ประเด็น – สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ชวนชม “ฝนดาวตกลีโอนิดส์” หรือ ฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโต หลังเที่ยงคืน วันที่ 17 พ.ย. ตั้งแต่ตี 2 ไป จนถึงรุ่งเช้าวันที่ 18 พ.ย. ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เผยตรงคืนเดือนมืดไม่มีแสงจันทร์รบกวน
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ในเดือนพฤศจิกายนของทุกๆ ปี ช่วงระหว่างวันที่ 17 – 18 พฤศจิกายน จะเกิดปรากฏการณ์ “ฝนดาวตกลีโอนิดส์” หรือฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโต ในปีนี้ สังเกตได้ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนของวันที่ 17 พฤศจิกายน 2560 ต่อเนื่องไปถึงรุ่งเช้าของวันที่ 18 พฤศจิกายน 2560 กลุ่มดาวสิงโตจะโผล่พ้นจากขอบฟ้าในเวลาประมาณ 01.00 น. ของวันที่ 18 พฤศจิกายน ดังนั้นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการสังเกตปรากฏการณ์ ฝนดาวตกลีโอนิดส์มากที่สุด คือเวลาประมาณ 02.00 น. เป็นต้นไปจนถึงรุ่งเช้า ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณใกล้กลุ่มดาวสิงโต ซึ่งเป็นศูนย์กลางการกระจายของฝนดาวตก
แม้ว่าประเทศไทยจะมีโอกาสมองเห็นฝนดาวตกดังกล่าวในจำนวนไม่มากนัก และมีให้เห็นในปริมาณน้อยแต่ฝนดาวตกลีโอนิดส์ถือเป็นฝนดาวตกที่มีความสว่างมากที่สุด เนื่องจากมีการเคลื่อนที่ผ่านเข้ามาในชั้นบรรยากาศในอัตราเร็วถึง 71 กิโลเมตรต่อวินาที สำหรับฝนดาวตกลีโอนิดส์ เกิดจากสายธารเศษฝุ่นของดาวหาง 55 พี เทมเพล – ทัตเทิล (55P Temple – Tuttle) ที่ยังหลงเหลือในวงโคจรของดาวหางตัดผ่านวงโคจรของโลก ทำให้เศษฝุ่นของดาวหางเหล่านั้นเสียดสีกับชั้นบรรยากาศโลก เกิดการเผาไหม้จนเห็นเป็นแสงสว่างวาบคล้ายลูกไฟวิ่งพาดผ่านท้องฟ้า โดยมีความเร็วสูง 71 กิโลเมตรต่อวินาที ฝนดาวตกลีโอนิดส์ เป็นฝนดาวตกที่มีความสว่างมากที่สุด จึงได้รับการขนานนามว่า “ราชาแห่งฝนดาวตก”
นอกจากฝนดาวตกลีโอนิดส์แล้ว กลางเดือนธันวาคมยังมีฝนดาวตกเจมินิดส์หรือฝนดาวตกคนคู่ มาให้ได้ชมเป็นปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ส่งท้ายปี 2560 อีกด้วย สังเกตได้ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนของวันที่ 14 ธันวาคม ต่อเนื่องไปจนถึงเช้ามืดของวันที่ 15 ธันวาคม 2560