SHARE

คัดลอกแล้ว

ภาพจาก วัดชูจิตธรรมาราม พระอารามหลวง

วันที่ 26 ตุลาคม 2561 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ พระอุโบสถ วัดชูจิตธรรมาราม พระอารามหลวง หมู่ 1 ต.สนับทึบ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่ง มูลนิธิมหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย และผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันจัดขึ้นเพื่อถวายปัจจัยสมทบทุนค่าภัตตาหาร และการศึกษาของพระสงฆ์ สามเณร รวมถึงทำนุบำรุงศาสนสถาน

วัดชูจิตธรรมาราม พระอารามหลวง ตั้งอยู่ใน มหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย มี พระราชวัชราภรณ์ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส เป็นสถานศึกษาของพระภิกษุ สามเณร ซึ่งมาจากทั่วทุกภาคของประเทศ

ภาพจาก วัดชูจิตธรรมาราม พระอารามหลวง

โดย พระราชวัชราภรณ์ เจ้าอาวาสวัดชูจิตธรรมาราม พระอารามหลวง ได้กล่าวว่า “การทอดกฐินนั้น เป็นพิธีสำคัญทางพระพุทธศาสนา ที่โยมให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เมื่อพระภิกษุจำพรรษาครบ 3 เดือน วัดต่างๆ ก็จะประกอบพิธีนี้ขึ้น ซึ่งตามพุทธบัญญัติ พระพุทธเจ้าทรงกำหนดให้ถวายผ้ากฐินหลังออกพรรษาแล้วภายในระยะ 1 เดือน (ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 – 15 ค่ำ เดือน 12) การทอดกฐินนั้น ปีหนึ่งมีเพียงครั้งเดียวเท่านั้น เรียกว่าเป็น กาลทาน

พระราชวัชราภรณ์กล่าวต่อไปว่า วัดชูจิตธรรมมาราม อยู่ในความดูแลของมูลนิธิมหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย และมูลนิธิสิรินธร โดยวัดแห่งนี้เป็นสถาบันการศึกษาของคณะสงฆ์ ที่จัดให้มีการสอนทั้งทางโลกและทางธรรม ตามพระดำริของ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)

ภาพจาก วัดชูจิตธรรมาราม พระอารามหลวง

“พระองค์มีพระดำริที่จะสร้างสถาบันการศึกษาของสงฆ์เห่งนี้ขึ้น เพื่อให้พระภิกษุ สามเณร ได้เข้าเรียนหลักธรรมพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นศาสนทายาทในการเผยแผ่พระศาสนาต่อไป แต่ถ้าเรียนทางธรรมอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอ พระองค์ทรงปรารภให้มีการเรียนการสอนในสายสามัญด้วย เพื่อให้พระภิกษุ สามเณร นำความรู้ทางโลกและทางธรรมจากหลักสูตรของสถาบัน ไปเผยแผ่พระศาสนาได้สะดวกยิ่งขึ้น

“ปัจจุบัน ถ้าพระศึกษาธรรมะอย่างเดียว โดยไม่ได้ศึกษาวิชาการทางโลก เดี๋ยวจะพูดกับชาวบ้านไม่รู้เรื่อง สถาบันแห่งนี้จึงให้ความรู้ทั้งสองด้าน ทั้งทางธรรม และสายสามัญ (ทางโลก) หลังจากจากพระภิกษุจบไปแล้ว นอกจากเผยแผ่พระศาสนาในประเทศ ยังเผยแผ่พระศาสนายังต่างประเทศอีกด้วย”

โดยในปัจจุบัน วัดชูจิตธรรมาราม มี วัดพุทธบารมี ที่ไต้หวัน เป็นวัดสาขา เพื่อต่อยอดการศึกษาของพระภิกษุ สามเณร ที่จะไปปฏิบัติศาสนกิจในต่างประเทศ เมื่อศึกษาจบในระดับชั้นต่างๆ ของมหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัยเเล้ว

ภาพจาก วัดชูจิตธรรมาราม พระอารามหลวง

ลำดับต่อมา ศาสตราจารย์ หิรัญ รดีศรี ประธานมูลนิธิมหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย ได้กล่าวว่า วัดชูจิตธรรมาราม ก่อตั้งขึ้นจากพระดำริ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)

พระองค์ทรงสร้างวัดนี้ขึ้นเพื่อช่วยเหลือเด็กยากจน ให้สามารถเรียนต่อชั้นมัธยมต้นและมัธยมปลายได้ โดยทางวัดจะดูแลค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ของศาสนาสถานและสถาบันทางการศึกษาแห่งนี้ โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิมหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย และมูลนิธิสิรินธร

วัดชูจิตธรรมาราม พระอารามหลวง ในมหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย เปิดรับพระภิกษุสามเณรเข้าศึกษา เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2516 เริ่มแรกใช้ชื่อว่า สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย สาขาวังน้อย เป็นที่รู้จักของประชาชนโดยทั่วไปว่า วิทยาลัยสงฆ์วังน้อย  ต่อมาได้ขอตั้งเป็นวัดชื่อ วัดชูจิตธรรมาราม

วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2520 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ขณะดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชทานพระนามาภิไธย มหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย และทรงพระราชทานพระนามาภิไธย่อว่า ม.ว.ก. ภายใต้สีมาธรรมจักร พร้อมทั้งพระราชทานสุภาษิตว่า วชิรูปมจิตฺโต สิยา (พึงเป็นผู้มีจิตแกร่งประดุจเพชร) ให้เป็นตราประจำวิทยาลัย

พระราชวัชราภรณ์ เจ้าอาวาสวัดชูจิตธรรมาราม พระอารามหลวง

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับกฐิน

1. ความเป็นมา

ในสมัยพุทธกาล ภิกษุชาวเมืองปาฐาประมาณ 30 รูป ถือธุงดงควัตรอย่างยิ่งยวด มีความประสงค์จะเฝ้าพระพุทธเจ้า ซึ่งขณะนั้นประทับอยู่กรุงสาวัตถี จึงพากันเดินทางไป พอถึงเมืองสาเกตก็เป็นวันเข้าพรรษาพอดี จึงต้องจำพรรษาอยู่ที่นั่นตามพระวินัย

ครั้นออกพรรษาแล้ว ก็รีบเดินทางไปเฝ้าฯ ระหว่างทางฝนตก หนทางเป็นโคลนตม ต้องบุกลุยไปจนถึงกรุงสาวัตถี ครั้งได้เฝ้าฯ ภิกษุได้ทูลถึงความตั้งใจและความยากลำบากในการเดินทางให้ทรงทราบ พระพุทธเจ้าจึงทรงมีพระพุทธานุญาตให้พระภิกษุผู้จำพรรษาครบถ้วนแล้วกรานกฐินได้ ซึ่งเป็นพิธีฝ่ายภิกษุที่ได้รับมอบผ้ากฐิน แล้วนำผ้าที่ได้ไปตัดเย็บย้อมทำเป็นจีวร

ศาสตราจารย์ หิรัญ รดีศรี ประธานมูลนิธิมหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย

2 ความหมาย

กฐิน มีความหมายเกี่ยวเนื่อง 4 ประการ ดังนี้

ความหมายที่ 1 เป็นชื่อของกรอบไม้ ที่เป็นแม่แบบสำหรับทำจีวร เรียกว่า “สะดึง” เนื่องจากสมัยพุทธกาล การทำจีวรให้มีลักษณะตามกำหนด กระทำได้ยาก จึงต้องทำกรอบไม้สำเร็จรูปไว้ให้เป็นอุปกรณ์ในการทำผ้านุ่ง (สบง)  , ผ้าห่ม (จีวร) , ผ้าห่มซ้อน (สังฆาฎิ)

ความหมายที่ 2 เป็นชื่อของผ้าที่ถวายแก่สงฆ์เพื่อทำจีวร ซึ่งผ้านี้จะเป็นผ้าใหม่ ผ้าเก่าฟอกสะอาด หรือผ้าบังสุกุล (ผ้าที่เขาทิ้งแล้ว) ก็ได้

ความหมายที่ 3 เป็นชื่อของบุญกิริยา คือ การทำบุญถวายผ้ากฐินเพื่อให้สงฆ์ทำเป็นจีวร ซึ่งต้องเป็นพระสงฆ์ผู้จำพรรษาอยู่ในวัดใดวัดหนึ่งครบ 3 เดือน เพื่อสงเคราะห์ผู้ประพฤติชอบ ให้มีผ้านุ่ง หรือผ้าใหม่ผลัดเปลี่ยนจากของเก่า ที่จะขาดหรือชำรุด

การทำบุญถวายผ้ากฐินหรือที่เรียกกันติดปากว่า ทอดกฐิน ก็คือการทอด หรือวางผ้าลงไป แล้วกล่าวคำถวายท่ามกลางสงฆ์ และต้องทำหลังจากออกพรรษา ภายในระยะเวลา 1 เดือน ถ้าทำก่อนหรือหลัง ไม่ถือว่าเป็นกฐิน

ความหมายที่ 4 เป็นชื่อของสังฆกรรม คือ กิจกรรมของสงฆ์ที่จะต้องมีการสวดประกาศขอรับความเห็นชอบจากที่ประชุมสงฆ์ ในการมอบผ้ากฐินให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง

3. ประเภทของกฐิน

3.1 กฐินหลวง

แบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้

กฐินที่กำหนดเป็นพระราชพิธี

พระเจ้าแผ่นดิน เสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เอง หรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้พระบรมวงศานุวงศ์ หรือ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ไปถวาย ณ วัดสำคัญๆ 16 วัด คือ (1) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร (2) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานคร (3) วัดสุทัศน์เทพวราราม กรุงเทพมหานคร (4) วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร

(5) วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กรุงเทพมหานคร (6) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร (7) วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร (8) วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร

(9) วัดราชาธิวาส กรุงเทพมหานคร (10) วัดมกุฎกษัตริยาราม กรุงเทพมหานคร (11) วัดอรุณราชวราราม กรุงเทพมหานคร (12) วัดราชโอรสาราม กรุงเทพมหานคร

(13) วัดพระปฐมเจดีย์ นครปฐม (14) วัดสุวรรณดาราราม พระนครศรีอยุธยา (15) วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ พระนครศรีอยุธยา (16) วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก

กฐินต้น

พระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดที่มิใช่วัดหลวง และมิได้เสด็จไปอย่างเป็นทางการ หรืออย่างเป็นพระราชพิธี แต่เป็นการบำเพ็ญพระราชกุศลส่วนพระองค์

กฐินพระราชทาน

พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานผ้าของหลวงแก่ผู้ที่กราบบังคมทูลขอพระราชทาน ไปถวายยังวัดหลวง นอกเหนือจากวัดสำคัญ ๑๖ วัด ที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้

เพราะปัจจุบันมีวัดหลวงเป็นจำนวนมาก จึงเปิดโอกาสให้กระทรวง ทบวง กรม ตลอดจนคณะบุคคลต่างๆ ขอพระราชทานผ้าพระกฐินไปถวายได้

3.2 กฐินราษฎร์

ประชาชนผู้มีศรัทธา นำผ้ากฐินไปถวายตามวัดต่างๆ ยกเว้นวัดหลวง 16 วัดที่กล่าวไว้ข้างต้น มีชื่อเรียกต่างๆ ดังนี้

กฐิน หรือ มหากฐิน

เป็นกฐินที่ราษฎรนำไปทอด ณ วัดที่ตนศรัทธา ผ้าที่เป็นองค์กฐิน จะเป็นผืนเดียว หรือหลายผืนก็ได้ จะเย็บแล้วหรือไม่ ก็ได้ แต่ปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นผ้าสำเร็จรูปแล้ว และนิยมถวาย บริวารกฐิน ไปพร้อมกับองค์กฐินด้วย เช่น เครื่องอุปโภคบริโภคของพระภิกษุสงฆ์

จุลกฐิน

เป็นกฐินที่ต้องทำด้วยความรีบเร่ง เดิมเรียกแบบไทยๆ ว่า กฐินแล่น เจ้าภาพที่จะทอดกฐินประเภทนี้ได้ ต้องมีผู้ช่วยงานจำนวนมาก เพราะต้องเริ่มตั้งแต่ปั่นฝ้ายเป็นด้าย ทอด้ายให้เป็นผ้า ตัดผ้าและเย็บผ้าเป็นจีวร ย้อมสี โดยต้องทอดภายในวันนั้น และพระสงฆ์ก็ต้องกรานกฐินและอนุโมทนาในวันนั้นๆ ด้วย สรุปคือ เป็นกฐินที่ต้องทำทุกอย่างให้เสร็จภายในวันเดียว

กฐินสามัคคี

เป็นกฐินที่มีเจ้าภาพหลายคนร่วมกัน มักตั้งเป็นคณะทำงานขึ้นมาดำเนินการ และมีหนังสือบอกบุญไปยังผู้อื่น เมื่อได้ปัจจัยมา ก็จัดผ้าอันเป็นองค์กฐินรวมทั้งบริวารกฐินไปทอด ณ วัดที่จองไว้

กฐินตกค้าง

ในท้องถิ่นที่มีวัดจำนวนมาก อาจจะมีวัดตกค้าง ผู้มีจิตศรัทธาจึงเสาะหาวัดดังกล่าว แล้วนำกฐินไปทอด ซึ่งมักจะเป็นวันใกล้สิ้นเทศกาลกฐิน หรือวันสุดท้าย

4. ความแตกต่างระหว่างการทอดกฐิน กับทอดผ้าป่า

สรุปให้เข้าใจได้โดยง่ายก็คือ พิธีทอดกฐิน เป็นงานบุญที่มีเพียงปีละครั้ง เป็นกาลทาน แปลว่า “ถวายตามกาลสมัย” ต้องถวายภายในระยะเวลา 1 เดือน (1 ค่ำ เดือน 11 – วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12) หลังจากออกพรรษาเเล้ว ส่วนทอดผ้าป่า สามารถถวายได้ตลอดปี

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก กระทรวงวัฒนธรรม

ขอบคุณ : อาจารย์เฉลิมชัย ไวยชิตา

ช่างภาพ : พรชัย ชาวนาวิก 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า