ประเด็นคือ – ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เป็นประธาน สืบสานประเพณีแห่พระเขี้ยวแก้วและสรงน้ำ ที่บริเวณวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี
วันที่ 21 ก.พ. 61 นายบัญฑิตย์ เทวทิวารักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เป็นประธาน พร้อมด้วยข้าราชการ พ่อค้า นักเรียน นักศึกษา ประชาชน ร่วมสืบสานประเพณีแห่พระเขี้ยวแก้วและสรงน้ำ ที่บริเวณวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี โดยจัดขึ้นทุกปีในวันขึ้น 7 ค่ำ เดือน 4
ชาวอำเภอพระพุทธบาทจะอัญเชิญพระ เขี้ยวแก้วจากพิพิธภัณฑ์วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร ออกแห่ฉลองรอบเมือง โดยมีความเชื่อว่า หากมีการแห่พระเขี้ยวแก้วแล้วจะสามารถบันดาลให้ประชาชนชาวพระพุทธบาท ได้รับความร่มเย็นเป็นสุข ทำมาค้าขายเจริญรุ่งเรือง
ประเพณีแห่พระเขี้ยวแก้วและสรงน้ำของชาวอำเภอพระพุทธบาท มีตำนานตามพงศาวดารกล่าวไว้ว่า พระเขี้ยวแก้ว คือ ฟันของพระพุทธเจ้าที่เหลือไว้ให้เป็นปูชนียวัตถุ มี 4 องค์ ด้วยกัน คือ 1.ประดิษฐานอยู่ที่จุฬามณีดาวดึงส์เทวโลก 2.ประดิษฐานอยู่ ณ เมืองกาลึงคราษฏร์ ประเทศอินเดีย 3.ประดิษฐานอยู่ที่ใต้บาดาลอันมีนามว่า นาคพิภพ 4.ประดิษฐานอยู่ประเทศลังกา หรือลังกาทวีป ปัจจุบันได้อัญเชิญมาจากประเทศลังกา มาประดิษฐานอยู่ที่วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร จ.สระบุรี ตั้งแต่สมัยพระเจ้าทรงธรรม ครองกรุงศรีอยุธยา
กระทั่งปี พ.ศ. 2457 ที่เมืองพระพุทธบาทเกิดโรคระบาด ประชาชนเจ็บป่วยล้มตาย พร้อมทั้งเกิดทุพภิกขภัย ฝนแล้ง แห้งน้ำ ผู้ปกครองในสมัยนั้นจึงอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วออกแห่ แล้วประชาชนร่วมขบวนพร้อมถวายน้ำสรงพระเขี้ยวแก้ว และในวันนั้นเองได้มีฝนตกกระหน่ำอย่างหนัก ทำให้ประชาชนและพฤกษาชาตินานาพันธุ์ได้รับความชุ่มเย็น จึงได้ถือปฎิบัติเป็นประเพณีเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน