ประเด็นคือ – คืบหน้า หลังจากมีการร้องเรียนว่า สถานีสูบน้ำชายหาดพัทยาใต้ปล่อยน้ำเสียลงทะเล ล่าสุดจากการตรวจสอบของผู้สื่อข่าว ยังมีปล่อยน้ำเสียอยู่ จนท.อ้าง จำเป็นต้องระบายน้ำเสียรวมไปถึงน้ำฝนลงสู่ทะเลอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันเครื่องจักรจะได้รับความเสียหาย และป้องกันน้ำท่วมขังชายหาด
จากกรณีที่เคยเกิดปัญหาการปล่อยน้ำเสียและขยะมูลฝอยลงสู่พื้นที่หลังสถานีสูบน้ำชายหาดพัทยาใต้ จ.ชลบุรี ในช่วงที่มีปรากฎการณ์ฝนตกอย่างหนักเมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา กระทั่งกรมควบคุมมลพิษ ต้องเข้ามาตรวจสอบก่อนจะออกมาระบุว่าน้ำทะเลบริเวณดังกล่าวมีค่าแบคทีเรียโคลิฟอร์ม เกินมาตรฐานที่รัฐกำหนด ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพของนักท่องเที่ยวได้
ขณะที่เมืองพัทยาออกมาชี้แจงว่าปัญหาดังกล่าวเกิดจากปริมาณน้ำเสียในท่อค้างสะสมจากปัญหาความเสื่อมโทรมของระบบบำบัดที่ใช้งานมานานกว่า 17 ปี และมีปริมาณเสียเกินการรองรับ โดยระบบจะสามารถรับน้ำเสียได้ในปริมาณ 65,000 ลบ.ม./วัน
ขณะที่น้ำเสียของเมืองพัทยาปัจจุบันมีปริมาณอยู่ที่ 80,000 ลบ.ม.ต่อวัน ขณะที่ท่อระบายเหล่านี้ใช้เป็นท่อรวมเดียวกับการรวบรวมน้ำเสียและน้ำฝน จึงทำให้น้ำมีการปะปนกันก่อนจะปล่อยระบายลงสู่ทะเลจนเกิดปัญหาขึ้น
ล่าสุดวันนี้ (4 ต.ค. 60) ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณหลังสถานีสูบน้ำเสีย หน้าบริเวณชาย หาดพัทยา ท่าเทียบเรือเก่าพัทยาใต้ ปากทางเข้าวอล์คกิ้งสตรีท ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี อีกครั้ง หลังจากพบว่าในพื้นที่เมืองพัทยาและใกล้เคียงได้เกิดพายุฝนตกกระหน่ำลงมาอย่างหนักในช่วงกลางดึกและช่วงเช้าที่ผ่านมา กินเวลานานหลายชั่วโมง
ซึ่งเบื้องต้นจากการตรวจสอบพบว่าสภาพน้ำในบริเวณนี้ยังคงมีปัญหาความสกปรก ด้วยมีลักษณะขุ่นดำข้นเป็นตะกอน รวมทั้งเศษสิ่งปฏิกูลบางส่วนที่ไหลมาตามท่อระบบระบายเดิมที่กำลังรอการแก้ไข ทำให้น้ำทะเลในบริเวณชายหาดพัทยาใต้มีสีขุ่นดำกระจายเป็นวงกว้างกว่า 300 ตารางเมตร ขณะที่บริเวณตลอดแนวชายหาด ยังคงมีเศษซากของขยะและสิ่งปฏิกูลอยู่เกลื่อนกลาด ส่งผลให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีด้านสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก
สำหรับเหตุการณ์ดังกล่าว เจ้าหน้าที่สำนักการช่างสุขาภิบาล ในส่วนของผู้ดูแลอาคารสูบน้ำชายหาดพัทยา เปิดเผยว่า เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณน้ำภายในบ่อสูบน้ำซึ่งเป็นบ่อรองรับน้ำเสียตลอดแนวชายหาดพัทยาเต็มเปี่ยมเข้าขั้นวิกฤต จึงมีความจำเป็นต้องระบายน้ำเสียรวมไปถึงน้ำฝนลงสู่ทะเลอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันเครื่องจักรจะได้รับความเสียหาย และป้องกันน้ำท่วมขังชายหาด
แม้จะทำให้น้ำทะเลมีสีดำทำให้เสื่อมเสียภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว แต่ต้องตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่ง เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนจากน้ำท่วมขังให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่สัญจรไปมา อย่างไรก็ตามปัจจุบันสภาเมืองพัทยาได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 19 ล้านบาทเพื่อเร่งซ่อมแซมระบบอย่างเร่งด่วนแล้ว