SHARE

คัดลอกแล้ว

ในโลกของการทำงาน เราต่างมาจากร้อยพ่อพันแม่ มีทัศนคติที่แตกต่าง ซึ่งเป็นผลมาจากการอบรมสั่งสอนของครอบครัว สถานศึกษา และสภาพแวดล้อมที่เติบโตมา

แต่เมื่อต้องทำงานร่วมกับผู้อื่น นอกจากต้องมี IQ (Intelligence Quotient: ความฉลาดทางสติปัญญา) ซึ่งหมายรวมถึงวุฒิการศึกษาที่ช่วยคัดกรองคนให้เหมาะสมกับตำแหน่งงานแล้ว ยังจำเป็นต้องมี EQ (Emotional Quotient: ความฉลาดทางอารมณ์) หรืออีกนัยหนึ่งคือ การมีวุฒิภาวะ ควบคู่กันไปด้วย

เพราะนอกจากจะช่วยให้การทำงานราบรื่น ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมร่วมกับผู้อื่นได้อย่างปกติสุขแล้ว ยังช่วยให้ความเป็น “มนุษย์” ในตัวบุคคลนั้นสมบูรณ์ขึ้น

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้เรียบเรียงและขยายความจากพจนานุกรมศัพท์จิตวิทยา ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ของคำว่า “วุฒิภาวะ” ไว้ว่า เป็นการบรรลุความพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ด้วยความเจริญสมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคมของบุคคล ที่พัฒนาอย่างเต็มที่จนบรรลุถึงขั้นภาวะนั้นๆ ตามศักยภาพของบุคคลแต่ละคน

บุคคลที่มี EQ ดี “สมพงศ์ สิงหา” ผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยาในการพัฒนาบุคลากร เคยกล่าวไว้ว่า จะเป็นบุคคลที่สามารถให้กำลังใจตนเอง เผชิญกับความคับข้องใจและความยากลำบาก อดทนต่อความล่าช้า ควบคุมแรงกระตุ้นภายในได้ถูกต้องตามกาลเทศะ บริหารความเครียดที่เกิดขึ้นได้ดี มีความเป็นผู้นำ มีความสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุขทุกที่ ทั้งในบ้าน ในสถานศึกษา ในที่ทำงาน และในทุกสังคม

ส่วนคนที่วุฒิภาวะทางอารมณ์ต่ำ เวลาไปอยู่ที่ใดที่เห็นผู้อื่นมีความสุข หรือสนุกสนาน ก็จะเกิดความรู้สึกอิจฉาริษยา ความเจ็บช้ำน้ำใจ ความโกรธ ความคับข้องใจ ความวิตกกังวลหรือความกลัว ซึ่งผลักดันให้เกิดการแสดงออกในด้านต่างๆ เช่น ความก้าวร้าว ดวงตาเศร้าหมอง ความไม่ไว้วางใจ ความเฉยเมย การใช้คำพูดและการกระทำที่ไร้มารยาท อารมณ์ไม่มั่นคง เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย และไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับผู้อื่นได้ หงุดหงิดใจด้วยเรื่องเพียงเล็กน้อย ทั้งที่มันสามารถแก้ไขได้ ดังนั้น ไปอยู่ที่ไหนจึงทำลายบรรยากาศและไม่มีเพื่อนที่จริงใจ

ดังนั้น การพัฒนาวุฒิภาวะทางอารมณ์ จึงต้องใช้ทั้งการฝึกหัดในการเข้าสมาคมกับผู้อื่น ความอดทนในการพิจารณา รู้จักเก็บและรักษาอารมณ์ มีความจริงใจต่อตนเองและสังคมรอบข้าง รวมถึงการกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง ซึ่งมีองค์ประกอบในการพัฒนา 5 องค์ประกอบ คือ

1. การตระหนักรู้ในตนเอง (Self-awareness) คือ ประเมินจุดแข็งจุดอ่อนของตน รู้ชัดถึงคุณค่าและความสามารถของตนเอง มีความรู้ลึกที่สามารถชี้นำการตัดสินใจได้ดี

2. การจัดการกับอารมณ์ (Mood management) คือ ควบคุมอารมณ์ในด้านลบได้ ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมได้ดี

3. การให้กำลังใจตนเอง (Self-motivation) คือ ริเริ่มสร้างสรรค์ ใฝ่หาความสำเร็จ คิดบวก มองโลกในแง่ดี มีเป้าหมายในชีวิตที่เป็นจริง

4. การควบคุมความต้องการ (Impulse control) คือ มีสติยั้งคิด ให้ความสำคัญกับเหตุปัจจัย โปร่งใส มีหลักจริยธรรมและคุณธรรมในการดำเนินชีวิต

5. ทักษะมนุษย์ (People Skills) คือ เห็นอกเห็นใจและชอบช่วยเหลือคนอื่น

บ่อยครั้งที่เรามักเห็นผู้คน “พังไม่เป็นท่า” ด้วยสาเหตุจากเรื่องไม่เป็นเรื่อง เพียงเพราะขาดสติ ไม่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ ที่จะพิจารณาว่าสิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ หลายเรื่องที่ไม่น่าเกิด แต่ก็เกิด จึงมีปรากฏให้เห็นในข่าวแทบทุกวัน แม้วุฒิการศึกษาจะสูงส่งเพียงใดก็ไม่อาจช่วย แต่จะยิ่งน่าเวทนา หากบุคคลนั้นไม่มีวุฒิการศึกษา หรือมีการศึกษาน้อยแล้ว ยังไม่มีวุฒิภาวะอีกด้วย และเมื่อวุฒิภาวะบกพร่อง ย่อมส่งเสริมให้บุคคลเหล่านั้นกระทำสิ่งที่ไม่ควร

ยกตัวอย่างเช่น การเป็นผู้บริหารในองค์กรอันเป็นที่ยอมรับของสังคม แน่นอนว่านอกจากวิสัยทัศน์และการพิสูจน์ตัวเองในการทำงานแล้ว “วุฒิการศึกษา” คือส่วนประกอบสำคัญที่ช่วยเชิดชูเกียรตินั้น แต่หากผู้มีการศึกษาสูง ตำแหน่งใหญ่โต กระทำการเสมือนคนไม่มีวุฒิภาวะ เช่น การล่าสัตว์ป่า การลวนลามลูกจ้าง การพรากผู้เยาว์ ฯลฯ ย่อมทำให้ความดีและชื่อเสียงที่สั่งสมไว้สั่นคลอน

หรือแม้แต่การได้รับ “โอกาส” ที่ไม่ว่าใครต่างก็ถวิลหา หากแต่โอกาสซึ่งเสมือนสิ่งล้ำค่า ไปตกอยู่ในมือของคนที่ไม่มีวุฒิภาวะ ไม่รู้จักควบคุมอารมณ์และจิตใจตน โอกาสนั้นย่อมไม่ต่างจากอะไรสักอย่างที่เขาได้มาง่ายๆ จึงมองไม่เห็นว่าสิ่งที่เขาได้รับนั้นมีคุณค่าเพียงใด หรือเขาควรตอบแทนบุญคุณคนอย่างไร

การฝึกตนให้เป็นผู้ที่มี “วุฒิภาวะ” จึงไม่ต่างจากการเจริญสติ ซึ่งมีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตให้สงบสุขในทุกมิติ

จึงอาจกล่าวได้ว่า “วุฒิการศึกษา” มีความสำคัญในทางโลก ส่วน “วุฒิภาวะ” มีความสำคัญในทางธรรม

นอกจากตัวของคนคนนั้นจะต้องหมั่นฝึกจิตของตนให้คิดดี พูดดี ทำดี และกล้าเปลี่ยนแปลงตัวเองดังที่กล่าวมาแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ที่จะช่วยให้คนคนนั้นมีวุฒิภาวะมากขึ้นก็คือ บุคคลที่อยู่รอบข้างพวกเขา ซึ่งเป็นคนใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัวหรือเพื่อน ที่ย่อมรู้อยู่แก่ใจว่าพวกเขามีความบกพร่องทางอารมณ์ และเขาไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาลที่ทุกคนจะต้องทำความเข้าใจ

ดังนั้น คนรอบข้างที่สนิทกับบุคคลเหล่านี้ จึงพึงเป็นผู้ที่มี “สติ” ให้มากกว่า เพราะคนเหล่านี้ย่อมระบายความขุ่นเคืองใจจากมุมความคิดแคบๆ เลือกหยิบยกมาเล่าเฉพาะส่วนที่ตนเหมือนถูกกระทำ จึงควรรับฟังและให้คำแนะนำด้วยใจที่มีธรรมะ มิใช่การรับฟังให้จบๆ ไป หรือเข้าข้างพวกเขา เพียงเพราะกลัวเขาโกรธ หรือจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ซึ่งนั่นไม่ต่างอะไรจากการฆ่าเขาทางอ้อม

นอกจากจะไม่ช่วยให้เขามีวุฒิภาวะแล้ว ยังเหมือนเป็นการไปส่งเขา ให้เดินสู่หนทางชีวิตที่มืดบอด ในดินแดนแห่งนรกทางใจ

——————–

แหล่งอ้างอิง:

  • https://dict.longdo.com
  • หนังสือ อยู่ให้เขารัก จากให้เขาเสียดาย ตายให้เขาคิดถึง โดย สมพงศ์ สิงหา (ผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยาในการพัฒนาบุคลากร)

——————–

ขอบคุณภาพจาก: pixabay

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า