
นางนิกกี ฮาเลย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ (ซ้าย) และนายไมค์ พอมเพโอ รมว. ต่างประเทศสหรัฐฯ (ขวา)
ทูตสหรัฐฯ ประจำยูเอ็นประกาศว่า สหรัฐอเมริกาขอถอนตัวออกจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ โดยชี้ว่าเป็นเพราะองค์กรมี “อคติ” และ “ลำเอียง”
วันที่ 20 มิ.ย. 61 สื่อต่างประเทศรรายงานว่า นางนิกกี ฮาเลย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำสหประชาชาติ และนายไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศว่า สหรัฐอเมริกาขอถอนตัวออกจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council : UNHRC) พร้อมประณามสมาชิกคณะมนตรีฯ ว่า มีความลำเอียงและมีอคติอย่างร้ายแรงต่ออิสราเอล
แถลงการณ์ดังกล่าวของนางเฮลีย์ และนายปอมเปโอ มีขึ้นหลังจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านสิทธิมนุษยชนของยูเอ็นวิพากษ์วิจารณ์สหรัฐฯ ในกรณีพรากลูกผู้อพยพจากพ่อแม่ที่กำลังยื่นขอลี้ภัย หลังจากข้ามชายแดนจากเม็กซิโกไปยังสหรัฐ แต่ตัวแทนสหรัฐฯ นางเฮลีย์ย้ำว่า การตัดสินใจครั้งนี้มีขึ้นหลังจากความพยายามผลักดันปฏิรูปสภาแห่งนี้มานานนับปีไม่เป็นผล เช่นเดียวกับความพยายามถอดรัฐสมาชิกที่กระทำผิดเสียเองพ้นจากสภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประสบความล้มเหลว
ด้านนายไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ยังได้กล่าวอีกว่า “คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนยูเอ็นมีอคติอย่างชัดเจนต่ออิสราเอล ถือเป็นเรื่องที่ขาดสามัญสำนึก และนับตั้งแต่ก่อตั้งองค์กรขึ้นคณะมนตรีนี้ยกมือสนับสนุนมติประณามอิสราเอลมากกว่าองค์กรไหนๆ ในโลก”
ทั้งนี้ทาง นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวแสดงความเสียใจต่อการตัดสินใจของสหรัฐฯ และระบุว่า “โครงสร้างสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติมีบทบาทสำคัญยิ่งในการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลก สหรัฐฯควรที่จะเข้ามาร่วมมือกับสมาชิกในองค์กรมากกว่า ไม่ใช่ปลีกตัวออกไป”