SHARE

คัดลอกแล้ว

รัฐบาลสหรัฐฯ ได้สืบสวนการฆ่าสังหารหมู่ชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ในช่วงปี 2016-2017 พบว่าเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นในวงกว้าง ทั้งการฆ่า ทรมาน ปล้น ข่มขืนอย่างทารุณ โดยไม่เว้นทั้งชาย-หญิง เด็ก คนชรา และคนพิการ ทั้งยังพบด้วยว่านอกจากทหารและตำรวจแล้ว ชาวบ้านที่ไม่ใช่ชาวโรฮิงญาก็เข้าร่วมในการฆ่าล้างชาวโรฮิงญาด้วย

ข้อมูลได้มาจากการสอบปากคำพยานที่รอดชีวิตและลี้ภัยที่ศูนย์อพยพในบังคลาเทศ โดยเจาะรายละเอียดลงในสิ่งที่คนในเหตุการณ์พบเจอตลอดช่วงเวลาที่เกิดความรุนแรง ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2016 และทวีความรุนแรงสูงสุดช่วงกันยายน-ตุลาคม 2017 รายงานยังได้ระบุว่า “ข้อมูลที่รวบรวมได้จากผู้อพยพหลายคนแสดงให้เห็นว่ามีการวางแผนก่อนก่อเหตุและคิดมาเป็นอย่างดี”

แม้ว่ารายงานฉบับนี้จะไม่ได้เรียกสิ่งที่เกิดขึ้นว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่ก็ได้แสดงให้เห็นถึง “การกระทำอันโหดร้ายป่าเถื่อน” โดยก่อนหน้านี้ กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (ASEAN Parliamentarians for Human Rights: APHR) รวบรวมยอดผู้สูญหายจากเหตุการณ์ได้ 43,000 คน

ผู้รอดชีวิต 117 คน บอกว่าตนเห็นทารกและเด็กถูกทำร้าย-ฆ่าให้ตาย รวมถึงพบศพเด็กที่ถูกยิงหรือเชือดคอในหมู่บ้านระหว่างทางที่หนีเข้าบังคลาเทศ

หลายคนบอกว่า หากทหารจับครอบครัวไหนได้ นอกจากฆ่าพ่อแม่แล้วก็จะฆ่าลูกตามด้วย หลายครั้งเด็กที่ตายถูกกระชากออกจากอกแม่ ถูกกระทืบจนตาย หรือถูกโยนเข้ากองเพลิงและลงน้ำ จนทำให้ในบางพื้นที่ บ่อน้ำของหมู่บ้านเต็มไปด้วยศพเด็กลอย พยานคนหนึ่งเล่าว่าเห็นทหารโยนเด็กลงน้ำก่อน แล้วยิงแม่ที่กำลังวิ่งเข้าไปช่วยลูก

มีคนเห็นชายกำลังอุ้มลูกแบเบาะถูกชาวบ้านที่เข้าร่วมกับทหารสกัดไว้ ก่อนกระชากเด็กออกจากพ่อ โยนขึ้นไปบนอากาศแล้วเอามีดเสียบ

ชาวโรฮิงญาผู้รอดชีวิตคนหนึ่งเล่าว่า ทหารลอบตามกลุ่มคนที่กำลังอพยพหนี ถึงจุดหนึ่งก็แสดงตัวออกมาแล้วยิงเด็ก ๆ ที่กำลังเล่นกันระหว่างทางงทาง

หญิงตั้งครรภ์ตกเป็นเป้าการโจมตีในแทบทุกหมู่บ้าน โดยผู้อพยพจากหลายหมู่บ้านบอกตรงกันว่าเห็นหญิงท้องถูกฆ่าด้วยการผ่าท้องแล้วดึงทารกออกมาฆ่า

นอกจากนี้แล้ว ที่ศูนย์อพยพบังคลาเทศ มีหญิงโรฮิงญาที่รอดชีวิตแค่ 27 คนบอกว่าตัวเองโดนข่มขืน แต่รายงานวิเคราะห์ว่าเหยื่อความรุนแรงทางเพศมีมากกว่านั้นมาก เนื่องจากวัฒนธรรมที่ไม่เปิดกว้างต่อเหยื่อที่ถูกข่มขืน และเหยื่อส่วนใหญ่มักไม่รอดชีวิต

การข่มขืนเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นของความขัดแย้ง โดยทหารจะเข้ามาค้นหาชายฉกรรจ์ในหมู่บ้าน เมื่อชายฉกรรจ์ต้องซ่อนตัวจากทหาร หลายครั้งผู้หญิงที่อยู่ในบ้านจึงตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงทางเพศ

ครั้งหนึ่ง สี่เดือนก่อนทหารจะโจมตียะไข่ระลอกใหญ่ ทหารบอกผู้นำหลายหมู่บ้านให้ส่งหญิงสาวมาที่ละ 20 คนเพื่อ “สอนการตัดเย็บ” หลังจากนั้นก็ไม่มีใครพบเห็นพวกเธออีกเลย เป็นไปได้ว่าทหารพาตัวหญิงพวกนั้นไปข่มขืน เพราะชายคนหนึ่งให้ปากคำว่าเขาเห็นหญิงสาวโรฮิงญา 4 คนถูกมัดไว้กับต้นไม้ชายป่า เลือดตกจนมีสภาพร่อแร่ใกล้ตาย พวกเธอบอกว่าถูกมัดเพื่อขืนใจมาสามวันแล้ว

หลายครั้งในช่วงปี 2016-2017 ทหารจะเข้ามาในหมู่บ้านแล้วเรียกให้ผู้หญิงจำนวน 4-20 คนในหมู่บ้านออกมาที่ทุ่งหญ้า โรงเรียน มัสยิด ทุกคนจะถูกทหารจำนวนประมาณ 15 คนล้อมข่มขืนหมู่ คนที่ปฏิเสธไม่ออกจากบ้านก็ถูกตามไปข่มขืนที่บ้านเช่นกัน

ผู้รอดชีวิตหนึ่งเล่าว่าเธอเห็นทหารต้อนสาวที่สวยที่สุดในหมู่บ้าน 50 คนไปข่มขืนในหุบเขา หลังจากนั้น 35 คนถูกยิงตาย

“พวกนั้นเอาผู้หญิงออกไป ให้พวกเธอนั่งตากแดดกลางทุ่ง ถามว่าสามีพวกหล่อนไปไหน แม่ที่อุ้มลูกอยู่ก็ห้ามให้นมลูก นั่งอยู่อย่างนั้นกันเป็นวัน แล้วก็เลือกสาว ๆ สวย ๆ ไปข่มขืน ผู้ชาย 5-7 คนต่อผู้หญิงคนนึง”

เหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุดอยู่ในช่วงการบุกโจมตีหมู่บ้าน ทหาร ตำรวจและชาวบ้านเข้าร่วมข่มขืนหญิงสาวตามรายทางอย่างเปิดเผย ผู้หญิงที่เพิ่งคลอดลูกก็โดนกระทำจนตัวอ่อนทารกหลุดออกจากครรภ์ ระหว่างข่มขืนก็มีการทำร้ายร่างกาย เช่น ฟันหน้าอกออก เฉือนอวัยวะเพศ ตัดแขนขาและอวัยวะอื่น ๆ เมื่อเสียชีวิตแล้ว บางศพก็ถูกยิงหรือแขวนคอ

ระหว่างการเข้าโจมตีหมู่บ้านพบว่าทหารและตำรวจฆ่าคนแก่และคนพิการที่ไร้ทางหนี นอกจากกราดยิงแล้วยังมีการเข้าค้นทีละบ้านเพื่อฆ่าคนพิการหรือคนแก่ที่ถูกทิ้งไว้ โดยมักฆ่าด้วยการยิงและแทงให้หลบหนีไม่ได้ ก่อนเผาบ้านให้ตายในกองเพลิ

พยานบางคนเห็นทหารผลักคนพิการและคนแก่หลายคนเข้าไปในบ้านที่กำลังมีไฟคลอก ชาวโรฮิงญาคนหนึ่งบอกว่าแม่เขาถูกฆ่าต่อหน้าต่อตาแล้วโดนโยนเข้ากองไฟ ระหว่างทางหลบหนีเข้าบังคลาเทศก็เต็มไปด้วยศพคนแก่

“ทหารยิงลุงอิหม่ามที่ทุกคนเคารพสองที พอเขาไม่ตาย พวกนั้นก็เลยกระหน่ำแทงแล้วแขวนคอเขา” หญิงอายุ 30 เล่า

ก่อนถูกฆ่าชาวโรฮิงญาหลายคนถูกทรมาณด้วยการตตัดแขนขา ถอดเล็บ เผาหนวดหรืออวัยวะเพศ หรือแม้กระทั่งเผาให้ตายทั้งเป็น หลายคนก็ตายเพราะพิษบาดแผล

นอกจากนี้ รายงานพบว่ามีการสังหารหมู่ด้วยวิธีต่าง ๆ ทั้งการขังไว้ในบ้านแล้วจุดไฟเผา ในหลายหมู่บ้านทหารปิดทางเข้าออกทั้งหมด ต้อนคนในหมู่บ้านไว้ด้วยกันแล้วกระหน่ำยิง บางครั้งคนกว่า 100 คนถูกจับนอนคว่ำแล้วฟันคอ ก่อนทหารจะโยนศพทิ้งน้ำหรือเผาไฟ มีการขุดหลุมไว้ฝังกลบศพจำนวนมาก ๆ หลายครั้งคนเป็นก็ถูกฝังลงไปด้วย

เรือที่เต็มไปด้วยชาวโรฮิงญาหนีตายถูกจม ทหารยิงซ้ำไม่ให้มีใครเหลือรอดขึ้นมาได้ ส่วนเรือที่ยังไม่ออกจากฝั่งก็ถูกทำลายทิ้ง

“หัวคนลอยน้ำเต็มไปหมดเหมือนลูกฟุตบอล” ผู้ให้สัมภาษณ์คนหนึ่งบรรยายภาพ

เหตุการณ์ความรุนแรงเริ่มขึ้นครั้งแรกในปี 2016 ช่วงเดือนมกราคมและกันยายน-ตุลาคม หลังจากนั้นเงียบหายไป จวบจนเดือนพฤษภาคม 2017 จึงเริ่มมีเหตุการณ์ครั้งใหม่เกิดขึ้น และพุ่งรุนแรงที่สุดในเดือนสิงหาคม-กันยายน ที่การฆ่า 81% จากเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้น

จากปากคำผู้รอดชีวิต การฆ่ากว่าครึ่ง (54%) ใช้ปืนเป็นอาวุธ รองลงมา 20% ใช้มีดหรืออีโต้ การฆ่าด้วยการเผาไฟคิดเป็น 11% และใช้วิธีทำให้จมน้ำตาย 3%

จากการฆ่าทั้งหมด รายงานพบว่าทหารเป็นผู้ปฏิบัติการหลัก 88% มีการเสริมกำลังพลทางบก ทางน้ำ และทางอากาศตลอดเวลา แต่บางครั้งก็มีตำรวจที่ไม่สามารถระบุสังกัดได้ คิดเป็น 22%)

ชาวบ้านที่ไม่ใช่โรฮิงญา (31%) ก็เข้าร่วมด้วย โดยรายงานเชื่อว่าเป็นเพราะรับข่าวสารจากทางการที่สร้างความเกลียดชังว่า ชาวโรฮิงญาเป็น “กลุ่มก่อการร้ายจากบังคลาเทศ”

“มีประชากรชาวเบงกาลีเพิ่มขึ้นทั่วรัฐยะไข่ จนคนพื้นเมืองอย่างชาวยะไข่ ชาวไดเนห์ มรอ กามี และชาวมารามากีต้องออกจากพื้นที่เดิม ชาวยะไข่ไม่ลงรอยกับพวกเบงกาลีเพราะพวกนั้นพยายามแบ่งแยกดินแดน โดยมีกองกำลังติดอาวุธหัวรุนแรงอยู่เบื้องหลังและพยายามจะก่อการในเดือนตุลาคม 2017 นี้” พลตรีอองยีวิน โฆษกกองทัพเมียนมาร์กล่าวในวันที่ 31 สิงหาคม 2017

อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ : https://www.state.gov/j/drl/rls/286063.htm

 

ติดตามข่าวที่น่าสนใจได้ที่ workpointnews.com

Facebook / facebook.com/WorkpointNews/

Instagram / instagram.com/workpointnews/

Twitter / twitter.com/WorkpointShorts

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า