SHARE

คัดลอกแล้ว

หนึ่งในประเด็นดราม่าร้อนในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้นเรื่องของยูทูบเบอร์ดัง ‘คิวเท อปป้า’ (Kyutae Oppa) ที่ทีมงานไม่พอใจเงินเดือน จนเกิดการทะเลาะ ขโมยของ ขายความลับบริษัท และนินทาว่าร้ายต่างๆ

ประเด็นนี้ถูกพูดถึงในวงกว้าง ไปจนถึงการตั้งคำถามเรื่องค่าจ้างและสวัสดิการของคนทำงานในสื่อดิจิทัล ซึ่งเป็นหนึ่งใน Digital Labour ว่าทางออกของเรื่องนี้คืออะไร

TODAY Bizview ชวนอ่านมุมมองในประเด็นแรงงานสื่อดิจิทัลจาก ‘อ.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์’ หัวหน้าศูนย์ศึกษากฎหมายกับเทคโนโลยี ม.เชียงใหม่ และ ‘ดีเจเพชรจ้า-วิเชียร กุศลมโนมัย’ ยูทูบเบอร์และเจ้าของช่อง djpetjah channel

———–

‘เงินเดือน’ ขึ้นอยู่กับ ‘คุณภาพ’

ดีเจเพชรจ้าบอกว่า เพราะใครๆ ก็สามารถทำช่องยูทูบได้ โดยปัจจุบันคนทำยูทูบแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกที่เป็นกลุ่มเพื่อนที่มีความสามารถคนละด้าน รวมตัวกันมาทำช่องของตัวเอง (ซึ่งพอได้เงินมาก็อาจจะแบ่งในสัดส่วนเท่าๆ กัน)

กับอีกกลุ่มที่ทำในรูปแบบของบริษัท มีการว่าจ้างพนักงานเพื่อมาทำคอนเทนต์จริงจัง จ่ายเงินให้คนในทีมเป็นเงินเดือน ซึ่งบริษัทของคิวเทก็น่าจะอยู่ในรูปแบบนี้ 

สำหรับรูปแบบบริษัท เงินเดือนขั้นต่ำของคนตัดต่อคลิปจะอยู่ที่ประมาณ 15,000 บาท

ซึ่งถ้าผลงานมีความโดดเด่น หรือสร้างผลงานออกมาได้ดี ก็จะได้รับค่าแรงที่เพิ่มขึ้น หรือได้โอทีเพิ่มเติมถ้าต้องทำงานล่วงเวลา

แต่ในบางบริษัทที่เป็นโปรดักชั่นเฮ้าส์ (Production House) จริงจัง คนตัดต่ออาจจะได้รับค่าแรงถึง 70,000-80,000 บาท/เดือนเลยทีเดียว

ในกรณีของ ‘คิวเท อปป้า’ ที่มีการให้ค่าแรงคนตัดต่อคลิปอยู่ที่ 30,000 บาท ก็ถือว่าค่อนข้างสูง เพราะเงินเดือนในระดับนี้ บางครั้งอยู่ในการศึกษาระดับปริญญาโทด้วยซ้ำ

————-

ช่องยิ่งใหญ่ ค่าใช้จ่ายก็ยิ่งเยอะ

แต่สิ่งที่น่าคิดคือ ในวงการยูทูบเบอร์ ยิ่งช่องนั้นมีผู้ติดตามเยอะเท่าไหร่ ก็เหมือนบริษัทขนาดใหญ่ที่มีการลงทุนมากขึ้น มีค่าใช้จ่ายเยอะขึ้นตามไปด้วย

ไม่ว่าจะเป็น อุปกรณ์การถ่ายทำ ที่บางอย่างมีราคาถึงหลักแสน รวมไปถึงอุปกรณ์การตัดต่อในราคาหลักหมื่น ที่จะทำให้คุณภาพของคอนเทนต์ออกมาสวยงาม ได้มุมกล้องที่ดี ภาพคมชัด รวมไปถึงการจ่ายเงินเดือนพนักงานทุกคนด้วย

ดีเจเพชรจ้าให้ความเห็นว่า ยูทูบช่อง Kyutae Oppa ที่มีผู้ติดตามหลายล้าน เปรียบเสมือนองค์กรยักษ์ใหญ่ในวงการ สามารถจ้างคนตัดต่อได้เป็นสิบคน

ส่วนในกรณีของคนทีมงานที่เป็นประเด็นอยู่ ถ้าไม่พอใจในค่าแรงก็แค่ลาออก แต่ต้องไม่ลืมว่าคนที่ตัดต่อคลิปได้ในยุคนี้มีเยอะมาก ชนิดที่ว่าวันต่อไปคิวเทก็สามารถหาพนักงานใหม่ได้ในทันที

————

ปัญหายิ่งหนัก ถ้าเป็นแรงงานกลุ่มฟรีแลนซ์

ตลาดคอนเทนต์ที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทำให้จำนวน Digital Labour ในไทยเพิ่มสูงขึ้น (แบบที่ดีเจเพชรจ้าบอกว่าการหาคนใหม่มาแทนเป็นเรื่องง่าย)

และใน Digital Labour เหล่านั้น มีจำนวนไม่น้อยเลยที่ทำงานในลักษณะฟรีแลนซ์ ที่อาจต้องเจอปัญหาในเรื่องงานมากกว่าปกติ

โดย อ.ทศพล บอกว่า ถ้าเป็นการทำงานตามระบบแบบปกติ มีนายจ้าง-ลูกจ้าง จะมีการจ่ายค่าแรงในระยะเวลาประจำ มีค่าแรงขั้นต่ำเป็นมาตรฐาน มีชั่วโมงการทำงานตามกฎหมาย ได้รับสวัสดิการทุกคน

ซึ่งในกรณีที่ลูกจ้างต้องการปรับค่าแรงเพิ่มขึ้น กฎหมายบอกว่าลูกจ้างจะต้องรวมตัวกัน และต่อรองเจ้านายเอง

ส่วนระบบอีกแบบที่ใช้แรงงานเป็นกลุ่มฟรีแลนซ์ (freelance) ค่าแรงจะขึ้นอยู่กับผลงานของผู้รับจ้าง หรือในเกณฑ์ของผู้ว่าจ้าง หรือเรียกง่ายๆ ว่าแล้วแต่ตกลง

ข้อดีของการใช้ฟรีแลนซ์คือ นายจ้างไม่ต้องรับพนักงานประจำ ซึ่งช่วยลดปัญหาเรื่องการจัดการต่างๆ และการให้สวัสดิการออกไป อีกทั้งยังสามารถเปลี่ยนตัวคนทำงานได้ง่ายกว่า

ส่วนคนทำฟรีแลนซ์เองก็มีความยืดหยุ่นในการทำงานมากกว่า เลือกรับงานได้ มีอิสระในชีวิต

ทำให้ระบบนี้เป็นที่นิยมในหลายๆ อุตสาหกรรมในปัจจุบัน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสื่อดิจิทัล

แต่ถึงอย่างนั้น ระบบฟรีแลนซ์ก็มีข้อเสียตรงที่ไม่มีมาตรฐานค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่มีสวัสดิการ (เช่น ประกันสังคม ที่แม้จะมี ม.40 แต่ก็ไม่ค่อยตอบโจทย์เท่าไหร่) และไม่สามารถเรียกร้องการเพิ่มค่าจ้างได้แบบปกติ

ซึ่งการจะได้การเพิ่มค่าจ้าง ต้องผ่านการรวมกลุ่มเรียกร้อง แต่ อ.ทศพล ระบุว่า ฟรีแลนซ์ไทยรวมถึงในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา รวมตัวกันเพื่อกำหนดเรตค่าแรงได้ยาก

เพราะกลับแทงข้างหลังกันเอง ทำลายกันเองในวงการ นั่นทำให้การเรียกร้องค่าจ้างที่เหมาะสม และพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานกลุ่มนี้ไม่สามารถทำได้

แต่ถ้าฟรีแลนซ์ไทยหลุดพ้นกับดักการแทงข้างหลังกันเองขึ้นมาได้ ก็น่าจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้การดูแลสวัสดิการของแรงงานกลุ่มนี้พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น

—————–

อยู่ที่ความสัมพันธ์ และความเข้าใจกัน

นอกจากเรื่องของคุณภาพ อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงในการให้เงินเดือนและสวัสดิการ คือต้องดูด้วยว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของบริษัทและพนักงานเป็นอย่างไร

โดยดีเจเพชรจ้ามองว่า ถ้าพนักงานเป็นคนที่เริ่มต้นทำช่องด้วยกันมาตั้งแต่แรก ก็ควรขึ้นค่าแรงให้หากบริษัทได้กำไรดี แต่ถ้ามาทีหลังที่บริษัทประสบความสำเร็จแล้ว ก็อยู่ที่บริษัทเป็นคนพิจารณา

แต่สิ่งที่ดูเหมือนจะสำคัญที่สุด และน่าจะเป็นทางออกที่ดีในตอนนี้ คือ ‘การเข้าใจกัน’

อ.ทศพล ชี้ว่า สิ่งหนึ่งที่ลูกจ้างวงการทำสื่อดิจิทัลในปัจจุบันต้องมองคือ อย่ามองแค่ว่าเจ้านายสำเร็จแล้วจะเดินไปด้วยกันยังไง แต่ต้องมองด้วยว่าถ้าบริษัทล้มเหลวขึ้นมา เราจะยังอยู่กับเขามั้ย

ซึ่งเจ้านายเองก็ต้องคิดเหมือนกันว่าหากบริษัทล้มเหลว จะมีการจัดการอย่างไร จะมีการเยียวยาพนักงานไหม

“คนเจนใหม่เริ่มเห็นความสัมพันธ์เจ้านาย-ลูกน้อง แบบเพื่อนพี่น้อง แต่สิ่งสำคัญไปมากกว่านั้นคือ แก่นของธุรกิจคืออะไรกันแน่ เพราะถ้าจริงๆ มันคือตัวคนทำงาน หรือฝีมือ ผู้ประกอบการก็อาจจะต้องคิดว่ามันมีต้นทุนในการรักษาคนเก่าด้วยไหม

“หรือถ้ามันคือการทิ้งลายเซ็นในผลงาน แล้วถ้าคนใหม่มาทำ จะยังเหมือนเดิมไหม” อ.ทศพล ระบุ

เพราะสุดท้ายแล้ว การหาแรงงานในวงการสื่อ หรือ ‘Digital Labour’ เป็นเหมือนการหาเพื่อนที่ต้องเข้าใจกันและกัน รู้ความต้องการของแต่ละฝ่าย มองในมุมเดียวกัน

เหมือนกับผู้กำกับหนัง-คนตัดต่อ ที่ต้องใช้สมองเดียวกัน พวกเขาเหล่านี้คงไม่อยากหาคนใหม่ ที่กว่าจะได้คนรู้ใจก็เหมือนเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่อีกรอบนั่นเอง

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า