ประเด็นคือ – สภาเกษตรกร จ.สกลฯ ขานรับปลูกกัญชา เพื่อเป็นยารักษาโรค หลังกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกกฎกระทรวง การขออนุญาตและการอนุญาตผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 4 หรือในประเภท 5 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้รัฐมนตรีสามารถอนุญาตให้มีการเพาะปลูกพืชกัญชาเพื่อสกัดเป็นยารักษาโรค ในพื้นที่ที่รัฐมนตรีกำหนด เเต่ต่อมา อย.ได้ออกมาชี้เเจงว่า ตามกฎให้ปลูกแค่กัญชง และยังไม่เคยอนุญาตให้ปลูกในพื้นที่เป็นไร่ ตามที่เป็นข่าว
ภายหลังจากนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้เข้าพบ นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงานป.ป.ส.) และผู้บริหารระดับสูง เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 61 ซึ่งในการเข้าพบมีการพูดคุยกันที่เป็นประโยชน์
และทราบว่า ทางกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกกฎกระทรวง การขออนุญาตและการอนุญาตผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 4 หรือในประเภท 5 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2560 ให้รัฐมนตรีสามารถอนุญาตให้มีการเพาะปลูกพืชกัญชาเพื่อสกัดเป็นยารักษาโรคในพื้นที่ที่รัฐมนตรีกำหนด
โดยมีความเห็นร่วมกันว่าพื้นที่กำหนดพื้นที่แรกคือ จ.สกลนคร เพราะเป็นต้นน้ำสงคราม เทือกเขาภูพาน เป็นแหล่งกำเนิดพันธุ์พืชกัญชาที่ดีที่สุด
ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 16 ม.ค. 61 นายบุญฮง ยอดหอ ประธานสภาเกษตรกร จ.สกลนคร กล่าวว่า เบื้องต้นก่อนหน้านี้ได้มีโอกาสได้พูดคุยกับคณะแพทย์และทีมวิจัยไปแล้วบางส่วน ตอนนี้ทราบรายละเอียดทั้งหมดแล้วว่า จะดำเนินการต่ออย่างไร
โดยการรับแนวทางปฎิบัติภายในเดือนหน้าจะมีการประชุม เพื่อคัดสรรเกษตรกรที่มีคุณภาพร่วมทำโครงการ โดยยึดหลักปฎิบัติที่ดี มีจริยธรรมสูง เพราะเป็นพืชควบคุม และไม่นำไปใช้ผิดประเภท สำหรับพื้นที่นำร่อง 5,000 ไร่ ที่จะนำไปปลูกในเขตทหาร บนเทือกเขาภูพาน จังหวัดสกลนคร เพื่อการควบคุมและเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่นำไปใช้ในทางที่มีผลกระทบต่อประเทศ
ถามว่าเกษตรกรที่มานั้นมีฝีมือไหม ยอมรับว่ามีฝีมือ หลายท่านเคยปลูกกันมานานตั้งแต่อดีต เพราะพื้นที่บนเทือกเขาภูพานสภาพอากาศเย็นชื้นเหมาะแก่การเจริญเติบโต แม้กัญชาจะเป็นพืชเมืองร้อน แต่จะชอบอากาศเย็น ดังจะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาจังหวัดสกลนคร มีการเผาตัดทำลายอย่างต่อเนื่อง จนผู้กระทำผิดหยุดไป คราวนี้ดึงกลับมาใหม่ให้อยู่ภายใต้กฎหมายปลูกในพื้นที่ปิด
เชื่อว่าอนาคตจะเป็นผลดีต่อเกษตรกร ประเทศชาติ และผู้ป่วยในหลายโรค โดยเฉพาะโรคมะเร็งที่คร่าชีวิตอันดับ 1 ของคนไทย ทุกคนจะได้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในราคาถูก และรัฐไม่ต้องนำเข้ายารักษาโรคราคาแพง
นายบุญฮง กล่าวว่าอีก ตอนนี้อยากให้ทุกคนฟังอย่างเข้าใจ ไม่ใช่เรื่องตลกที่คิดว่า รัฐจะให้ปลูกเพื่อมาเสพติด อันนี้ไม่ใช่ ให้คิดใหม่ และวอนคนสกลนครเปิดใจให้กว้างว่า รัฐจะเข้ามาควบคุมอย่างรัดกุมทุกขั้นตอนและใช้สำหรับวงการแพทย์เท่านั้น ไม่ควรเอามาล้อเล่น ขำขันว่า สกลนคร เป็นเมืองแห่งกัญชามอมเมาประชาชน
ต่อไปสกลนคร จะต้องเป็นศูนย์กลางแห่งยารักษาโรคจากกัญชา เป็นศูนย์วิจัย พัฒนา เป็นสถานที่สอนเกี่ยวกับการสกัดยาให้นักศึกษาแพทย์ และวงการแพทย์ได้พัฒนายิ่งขึ้น และมีสถานที่รักษาเป็นโรงพยาบาลขนาด 80 เตียงด้วย
“ตอนนี้เราต้องช่วยกันตักตวงทรัพยากรที่มีอยู่ในมือ อย่าให้ต่างชาติกุมความรู้ความสามารถของคนไทยเรา และสำหรับสายพันธุ์ไม่ใช่สายพันธุ์ทั่วไป เป็นสายพันธุ์เฉพาะที่นำมาปลูกเพื่อให้ได้ตัวยารักษาที่ดีที่สุด” นายบุญฮง กล่าว
จากประเด็นดังกล่าว วันนี้ (16 ม.ค. 61) นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกมาชี้แจงว่า ที่ผ่านมา ตามกฎกระทรวงพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มีการอนุญาตให้ปลูกเฮมพ์ หรือ ที่รู้จักกันว่า กัญชง ซึ่งเป็นพืชชนิดย่อยของพืชกัญชา แต่ในส่วนของกัญชา จะต้องขออนุญาตตามกฎกระทรวง ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของการผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติด
ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้อนุญาตให้มีการครอบครองพืชกัญชาเพื่อใช้ในโครงการศึกษาวิจัยและใช้ประโยชน์ในการแพทย์ แต่ยังไม่เคยอนุญาตให้ปลูกในพื้นที่เป็นไร่ ตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด