ประเด็นคือ – สถาบันวิจัย จ.นครราชสีมา ตรวจสอบฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์ซากดึกดำบรรพ์ ใน อ.เทพารักษ์ ยืนยันเป็นของจริง
วันนี้ (8 ธ.ค. 60) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน และทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือเฉลิมพระเกียรติ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ตรวจสอบซากฟอสซิลไดโนเสาร์ จำนวน 5 ชิ้น หลังจากมีชาวบ้านในพื้นที่ได้ขุดพบซากฟอสซิลไดโนเสาร์ บริเวณบ้านเทพารักษ์ หมู่ 14 ต.เทพารักษ์ อ.เทพารักษ์ อยู่ในที่นาและไร่มันสำปะหลัง
จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่าฟอสซิลที่พบจำนวน 5 ชิ้น เป็นกระดูกไดโนเสาร์ ในช่วงยุคไทรแอสซิก ประมาณ 130 ล้านปี โดยกระดูกที่พบเป็นกระดูกสันหลังและท่อนขา สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นไดโนเสาร์ ตระกูล ไซโลพ่อต ไดโนเสาร์ชนิดกินพืช คอยาว หางยาว เนื่องจากบริเวณที่พบสันนิษฐานเหตุการณ์ได้ว่า มีสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์อาศัยอยู่ในช่วงเวลานั้น
ด้านธรณีวิทยา เชื่อว่าเป็นซากดึกดำบรรพ์โบราณ ในยุคไทรแอสซิก ประมาณ 200 ล้านปี และได้ทำการเก็บรักษาไว้ภายในสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน จ.นครราชสีมา ในปี พ.ศ 2535 พร้อมกับฟอสซิลหอยกาบคู่น้ำจืดจำนวนมาก โดยการค้นพบฟอสซิลชิ้นส่วนกระดูกไดโนเสาร์ในครั้งนี้ นับว่าเป็นครั้งแรกของการค้นพบใน จ.นครราชสีมา และเตรียมกั้นบริเวณที่พบฟอสซิลไดโนเสาร์ทั้งหมด โดยเตรียมขุดค้นหาชิ้นส่วนไดโนเสาร์เพิ่ม เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรณีวิทยาแห่งแรกของ จ.นครราชสีมา