SHARE

คัดลอกแล้ว

สำนักพระราชวัง เชิญ “ธงมหาราช” พระราชอิสริยยศแห่งพระมหากษัตริย์ ขึ้นบนยอดเสาเหนือพระบรมมหาราชวัง

“ธงมหาราชใหญ่” ที่โบกสะบัดอย่างสง่างามเหนือพระบรมมหาราชวัง สำนักพระราชวัง ได้ทำการเชิญ “ธงมหาราช” พระราชอิสริยยศแห่งพระมหากษัตริย์ ขึ้นบนยอดเสาเหนือพระบรมมหาราชวัง ในการเฉลิมพระราชมณเฑียร ตามโบราณราชประเพณี พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งพระมหากษัตริย์จะต้องประทับแรม ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เป็นเหตุการณ์สำคัญที่จะถูกบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. ของวันที่ 4 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562

สำหรับผืนธงรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสพื้นสีเหลือง มีรูปครุฑพ่าห์สีแดงอยู่ตรงกลาง เป็นธงที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ บัญญัติแบบอย่างขึ้นใหม่ ตามพระราชบัญญัติธงรัตนโกสินทร์ศก 129 เมื่อปี 2453 และใช้มาจนถึงพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 เรียกกันว่า ธงมหาราชใหญ่ ใช้แสดงพระราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์

ธงพระอิสริยยศ หมายถึง ธงที่ใช้หมายพระอิสริยยศของพระมหากษัตริย์และบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ตามลำดับชั้นต่างๆ ใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินหรือเสด็จในพิธีการต่างๆ อย่างเป็นทางการ ในประเทศไทยแบ่งธงพระอิสริยยศเป็น 7 ประเภท แต่ละประเภทยังแบ่งธงออกเป็นประเภทละ 2 ชนิด (คือชนิดใหญ่ (Standard) และชนิดน้อย (Board pennant) รวมทั้งสิ้น 14 ธง คือ

ธงพระอิสริยยศ

ของพระมหากษัตริย์ และบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์

  • ธงมหาราช (ธงสำหรับองค์พระมหากษัตริย์)
  • ธงราชินี (ธงสำหรับองค์สมเด็จพระราชินี)
  • ธงบรมราชวงศ์ (ธงสำหรับองค์สมเด็จพระบรมราชชนนี)
  • ธงเยาวราชฝ่ายหน้า (ธงสำหรับองค์สมเด็จพระยุพราช)
  • ธงเยาวราชฝ่ายใน (ธงสำหรับองค์พระวรชายาแห่งสมเด็จพระยุพราช)
  • ธงราชวงศ์ฝ่ายหน้า (ธงสำหรับองค์พระราชโอรส สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอหรือสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ แห่งพระมหากษัตริย์ทุกรัชกาล)
  • ธงราชวงศ์ฝ่ายใน (ธงสำหรับองค์พระราชธิดา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอหรือสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ แห่งพระมหากษัตริย์ทุกรัชกาล)

ธงอันเป็นเครื่องหมายแห่งประเทศไทย

แต่เดิมมาใช้ผ้าสีแดงเกลี้ยง ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ทรงมีพระราชดำริว่า เรือหลวงกับเรือราษฎร ควรมีเครื่องหมายสำคัญให้เห็นต่างกัน จึงมีพระบรมราชโองการ ฯ สั่งให้บรรดาเรือหลวงทั้งปวงทำรูปจักร อันเป็นนามสัญญาพระบรมราชวงศ์แห่งพระองค์ ลงไว้กลางธงพื้นแดงนั้น เพื่อเป็นเครื่องหมายใช้ในเรือหลวง ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้มีสารเศวตอันอุดมด้วยลักษณะ มาสู่พระราชสมภารถึงสามช้าง นับเป็นการพิเศษ อาศัยเหตุนั้นจึงได้มีพระบรมราชโองการ ฯ ให้ทำรูปช้างเผือก ลงไว้กลางวงจักรในธงเรือหลวงนั้นด้วย

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า เรือค้าขายของชนชาวสยามที่ใช้ธงแดงเกลี้ยงอยู่นั้น ไม่เป็นการสมควร เพราะจะไปซ้ำกับประเทศอื่น ควรใช้ธงอันมีเครื่องหมายเหมือนอย่างเรือหลวงทั่วไป แต่ให้ยกรูปจักรออกเสีย คงแต่รูปช้างเผือกบนพื้นแดง ให้ใช้ทั่วไปทั้งเรือรบหลวงและเรือราษฎร บรรดาที่เจ้าของเรือเป็นข้าขอบขัณฑสีมา มิให้เป็นการสับสนกับเรือของชาวต่างประเทศ และให้ทำรูปช้างเผือกบนพื้นสีขาบขึ้นอีกอย่างหนึ่ง สำหรับชักที่หน้าเรือหลวงทั้งปวง ให้เป็นที่สังเกตเห็นต่างกับเรือของราษฎรด้วย

ธงไอยราพต

อนึ่งเวลาเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนเรือหลวงหลายลำ ผู้คนทั้งปวงสังเกตไม่ได้ว่า เสด็จพระราชดำเนินโดยเรือลำใด จึงดำรัสเหนือเกล้า ฯ ให้ทำธงสำหรับพระองค์ขึ้นอีกอย่างหนึ่ง พื้นนอกสีแดง พื้นในสีขาบ กลางมีมหาพิชัยมงกุฎ และเครื่องสูง 7 ชั้น 2 ข้าง สำหรับชักขึ้นบนเสาเรือพระที่นั่ง และโปรดเกล้า ฯ ให้ชักขึ้นบนเสาในพระบรมมหาราชวังด้วย ต่อมา เมื่อมิได้เสด็จประทับอยู่ในพระมหานคร ต้องลดธงสำหรับพระองค์ลง เห็นแต่เสาเปล่าอยู่ดูมิบังควร จึงมีดำรัสเหนือเกล้า ฯ ให้ทำธงไอยราพต อย่างพระราชลัญจกรไอยราพต ประจำแผ่นดินสยามขึ้นใหม่ สำหรับใช้ชักขึ้นบนเสาในพระบรมมหาราชวัง ในเวลาที่มิได้ประทับอยู่ในพระมหานคร อีกธงหนึ่งด้วย

ธงบรมราชธวัชมหาสยามินทร์

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2434 ได้ตราพระราชบัญญัติธง ร.ศ. 110 ให้เพิ่มโล่ตราแผ่นดินไว้ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ ในโล่แบ่งเป็น 3 ช่อง ช่องบนเป็นรูปช้างไอยราพตอยู่บนพื้นเหลือง บอกนามสยามเหนือ สยามใต้ สยามกลาง ช่องล่างข้างขวาของโล่ เป็นรูปช้างเผือกอยู่บนพื้นชมพู หันหน้าออกไปข้างเสา เป็นนามสัญญาแห่งลาวประเทศ ช่องล่างข้างซ้ายของโล่ เป็นรูปกริชคดและตรงสองเล่ม ไขว้กันอยู่บนพื้นแดง บอกนามสัญญาแห่งมลายูประเทศ ส่วนบนของโล่มีรูปจักรีแทนอุณาโลม เรียกธงนี้ว่า ธงบรมราชธวัชมหาสยามินทร์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2440 (ร.ศ. 116 ) โปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติธง เปลี่ยนชื่อธงบรมราชธวัชมหาสยามินทร์ เป็น ธงมหาราช

ธงมหาราช (ธงสำหรับองค์พระมหากษัตริย์)

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงธงราชอิสริยยศ โดยตราเป็นพระราชบัญญัติธง ร.ศ. 129 (พ.ศ. 2453) เปลี่ยนรูปร่างลักษณะและสีของธงมหาราชใหม่ เป็นธงรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส พื้นสีเหลือง ตรงกลางมีรูปครุฑพ่าห์สีแดง ธงมหาราชใหม่นี้มี 2 ชนิดคือ ธงมหาราชใหญ่ และธงมหาราชน้อย

ธงมหาราชใหญ่

เป็นธงในหมวดธงพระอิสริยยศสำหรับพระมหากษัตริย์ ตามพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช 2522 มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส พื้นธงสีเหลือง มีรูปครุฑพ่าห์สีแดงอยู่ตรงกลาง เมื่อเชิญธงมหาราชใหญ่ขึ้น ณ สถานที่แห่งใด ย่อมเป็นเครื่องหมายแสดงว่า พระมหากษัตริย์ประทับ ณ สถานที่นั้น โดยนับแต่นี้ จะใช้เป็นสัญลักษณ์แทน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในหลวงรัชกาลที่ 10

ธงมหาราชใหญ่ซึ่งเชิญขึ้น ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันศุกร์ ที่ 2 ธันวาคม พุทธศักราช 2559 เวลา 08.00 น. เพื่อเป็นเครื่องหมายว่า พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิตเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

ธงมหาราชน้อย

ผืนธงตอนต้นมีลักษณะ และสีเช่นเดียวกับธงมหาราชใหญ่ แต่กว้างไม่เกิน 60 เซนติเมตร ตอนปลายเป็นชายต่อสีขาว แปลงเป็นรูปธงยาวเรียว ปลายสุดกว้างครึ่งหนึ่งของตอนต้น ปลายธงตัดแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึก 3 ใน 8 ส่วน ของความยาวผืนธง ความยาวผืนธงเป็น 8 เท่าของความยาวตอนต้น ธงนี้เมื่อใช้แทนธงมหาราชใหญ่ เป็นเครื่องแสดงให้ทราบว่า โปรดเกล้า ฯ ให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ

ธงราชินี (ธงสำหรับองค์สมเด็จพระราชินี)

เมื่อปี พ.ศ. 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปยังประเทศต่าง ๆ ในยุโรป ได้โปรดเกล้า ฯ สถาปนาสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น พระบรมราชินี และแต่งตั้งให้ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้แก้ไขพระราชบัญญัติธง ร.ศ. 110 บัญญัติให้มีธงราชินีขึ้นเป็นครั้งแรก ผืนธงพื้นนอกสีแดง กว้าง 10 ส่วน ยาว 15 ส่วน ชายธงตัดเป็นรูปอย่างหางนกแซงแซว ลึกเพียงส่วนที่ 4 ของด้านยาว พื้นในตัดมุมแฉกเข้ามาเป็นสีขาบ มีขนาดกว้าง 6 ส่วน ยาว 8 ส่วน ในพื้นกลางที่เป็นสีขาบ มีเครื่องหมายอย่างธงมหาราช

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติธงขึ้นใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2453 ได้เปลี่ยนรูปร่างและแบบของธงราชินีขึ้นใหม่ โดยกำหนดให้มี 2 แบบ คือ ธงราชินีใหญ่ และธงราชินีน้อย ผืนธงพระราชอิสริยยศสำหรับสมเด็จพระบรมราชินีนับแต่นั้นมา

ธงราชินีใหญ่

ผืนธงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน พื้นธงสีเหลือง ตอนต้นเหมือนธงมหาราชใหญ่ ต่างกันที่ตอนปลายตัดเป็นรูปหางนกแซงแซว

ธงราชนีน้อย

ธงราชนีน้อย

มีลักษณะและสีเช่นเดียวกับธงมหาราชน้อย เว้นแต่ชายต่อที่เป็นปลายธงเป็นสีแดง ธงนี้เมื่อใช้แทนธงราชินีใหญ่ เป็นเครื่องแสดงให้ทราบว่า โปรดเกล้า ฯ ให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ

ธงบรมราชวงศ์ใหญ่ ธงบรมราชวงศ์น้อยฝ่ายใน

ธงบรมราชวงศ์ (ธงสำหรับองค์สมเด็จพระบรมราชชนนี)

สร้างขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2522 เพื่อถวายพระราชอิสริยยศ แด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีอยู่ 2 แบบคือ ธงบรมราชวงศ์ใหญ่ และธงบรมราชวงศ์น้อย

ธงบรมราชวงศ์ใหญ่

ผืนธงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 1 ส่วน ยาว 3 ส่วน พื้นธงสีเหลือง ปลายตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึก 1 ใน 3 ส่วน ของความยาวของผืนธง ที่ตรงกลางของผืนธงตอนต้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสสีขาบ ขนาดกว้างยาวครึ่งหนึ่งของความกว้างของผืนธง ภายในรูปสี่เหลี่ยมดังกล่าวมีรูปมงกุฎขัติยนารี ประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า 2 ชั้นเหนือตั่ง มีตั่งลดตั้งฉัตรบัว 5 ชั้นอยู่ 2 ข้าง รูปทั้งหมดดังกล่าวเป็นสีเหลืองเข้ม

ธงบรมราชวงศ์น้อย

แบ่งออกเป็นสองตอน ตอนต้นมีลักษณะและสีอย่างเดียวกับตอนต้นของธงบรมราชวงศ์ใหญ่ แต่กว้างไม่เกิน 60 เซนติเมตร ตอนปลายเป็นชายต่อสีแดงเป็นรูปธงยาวเรียว ตอนปลายสุดกว้างครึ่งหนึ่งของตอนต้น ปลายธงตัดเป็นรูปหางนกแซงแซว ลึก 3 ใน 8 ส่วนของ ความยาวของผืนธง ความยาวของผืนธงยาวเป็น 8 เท่า ของความกว้างของผืนธงตอนต้น ธงนี้เมื่อใช้แทนธงบรมราชวงศ์ใหญ่ เป็นเครื่องแสดงให้ทราบว่า โปรดเกล้า ฯ ให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ

ธงเยาวราชใหญ่ ธงเยาวราชน้อย

ธงเยาวราช (ธงสำหรับองค์สมเด็จพระยุพราช)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2440 ผืนธงเป็นสีขาบ มีขนาดกว้าง 5 ส่วน ยาว 6 ส่วน เครื่องหมายที่กลางธง เช่นเดียวกับธงราชธวัชสยามินทร์ คือ มีพระมหามงกุฎ โล่ตราแผ่นดิน แต่ลดฉัตร 7 ชั้น สองข้างเป็นฉัตร 5 ชั้น บัญญัติไว้ว่า สำหรับเป็นเครื่องหมายในพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้บัญญัติรูปลักษณะธงเยาวราช โดยยกเลิกเครื่องหมายพระมหามงกุฎ โล่ตราแผ่นดิน ฉัตร 5 ชั้น และกำหนดลักษณะกลางธง เป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสสีเหลือง มีครุฑพ่าห์สีแดงอยู่กลาง เช่นเดียวกับธงมหาราช ธงเยาวราชมีอยู่ 2 แบบคือ ธงเยาวราชใหญ่ และธงเยาวราชน้อย

ธงเยาวราชใหญ่

ผืนธงเป็นรูปสีเหลี่ยมจตุรัส พื้นธงมี 2 สี รอบนอกเป็นสีขาบ รอบในเป็นสีเหลือง ขนาดความกว้างยาวเป็นครึ่งหนึ่งของรอบนอก มีรูปครุฑพ่าห์อยู่ตรงกลาง

ธงเยาวราชน้อย

ผืนธงตอนต้น มีลักษณะและสี เช่นเดียวกับธงเยาวราชใหญ่ แต่กว้างไม่เกิน 60 เซนติเมตร ตอนปลายเป็นชายต่อสีขาบ เป็นรูปธงยาวเรียว ตอนปลายสุดกว้างครึ่งหนึ่งของตอนต้น ปลายธงตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึก 3 ใน 8 ส่วน ของความยาวของผืนธง ความยาวของผืนธงยาวเป็น 8 เท่า ของความกว้างของตอนต้น ธงนี้เมื่อใช้แทนธงเยาวราชใหญ่ เป็นเครื่องแสดงให้ทราบว่า โปรดเกล้า ฯ ให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ

 

ธงเยาวราชใหญ่ฝ่ายใน ธงเยาวราชน้อยฝ่ายใน

ธงเยาวราชฝ่ายใน (ธงสำหรับองค์พระวรชายาแห่งสมเด็จพระยุพราช)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้ตราไว้เป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2442 มีลักษณะเหมือนธงเยาวราช แต่ตัดปลายเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ผืนธงเป็นพื้นสีขาบ ขนาดกว้าง 5 ส่วน ยาว 6 ส่วน เครื่องหมายกลางธง เช่นเดียวกับธงบรมราชธวัชมหาสยามินทร แต่ลดฉัตร 7 ชั้น สองข้างเป็นฉัตร 5 ชั้น ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เปลี่ยนรูปกลางผืนธง เป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสสีเหลือง มีรูปครุฑพ่าห์สีแดงตรงกลาง พื้นธงรอบนอกสีขาบ เช่นเดียวกับธงประจำพระองค์สมเด็จพระยุพราช ธงเยาวราชฝ่ายในมีอยู่ 2 แบบ คือ ธงเยาวราชใหญ่ฝ่ายใน และธงเยาวราชเล็กฝ่ายใน

ธงเยาวราชใหญ่ฝ่ายใน

ผืนธงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาดกว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน ตอนต้นเหมือนธงเยาวราชใหญ่ ตอนปลายเป็นสีขาบ ตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซวลึก 1 ใน 3 ของความยาวผืนธง

ธงเยาวราชน้อยฝ่ายใน

มีลักษณะและสีเช่นเดียวกับธงเยาวราชน้อย เว้นแต่ชายต่อเป็นสีแดงธงนี้ใช้แทนธงเยาวราชใหญ่ฝ่ายใน แสดงว่าโปรดให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ

 

ธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายหน้า ธงราชวงศ์น้อยฝ่ายหน้า

ธงราชวงศ์ฝ่ายหน้า (ธงสำหรับองค์พระราชโอรส สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอหรือสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ แห่งพระมหากษัตริย์ทุกรัชกาล)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้บัญญัติให้มีธงสำหรับพระราชวงศ์ครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2440 มีลักษณะเป็นธงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 5 ส่วน ยาว 6 ส่วน พื้นธงสีขาบ กลางธงเป็นรูปโล่ตราแผ่นดิน ด้านบนโล่มีรูปจักรีอยู่ภายใต้พระมหามงกุฎ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2442 ได้แบ่งธงราชวงศ์ออกเป็น ธงราชวงศ์ฝ่ายหน้า และธงราชวงศ์ฝ่ายใน โดยที่ธงราชวงศ์ฝ่ายใน ปลายธงตัดเป็นรูปหางนกแซงแซว ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2453 ได้เปลี่ยนแปลงรูปสัญลักษณ์กลางธง เป็นดวงกลมสีเหลือง มีรูปครุฑพ่าห์สีแดงอยู่ภายในดวงกลม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่นำมาจากธงมหาราช ได้กำหนดให้ธงราชวงศ์น้อยฝ่ายหน้า ต่อชายธงเป็นสีขาบ ตัดปลายเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ส่วนธงราชวงศ์น้อยฝ่ายใน ต่อชายธงเป็นสีแดง ตัดปลายธงเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว

ธงราชวงศ์ฝ่ายหน้า เป็นธงสำหรับองค์พระราชโอรส สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ หรือ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอแห่งพระมหากษัตริย์

ธงราชวงศ์ฝ่ายใน เป็นธงสำหรับองค์พระราชธิดา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ หรือ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ แห่งพระมหากษัตริย์

ธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายหน้า

ผืนธงเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสพื้นสีขาบ มีดวงกลมสีเหลือง อยู่ตรงกลางผืนธง มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ยาวครึ่งหนึ่งของความกว้างของผืนธง ภายในดวงกลมมีรูปครุฑพ่าห์สีแดง

ธงราชวงศ์น้อยฝ่ายหน้า

ผืนธงตอนต้นมีลักษณะและสี เช่นเดียวกับธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายหน้า แต่กว้างไม่เกิน 60 เซนติเมตร ตอนปลายเป็นชายต่อสีขาว แปลงเป็นรูปธงยาวเรียว โดยให้ปลายสุดกว้างครึ่งหนึ่งของตอนต้น ปลายธงตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึก 3 ใน 8 ส่วนของผืนธง ความยาวของผืนธงเป็น 8 เท่าของความกว้างตอนต้น ธงนี้เมื่อใช้แทนธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายหน้า แสดงว่าโปรดให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ

 

ธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายใน ธงราชวงศ์น้อยฝ่ายใน

ธงราชวงศ์ฝ่ายใน (ธงสำหรับองค์พระราชธิดา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอหรือสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ แห่งพระมหากษัตริย์ทุกรัชกาล)

ธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายใน

ผืนธงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน ตอนต้นของผืนธง เช่นเดียวกับธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายหน้า ตอนปลายเป็นสีขาบ ตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึก 1 ใน 3 ส่วนของความยาวของผืนธง

ธงราชวงศ์น้อยฝ่ายใน

มีลักษณะและสี เช่นเดียวกับธงราชวงศ์น้อยฝ่ายหน้า เว้นแต่ชายต่อเป็นสีแดง ธงนี้เมื่อใช้แทนธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายใน แสดงว่าโปรดให้งดการยิงสลุต ถวายคำนับ

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก :

พิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย, สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง, www.facebook.com/RoyalArchivesofOHM/, และ https:// https://lifestyle.campus-star.com/knowledge/43502.html

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า