เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ชี้กลุ่มออฟโรดที่ถูกจับกุมพร้อมซากอุ้งเท้าหมีขอ ใช้เส้นทางเหมืองแร่เก่า เชื่ออ้างเข้าไปเที่ยวป่าด้วยการทำบุญ แนะจังหวัดประกาศห้ามร้านอาหารเลิกเมนูสัตว์ป่าเด็ดขาด เพราะค่านิยมกินเนื้อสัตว์ป่ายังมีตกค้าง
วันที่ 9 ต.ค. นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร แสดงความเห็นหลังเจ้าหน้าที่จับกุมกลุ่มผู้ต้องสงสัย ขบวนออฟโรด พร้อมซากอุ้งเท้าหมีขอ ในเขตอุทยานแห่งชาติไทรโยค จ.กาญจนบุรี เมื่อวันที่ 7 ต.ค.ว่า “เมืองกาญเป็นเมืองที่เคยเป็นแหล่ง “เที่ยวป่า” มายาวนาน รสนิยมของคนเมืองกาญหลายกลุ่ม ก็น่าจะยังชอบเที่ยวป่าหายิงสัตว์เล่นก็มี แม้จะไม่มากเหมือนก่อน ไม่กี่ปี่ที่แล้วเมืองกาญมีร้านอาหารที่มีเมนูสัตว์ป่า อยู่เป็นธรรมดา ปัจจุบันร้านอาหารที่โฆษณาว่า เป็นร้านอาหารป่าก็ยังมีทั่วไป มีสัตว์ป่าในเมนูบ้างก็เยอะ ร้านข้าวแกงข้างถนน ยังมีแกงสัตว์ป่าสงวน และสัตว์ป่าคุ้มครองขาย
เจ้าหน้าที่ไปตรวจจับส่วนใหญ่ไม่เจอจริง อาจจะเพราะหลบได้ บางทีก็เจอเนื้อสัตว์ป่าปลอม โดยใช้เนื้อหมู เนื้อวัวมาแช่อะไรบางอย่างเขาว่า มันจะเหมือนเนื้อเก้ง หรือ เลียงผา ส่งตรวจทางวิทยาศาสตร์ก็ไม่ใช่สัตว์ป่า แต่แปลกว่า มีเมนู หรือ ทำเนื้อปลอมขาย ถ้าไม่มีเนื้อสัตว์ป่าจริงก็ไม่มีความผิด แบบนี้จึงทำให้ค่านิยมการกินเนื้อสัตว์ป่า ที่กาญจนบุรียังมีอยู่ทั่วไป ได้สั่งกินของจริงของปลอมก็คงรู้สึกว่า อร่อยกว่ากินอาหารปกติ เป็นความรู้สึก หรืออร่อยจริงก็ไม่รู้
หลายปีที่แล้ว ถูกชวนไปร่วมพิธีโครงการปล่อยสัตว์ป่า ที่เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าสลักพระ มีผู้นำชุมชน ชาวบ้านถูกชวนมาร่วมงานด้วยตามธรรมเนียม พื้นที่ปล่อยสัตว์อยู่ลึกไปในทางป่า ผมติดรถเจ้าหน้าที่เข้าไป มีพิธีร่วมปฎิญานไม่กินเนื้อสัตว์ป่าไปตามเรื่องตามราว เสร็จเรื่องของผมก็กลับออกมาก่อนไม่อยากเป็นภาระให้ใครมาส่ง เลยขอนั่งรถผู้นำชุมชนออกมาด้วย ด้านหลังกระบะ ตอนนั้นผมไม่มีใครรู้จักมากนัก ชาวบ้านระดับแกนนำนั่งกันมาเต็มหลังรถไม่มีใครรูจักผม เขาคุยหัวเราะกัน เรื่องปฎิญาณไม่กินเนื้อสัตว์ป่าว่ายังไงเขาก็ไม่เลิกกิน กินมานานแล้ว เลิกไม่ได้ ผมก็เข้าใจอารมณ์ชาวบ้าน กึ่งๆ เมืองกึ่งป่า แบบนี้ได้

(แฟ้มภาพ)
กรณีของคณะปลัด กับ อส. คนเมืองกาญ นี่ก็อาจเป็นกรณีตกค้างของคนชอบทางนี้ ปัจจุบันป่ากาญจนบุรีที่เหลือ สัตว์ป่าก็อยู่ในอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเกือบทั้งสิ้น ในป่าสงวนด้านนอกไม่น่าจะมีสัตว์ป่า นอกจาก เก้ง หลงๆ มา หรือ กะรอกกะแต ป่าสงวนนี่เข้าง่ายไม่มีเจ้าหน้าที่แต่ก็แทบจะหมดแล้วทั้งป่า และสัตว์ป่า
ถ้าจะเที่ยวป่า ล่าสัตว์ ก็ต้องแอบเข้าเส้นทางที่ไม่มีด่านเจ้าหน้าที่ของหน่วยพิทักษ์ป่าในป่าอุทยานและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า นอกจากแอบก็อาจจะเข้าทางชุมชน ที่อยู่ในป่า วัด โรงเรียน หาข้ออ้างไปเยี่ยมเพื่อน ไปแจกของ ไปทำบุญ อะไร แล้วเอาปืนซุกไป เส้นทางเข้าป่าที่คณะปลัดเข้าไปเป็นเหมืองแร่เก่าปัจจุบันเลิกแล้ว ไม่มีชุมชน มีสำนักสงฆ์ อยู่ลึกๆ แห่งเดียว คณะนี้คงใช้เป็นข้ออ้างเข้าไปเที่ยวป่า โดยการทำบุญ มีเส้นทางแบบนี้อีกหลายเส้น แต่ก็ไม่มากนัก เจ้าหน้าที่คงพอดูได้ ดูอย่างคณะนี้ก็โดนจับ (หวังว่า จะมีที่ไม่โดนจับ ไม่มากนัก)
นอกจากนี้ถ้าจะแก้ที่ต้นเหตุ จังหวัดกาญจนบุรี ต้องรณรงค์เรื่องนี้อย่างจริงจังย้ำกับผู้นำชุมชนและข้าราชการ ผมคิดว่า ควรห้ามมิให้ร้านอาหาร ร้านข้าวแกง มีเมนูสัตว์ป่า แม้จะขายเนื้อสัตว์ป่าปลอมก็ตาม โดยประกาศของจังหวัด ไม่รู้อิงกฏหมายอะไรได้บ้าง อยากให้มีป้ายรณรงค์ของจังหวัดใหญ่ๆ ทั่วๆ ว่า ซื้อขายอาหารเนื้อสัตว์ป่าผิดกฏหมาย เรื่องการครอบครองซาก ตาม พรบ.สัตว์ป่าจังหวัดกาญจนบุรี น่าทำครับ”
ขอบคุณภาพบางส่วน FB : ศศิน เฉลิมลาภ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ลุยสแกนป่าไทรโยคเก็บหลักฐานมัด ‘แก๊งออฟโรด ล่าหมีขอ’
- คืบหน้า ฆ่าหมีขอ ! เผย “อดีตปลัด” มีเจตนาโกหก จนท. เพื่อเข้าเขตหวงห้าม
- เร่งพิสูจน์ซากอุ้งเท้าหมีขอ-ปลด “ปลัดร่วมแก๊งออฟโรด”
- ศรีสุวรรณ จี้ผู้ว่าฯ กาญจน์ ไล่ออก “ปลัด-อส.” ร่วมแก๊งล่าหมีขอ-นายกฯ ปัดตอบ
- รวบแก๊งออฟโรดล่า “หมีขอ” ในอุทยานแห่งชาติ พบปลัดอำเภอร่วมก๊วนด้วย
- แก๊งออฟโรด อ้างซื้อ ‘อุ้งเท้าหมีขอ’ จากชาวบ้าน-อุทยานฯ ไทรโยค แจ้ง 9 ข้อหา