฤตในชีวิตของเยาวชนของชาติด้วย

เมื่อฟองสบู่แตกเปลี่ยนญี่ปุ่นจากที่เคยเป็น ‘สังคมชนชั้นกลาง’ (sōchūryū shakai) ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางมีความเสมอภาค ถ้าพยายามใครก็ประสบความสำเร็จได้ กลายเป็น ‘สังคมแห่งความเหลื่อมล้ำ’ (kakusa shakai) อัตราการหย่าร้างพุ่งสูง และลูกมักได้อยู่กับแม่ที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายไปด้วย ทำให้เกิดปัญหาความยากจนในเด็ก

One Piece. Iñaki Godoy as Monkey D. Luffy in season 1 of One Piece. Cr. Courtesy of Netflix © 2023

ยุคนั้นถูกเรียกในภายหลังว่า ‘Lost Decade’ แปลว่าทศวรรษที่หายไป ว่ากันว่าคนรุ่นนี้ที่เติบโตมาในช่วงทศวรรษแห่งความเจริญรุ่งเรืองนั้นจะขับข้องใจและรู้สึกเหมือนถูกทรยศยิ่งกว่าคนที่โตมาพร้อมกับความยากลำบาก ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่ส่งผลให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “โคโดโมะ กา เฮน ดา” คำจากยุค 1990s ที่หมายความว่าเด็ก ๆ เริ่มแปลกไป ใช้กับการที่เด็ก ๆ ในยุคหลังสงครามนั้นแปลกไปจนเกินความเข้าใจของคนยุคก่อน ซึ่งความต้องการของลูฟี่ที่จะเป็นโจรสลัดที่มีความขบถและอยู่นอกกฏหมาย และความเป็น ‘อื่น’ ไม่เข้ากับสังคมใดของเหล่าสมาชิกกลุ่มโจรสลัดหมวกฟาง อาจจะเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงถึงปรากฏการณ์ทางสังคมนี้

อย่างไรก็ตามวันพีซก็ไม่ได้นำเสนอว่าการที่เยาวชนอยากจะแหกคอกนั้นจะทำให้ชาติล่มจม แต่การทีพวกเขาอยากจะเป็นโจรสลัดที่มีเกียรติ ซึ่งออกมาตั้งคำถามกับการใช้อำนาจของรัฐ การมองคนที่ภายนอกมากหรือเพ่งมองไปที่ความผิดพลาดของพวกเขา มากกว่าส่วนดีที่ของพวกเขานั้น ก็ทำให้เห็นประกายความหวังว่าเยาวชนจะเติบใหญ่กลายเป็นกำลังที่จะทำให้ประเทศดำรงอยู่ต่อไปได้เมื่อถึงเวลาของพวกเขา

ปฎิเสธไม่ได้ว่าประเทศญี่ปุ่นยังคงมีความเหลื่อมล้ำในเรื่องของรายได้ ที่อยู่สูงกว่ามาตราฐานของประเทศในกลุ่ม OCED และคำว่า โจคิวโคคุมิน (上級国民) ที่มาจากการรวมคำว่า “โจคิว (ชนชั้นสูง)” และ “โคคุมิน (พลเมือง) ที่เป็นกระแสขึ้นมาเมื่อปี 2019 หลังจากที่เหตุอดีตข้ารายการระดับสูงวัย 87 ปี ขับรถชนคนได้รับบาดเจ็บ 10 คน และมีผู้เสียชีวิตเป็นหญิงสาวและลูก แต่กลับไม่โดนจับหลังเกิดเหตุทันทีเหมือนกรณีทั่วไป แม้ภายหลังเขาจะโดนตัดสินจำคุกห้าปีก็ตาม ก็ทำให้รู้ว่าความเลื่อมล้ำและชนชั้นนั้นถึงจะจางลงแต่ไม่เคยหายไปไหน 

หากจะให้สรุปว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้วันพีซอยู่เหนือกาลเวลามากว่า 26 ปี จุดสำคัญนั้นอยู่ที่การเล่าเรื่องราวที่มีจุดเชื่อมกับประวัติศาสตร์และสังคม ซึ่งปรับเปลี่ยนเรื่องราวไปตามกระแสของโลกได้อย่างน่าทึ่ง และการสอดแทรกมายาคติให้ออกมาเป็นรูปธรรม แม้จะดูเน้นไปที่ญี่ปุ่น แต่ก็กว้างพอที่จะทำให้ผู้อ่านจากประเทศอื่น ๆ จะเห็นเสี้ยวเงาของประเทศตัวเองเป็นเงาสะท้อนเช่นเดียวกัน ผู้อ่านและประชาชนก็ได้แค่รอให้วันพีซจบอย่างสวยงาม เพื่อวันหนึ่งที่เราย้อนกลับมาอ่านแล้วจะได้สนุกกับเรื่องราวโดยที่ไม่ต้องนึกถึงชีวิตของตนเองอีกต่อไป

อ้างอิง

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า