ประเด็นคือ – สมาชิกสภาเทศบาลทับยา อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี วอนกรมศิลปากร ตรวจสอบเเละขึ้นทะเบียน หลวงพ่อโคกงู พระพุทธรูปสูง 3 เมตร
วันที่ 15 ม.ค. 61 ผู้สื่อข่าวได้รับการบอกเล่าจากชาวบ้านแถว หมู่ 4 ต.ทับยา อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี ว่าในป่าเล็กๆ กลางทุ่งนา มีพระพุทธรูปเก่าแก่องค์ใหญ่อายุหลายร้อยปี ถูกทิ้งร้างอยู่ อยากให้กรมศิลปากรเข้าไปตรวจสอบดูว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยใด และขึ้นทะเบียนไว้เพื่อป้องกันมิจฉาชีพทุบทำลาย
จึงเดินทางไปตรวจสอบที่บริเวณดังกล่าว อยู่ในป่ากลางทุ่งนาโดยมีทางเดินคันนาเข้าไปจากริมถนนใหญ่ประมาณ 500 เมตร เมื่อไปถึงป่าเล็กๆ ในเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ มีต้นไม้น้อยใหญ่อยู่เต็มพื้นที่ บนเนินดินสูงขึ้นไป พบพระพุทธรูปเนื้อก่ออิฐถือปูนองค์ใหญ่เก่าแก่ สูงประมาณ 3 เมตร ฐานกว้างราว 2 เมตรเศษ ปางมารวิชัย ในส่วนของเศียรพระมีร่องรอยชำรุดแตกหัก
สอบถาม นายเชนทร์ คนชาน สมาชิกสภาเทศบาลทับยา อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี ผู้ผลักดันต้องการให้ประชาชนทั่วไปมากราบไหว้พระพุทธรูปองค์นี้มาโดยตลอดเล่าว่า ตนทราบเรื่องของพระพุทธรูปองค์นี้เมื่อ 13 ปีที่แล้ว จากนิตยสารของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
โดยมีกลุ่มนักศึกษาของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คณะนิเทศศาสตร์ ได้มาทำงานวิจัยว่า ทำไมตำบลทับยา อ.อินทร์บุรี นี้ ถึงได้มีพระพุทธรูปสมัยอยุธยา เช่น พระฉาย ซึ่งเป็นประติมากรรมปูนปั้นนูนสูง ภาพตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์ โดยมีพระโมคลานะ และพระสารีบุตร ยืนอยู่ทั้งสองข้าง
ซึ่งกรมศิลปากรได้เข้าตรวจสอบแล้วพบว่า พระฉาย นั้น สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลางถึงปลาย และนักศึกษากลุ่มนี้ก็ได้ลงมาวิจัยทั้งตำบลทับยาเป็นเวลา 1 เดือน โดยพักที่วัดสุทธาวาส และได้ไปลงพื้นที่ตามที่ต่างๆ จนได้มาเจอพระพุทธรูปองค์นี้
และได้สอบถามจากคนเฒ่าคนแก่ในละแวกนี้ว่า พระพุทธรูปองค์นี้มีชื่อว่าอะไร มีประวัติความเป็นมาอย่างไร จึงได้ข้อสรุปคร่าวๆ ว่า ชาวบ้านแถวนี้เรียกว่า วัดโคกงู เพราะตั้งอยู่บนเนิน หรือเรียกกันว่าบนโคก มีพระพุทธรูปเนื้อก่ออิฐถือปูน ปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่กลางโคก ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อโคกงู
และบริเวณแถวนี้จะมีงูเห่าอยู่เยอะ จะเห็นคราบงูที่ลอกคราบไว้ตามพื้นดิน และเดิมพระองค์นี้จะมีหลังคาคลุมไว้ แต่กาลเวลาทำให้ผุพังลงไป ส่วนจะสร้างในสมัยใดนั้น ยังไม่มีผู้มีความรู้ทางโบราณคดีมาชี้ชัด
ดังนั้นคณะนักศึกษาที่มาวิจัยพื้นที่จึงทำได้เพียงถ่ายรูปและประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้คนสิงห์บุรีและคนใกล้เคียงได้รู้จักพระพุทธรูปองค์นี้ ลงในนิตยสารของมหาวิทยาลัยหอกการค้าไทยเท่านั้น
หลังจากนั้น หลวงพ่อโคกงู และ วัดโคกงู ก็เริ่มเป็นที่รู้จักและต่อมาไม่นานก็เงียบหายไป หรือแม้แต่คนใน ต.ทับยา อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี นี้ ยังมีส่วนน้อยที่จะรู้ว่าบริเวณป่าเล็กๆ พื้นที่ไร่เศษๆ จะมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่เก่าแก่องค์นี้อยู่
จนต่อมาตนได้มาเป็นสมาชิกเทศบาลตำบลทับยา ได้รับผิดชอบในพื้นที่ตำบลทับยา จึงพยายามที่จะผลักดันประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปได้รู้จักและมาท่องเที่ยวกราบพระขอพรจาก หลวงพ่อโคกงู
เเต่ยังไม่แน่ใจว่าสร้างขึ้นในสมัยใด ได้แต่คาดเดากันว่า อาจสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลางถึงตอนปลา ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งก็ได้บอกว่า น่าจะสร้างขึ้นมาเมื่อประมาณซักเกือบ 200 ปี เนื่องจากบริเวณนี้เป็นทุ่งนา สมัยก่อนไม่มีถนน มีที่ตรงนี้เพียงจุดเดียวที่พักกันได้ จึงได้มีชาวนารวมกลุ่มกันสร้างพระเพื่อเอาไว้กราบไหว้ขอพรเวลาทำนา
เมื่อความเชื่อแตกเป็นสองทาง จึงอยากให้กรมศิลปากรมาช่วยสำรวจว่า พระพุทธรูปองค์นี้สร้างขึ้นในสมัยใดกันแน่ และเมื่อขึ้นทะเบียนแล้วจะได้ป้องกันไม่ให้คนมาทุบทำลาย เพราะโดยปกติจะมีแค่ชาวนาและคนในละแวกนี้ ที่มากราบไหว้กันเป็นประจำ หรือในช่วงเทศกาลตรุษจีน ปีใหม่ สงกรานต์ ชาวบ้านในละแวกนี้ก็จะมาเปลี่ยนจีวรให้องค์พระ หรือว่ามาทำพิธีบวชต้นไม้ เพื่อป้องกันไม่ให้ใครมาตัดต้นไม้
สำหรับ วัดโคกงู ที่ชาวบ้านละแวกนี้เรียกกันนั้น สำนักพระพุทธศาสนาได้ขึ้นทะเบียนเป็นวัดร้าง คือ “วัดห้วยงู” สันนิษฐานว่าวัดแห่งนี้สร้างขึ้นประมาณช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนกลางถึงก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ปัจจุบันมีเนื้อที่รวม 1 ไร่ 2 งาน 71 ตารางวา
องค์พระพุทธรูปมีร่องรอยการซ่อมแซมบูรณะเป็นระยะๆ ซึ่งน่าจะเป็นชาวบ้านที่ทำนาบริเวณรอบวัดห้วยงู แต่ด้วยตัววัดที่ตั้งอยู่กลางทุ่งและประสบปัญหาน้ำท่วมอยู่เนืองๆ จึงทำให้วัดห้วยงูถูกปล่อยทิ้งร้างจนถึงทุกวันนี้ แต่อย่างไรก็ตามก็มักมีผู้แสวงโชคเดินทางเข้าไปกราบและหาเลขเด็ดกันเกือบทุกงวด