SHARE

คัดลอกแล้ว

เวทีผ่าแนวคิดพรรคการเมือง “อนาคตสุขภาพคนไทย”

บ่ายวันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2562 ช่องเวิร์คพอยท์-เวิร์คพอยท์ ออนไลน์ จัดเวทีประชันนโยบายการเมือง ในหัวข้อ “หลักประกันสุขภาพ เรื่องสำคัญของคนไทย” ที่ชั้น 7 โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ สยามสแควร์วัน โดยมีตัวแทนจาก 4 พรรคการเมืองเข้าร่วม ได้แก่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จากพรรคเพื่อไทย นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ จากพรรคพลังประชารัฐ นายอภิิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์ และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พรรคอนาคตใหม่

บรรยากาศการประชันนโยบายการเมืองในเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพ เต็มไปด้วยสาระประโยชน์สอดแทรกความสนุกสนานแบบ “กัดนิด จิกหน่อย” ตามสไตล์นักการเมือง โดยช่วงแรก 4 ตัวแทนพรรคการเมือง มีเวลาตอบคำถามจากพิธีกร และคำถามจาก Influencer คนละ 3 นาที

คิดอย่างไรกับแนวคิดให้สิทธิ์รักษาพยาบาลฟรีเฉพาะผูัมีรายได้น้อย?

คุณหญิงสุดารัตน์ : ในฐานะคนทำงานที่เริ่มต้นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเมื่อ 17 ปีที่แล้ว มองว่าหลักคิดของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต้องอยู่ นั่นคือ Help for All ต้องการให้ทุกคนได้มีโอกาสรับสิทธิ์ในการรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึงและทัดเทียม เดิมก่อนปี 2544 เรามีบัตรอนาถา คือบัตรรักษาพยาบาลของคนยากจน แบ่งเกรดการรักษาทุกมติทั้งเรื่องคิว ยา และคุณภาพการรักษา แต่ทำให้มีปัญหากับระบบการดูแลสุขภาพ และที่ใช้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพราะเราต้องการให้คนมีสุขภาพดีอายุยืนยาวเพื่อเป็นกำลังผลิตของประเทศ ถ้าแยกแค่ว่าคนจนเท่านั้นจะมีสิทธิ์ การรักษาพยาบาลจะเป็นสองมาตรฐานทุกครั้ง ทุกประเทศ

สุวิทย์ :  ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดให้สิทธิ์รักษาพยาบาลฟรีเฉพาะผู้มีรายได้น้อย คิดว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ยากดีมีจนทุกคนต้องมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน เพราะเงินที่มาอุดหนุนจากภาครัฐ มาจากภาษีของประชาชนเหมือนกับ “ร่วมจ่ายก่อนป่วย” เป็นการนำมาใช้แบบถัวเฉลี่ย ถ้ากลับไปสู่การสิทธิ์การรักษาฟรีเฉพาะผู้มีรายได้น้อยจะทำให้มีปัญหาความเหลื่อมล้ำมากขึ้น และในการเรื่องการจัดการจะมีปัญหามาก คิดว่าในอนาคตต้องปรับปรุงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในเรื่องการครอบคลุม เข้าถึง และคุณภาพการรักษา รวมทั้งลดความเหลื่อมล้ำของ 3 กองทุน คือ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง), กองทุนรักษาพยาบาลประกันสังคม และกองทุนรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการ

อภิสิทธิ์ : ประเทศไทยได้ยืนยันการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ทุกคนเข้าถึงโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ก็ไม่ควรจะมีการย้อนกลับไปอีกแล้ว ช่วงแรกมีการแบ่งเก็บ 30 บาทกับไม่เก็บเงินคนยากคนจน ในสมัยที่ประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลได้ยกเลิกตรงนี้ไป แต่ต้องยอมรับความจริงว่าคำถามนี้จะย้อนกลับมาเรื่อยๆ เพราะเงินที่ใช้รักษาพยาบาลสุขภาพคนไทยเป็นเงินจำนวนไม่น้อย อย่างไรก็ตามสิ่งที่อยากยืนยันคือ ไม่ว่าจะมีระดมเงินมาสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างไร ก็ไม่ควรย้อนกลับไปเก็บเงิน ณ จุดบริการ ซึ่งจะเป็นปัญหาของความเหลื่อมล้ำ ตรงกันข้ามคือ จะทำอย่างไรให้ระบบนี้ได้รับงบประมาณเพียงพอ 1. เราควรปรับปรุงระบบการขอรับงบประมาณ เพราะหลายปี สปสช. หรือหน่วยงานด้านนี้ได้งบประมาณไม่ได้ตามที่ขอ แล้วเป็นปัญหามากระทบคุณภาพการบริการต้องทำระบบใหม่ 2. มีโรคไม่กี่โรคที่จะมีค่ารักษาพยาบาลสูง ดังนั้นต้องมีการระดมเงินเพิ่มเติมมาดูแลในส่วนโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง 3. ปฏิรูประบบภาษี ให้คนที่มีกำลังจ่ายมากขึ้นเพื่อมาดูแลสวัสดิการแบบนี้ และ 4. และแก้ปัญหาคนที่ไม่ใช้ระบบนี้แต่ไปรักษาโรงพยาบาลเอกชน จนทำให้เกิดการดูดทรัพยากรภาครัฐไป

ธนาธร : นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นมติใหม่ ณ วันที่นโยบายนี้ถูกนำมาปฏิบัติจริง มี keyword สำคัญ คือคำว่า “หลักประกัน” ที่บอกว่าการเข้าถึงสาธารณสุขเป็นสิทธิ์ เป็นหลักประกันเป็นสิทธิ์ทุกคนเข้าถึงได้ และคำว่า “ถ้วนหน้า” คือทุกคนใช้ได้เหมือนกัน เสมอภาคกัน แนวคิดร่วมจ่าย ณ จุดบริการ จะทำให้แนวคิดที่ก้าวหน้านี้ล้าหลังลง พรรคอนาคตใหม่เห็นว่า เราควรยืนยันทั้งการเป็นหลักประกันและการถ้วนหน้า แนวคิดร่วมจ่าย เพราะมีความเชื่อว่า รัฐบาลดูแลหลักประกันแบบนี้ตลอดไปไม่ได้ แต่ตนเห็นต่าง เห็นว่าทรัพยากรในประเทศไทยอย่างปีนี้มีมากเพียงพอที่จะดูแลเด็ก คนป่วย คนชรา เพียงแต่ที่ผ่านมาไม่ได้ถูกนำมาใช้ในทางนั้น จะพูดได้ว่าประเทศไทยมีลักษณะอย่างหนึ่ง คือ “นายทุนนิยม” ทำได้ เป็น “ประชาชนนิยม” ทำไม่ได้โดนกล่าวหาชี้หน้าว่าใช้นโยบาย “ประชานิยม”

คิดอย่างไรกับแนวคิดให้ประชาชนร่วมจ่าย ณ จุดบริการรักษาพยาบาล?

ธนาธร : การบริหารระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปัจจุบันมีช่องว่างให้ปรับปรุงได้อีกเยอะ ยกตัวอย่างเพิ่มความรับผิดชอบให้ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยให้กับ อาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสม. ที่มีกว่าแสนคน ทำให้ อสม.ทำงานสะดวกขึ้นแก้ปัญหาได้ที่หน้างาน จะทำให้คนเดินทางมาใช้บริการที่โรงพยาบาลระดับชุมชน ระดับอำเภอน้อยลง ความแออัดน้อยลง ความเหนื่อยของหมอ พยาบาลก็จะลดน้อยลงถ้าแก้ปัญหาด้วยการใช้ อสม.ได้ เพราะหลายคนมาโรงพยาบาลเพื่อตรวจร่างกายเพื่อรับยาอีกครั้ง ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ช่วยได้เพื่อไม่ต้องเดินทางมาที่โรงพยาบาล ถ้าอสม.ทำตรงนี้ได้ก็มีผลตอบแทนเพิ่มขึ้นได้ด้วย ประเด็นคือมาคือโครงสร้าง ปัจจุบัน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต. โรงพยาบาลชุมชนบริหารด้วยกระทรวงสาธารณสุข ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือ อปท.ไม่ได้มีส่วนร่วม เห็นว่า ถ้าเอา อปท. เข้ามามีส่วนร่วมการในดูแลโรงพยาบาลในท้องถิ่นจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ เพราะงบประมาณจะตอบสนองพื้นที่จริงๆ เพราะฉะนั้น การร่วมจ่ายหรือไม่ สามารถแก้ได้ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบปัจจุบัน

อภิสิทธิ์ : ได้ยืนยันแล้วว่าไม่เห็นด้วยกับการให้ประชาชนร่วมจ่าย ณ จุดบริการรักษาพยาบาล โดยมีรายละเอียดเพื่อแก้ปัญหา คือ 1.ระบบต้องเปิดกว้างมาขึ้น โดยการดึงฝ่ายต่างๆ มาช่วยในการจัดระบบบริการ จะต่อยอด รพ.สต. โดยมีหมอไปอยู่ ควบคู่กับการเปิดโอกาสให้คลินิกเอกชนและเครือข่ายอื่นๆ ที่ให้บริการสามารถเข้ามาเชื่อมโยงกับตรงนี้ได้ นอกจากนั้น จะเพิ่มบทบาท อสม. ที่รัฐบาลประชาธิปัตย์ได้เริ่มให้ค่าตอบแทน ในการดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง โดยประสาน รพ.สต. อปท.ที่มีนโยบายปรับโครงสร้างให้สามารถทำตรงนี้ได้ ไม่ติดขัดเหมือนในปัจจุบันที่พอเขาขยับแล้วถูกตีความว่า ไม่มีอำนาจและถูกตรวจสอบ โดยสตง. นอกจากนั้น จะดึงความร่วมมือวิสาหกิจเพื่อสังคม และบริษัทที่ทำเกี่ยวกับ Health tech ซึ่งจะสามารถประหยัดงบประมาณได้ 2. ใช้เทคโนโลยี ในการรวมข้อมูลของระบบต่างๆ เพื่อลดภาระ 3.ถ้าจะให้ประชาชนจ่าย มองว่าประชาชนที่ต้องจ่าย คือคนที่ทำให้เกิดความเจ็บไข้ได้ป่วย ใครบ้างสร้างภาระในเรื่องระบบสุขภาพ สินค้าบาป สินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ใครที่บริโภคสิ่งเหล่านี้ ทำให้เกิดการเจ็บไข้ได้ป่วย ทำให้สิ้นเปลืองทรัพยากรต้องเป็นผู้จ่าย นี่คือลักษณะเดียวที่จะให้ประชาชนจ่าย

สุวิทย์ : ไม่เห็นด้วยกับการร่วมจ่าย ณ จุดบริการ เพราะไม่ตอบโจทย์กับการดูแลประชาชน “ร่วมจ่าย” จริงๆ อาจเอาไว้ใช้ดัดนิสัยของคนป่วยที่เอายามาเพิ่ม หรือรักษาเกินความจำเป็น ปัญหาจริงๆ คือ ยาบางตัวแพงมาก เพราะต่างโรงพยาบาลต่างจัดซื้อกันเอง แต่ควรมาจัดซื้อจัดจ้างร่วมมากกว่า จะช่วยลดต้นทุนของยาหลายตัว ในระยะสั้นจำเป็นต้องปรับเปลี่ยน 3 กองทุน คือ 1. สิทธิประโยชน์พื้นฐาน ทุกกองทุนควรมีเหมือนกัน ประชาชนไม่ควรจะจ่ายอะไรเลย 2. สิทธิประโยชน์ที่แต่ละกองทุนให้กับกลุ่มของตัวเอง 3. สิทธิประโยชน์ที่ประชาชนรายนั้นอยากได้บริการพิเศษ ตรงนั้นต้องไปจ่ายเพ่ิ่ม เช่น ค่าประกันสุขภาพ ในระยะยาวต้องทำให้เกิดการออม เช่น กรมธรรม์สำหรับผู้สูงอายุ หรือเปลี่ยนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจากการรักษาเป็นการป้องกัน

คุณหญิงสุดารัตน์ : การร่วมจ่ายไม่มีความจำเป็นเลย ถ้าเข้าใจหลักการของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างแท้จริง ไม่ใช่การมุ่งสู่การรักษาหรือการรักษาฟรีที่ในอดีตกลายเป็นประเด็นทางการเมือง เหมือนเป็นประชานิยม ไปแข่งกันรักษาฟรีไม่ใช่เลย หลักการของโครงการนี้มุ่งไปสู่การสร้างสุขภาพดีให้คน Health care ไม่ใช่ Sick care อย่างในปัจจุบัน เราจัดงบประมาณให้กับโรงพยาบาล คืนโรงพยาบาลให้กับประชาชน และหมอ-พยาบาลบริหารประชาชน คือได้งบประมาณรายหัวไป หน้าที่คือทำให้คนแข็งแรงไม่มาเจ็บป่วยจะได้ใช้เงินน้อยลง ทำให้คนไม่ต้องล้มละลายจากการรักษาพยาบาล และคุมงบประมาณได้ด้วย ที่ผ่านมาพอไม่เข้าใจหลักการ นึกเป็นประชานิยมไปแข่งกันรักษาฟรี เดี๋ยวนี้การจัดงบประมาณ ไม่ใช่ Heath care กลายเป็น Sick care เขตไหนมีการป่วยมากได้รับงบประมาณมาก แบบนี้ใช้งบประมาณสูงขึ้น คนเจ็บคนป่วยมากขึ้น ทั้งที่ๆ หมอ พยาบาลมากขึ้น ทำให้มีภาระมากขึ้นอีก ต้องเปลี่ยนกลับมาเป็น Heath care โรงพยาบาลและประชาชนทำงานร่วมกันในการสร้างสุขภาพ ต้องได้ก่อนป่วย แข็งแรงก่อนป่วย

คำถามจาก คุณสุภัทรา นาคะผิว โฆษกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ : จะทำอย่างไรในการรวม 3 กองทุนหลักประกันสุขภาพ และจะใช้เวลานานแค่ไหนเพื่อให้เกิดการรวมกองทุนได้จริง?

สุวิทย์ : กองทุน 3 กองทุนนี้มีความเหลื่อมล้ำอยู่ไม่น้อย บางกองทุนงบเหมาจ่ายต่อหัวเป็นหมื่นบาท ขณะที่บางกองทุนเช่น บัตรทอง งบเหมาจ่ายรายหัวอยู่ที่หลักพันบาท คิดว่า 1. รวมเหลือกองทุนเดียว 2. ปล่อยให้ทั้ง 3 กองทุนเป็นอย่างที่เป็น แต่จัดระเบียบกองทุนใหม่ ซึ่งส่วนตัวเห็นด้วยกับแนวคิดที่ 2 เพราะมองว่า ผ่านมา 17 ปีแล้ว สิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานสำหรับประชาชนไม่ว่าจะอยู่กองทุนไหนมีอะไรบ้าง เป็นสิ่งที่ทุกกองทุนต้องมีให้เสมอกัน จากนั้นมาดูว่า สิทธิข้าราชการ สิทธิประกันสังคมต่างจากบัตรทองอย่างไร และส่วนของการที่ประชาชนจะไปจ่ายเพื่อให้ได้สิทธิเพิ่มเติมเอง มองว่า ความเหลื่อมล้ำไม่มีวันหมด แต่จะทำให้ทุเลาลงได้ นอกจากนี้ พรรคพลังประชารัฐ มีนโยบายจะให้บัตรทองใช้ในโรงพยาบาลเอกชนได้ด้วย

อภิสิทธิ์ : สนับสนุนเรื่องการไม่เลือกปฏิบัติ เพราะฉะนั้นการเข้าไปรับบริการไม่ควรเริ่มต้นจากการถูกถามว่า “มาด้วยระบบไหน” แต่การรวมกองทุน 3 กองทุน กับการยุบรวมเป็นกองทุนเดียว ไม่ใช่ประเด็นเดียวกัน เราต้องการไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติ และยกระดับมาตรฐานในระบบที่เราคิดว่า ยังมีปัญหาอยู่ เราต้องชัดเจนในเรื่องที่มาของ 3 กองทุน โดยเฉพาะกองทุนรักษาพยาบาลประกันสังคม คนที่อยู่กองทุนนี้ควรบ่นมากที่สุด เพราะเสียภาษีมาช่วยกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ขณะที่ต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมอีกต่างหากเพื่อจะได้สิทธิ์ของตัวเอง การยุบรวมทันทีคงจะไม่ได้ ขอเสนอว่า คนที่ไม่อยากอยู่ในระบบประกันสังคมอีกต่อไป ไม่อยากจ่ายเงินสมทบมาใช้สิทธิ์ในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า แล้วต่อไปเมื่อมาใช้ระบบนี้แล้วดี ระบบประกันสังคมก็จะหายไปเอง แต่ถ้ายังจ่ายเงินสมทบอยู่ก็ไม่ควรสกัดการรับสิทธิ์ตรงนั้น ส่วนข้าราชการ ไม่ใช่กองทุน แต่ราชการในฐานะนายจ้างให้สิทธิ์เขาไว้ เราต้องเข้าใจว่าในอดีตมีคนจำนวนมากตัดสินใจเข้ามารับราชการเพราะอยากได้สิทธิตรงนี้ แลกกับการได้เงินเดือนต่ำกว่าเอกชน จะไปลดสิทธิ์ข้าราชการไม่ถูกต้อง แต่ต้องยอมรับว่า ข้าราชการมีค่าใช้จ่ายสูงเกินเหตุ แต่ถ้าจะมุ่งไปสู่กองทุนเดียว ตัดสินใจเริ่มที่ข้าราชการใหม่ โดยไม่กระทบสิทธิ์ของข้าราชการปัจจุบันน่าจะเป็นความเป็นธรรมสำหรับทุกฝ่าย

คุณหญิงสุดารัตน์ : ไม่มีความจำเป็นที่บอกว่าอยากได้สิทธิรักษาพยาบาลที่เหมือนกันแล้วต้องรวมกองทุน เห็นด้วยกับการที่ไปโรงพยาบาลแล้วไม่ต้องตอบว่า “สิทธิไหน” ใน 3 กองทุน สิทธิรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานตามหลักวิชาการของแพทย์ บัญชียาเดียวกัน 3 กองทุนทัดเทียมกันได้เหมือนกัน แต่ประกันสังคมจ่ายเพิ่ม มีสิทธิที่จะอยู่ห้องเดี่ยว บริการพิเศษ มีอาหาร ข้าราชการอยู่ที่นายจ้างจะดูแลให้สิทธิ์ Top Up อย่างไร การเดินไปสู่การรวมกองทุนต้องมองในส่วนของพนักงานและข้าราชการที่เสียประโยชน์ วันนี้ไม่จำเป็นถ้าเข้าใจและจัดระบบ

ธนาธร : ปี 2546-2559 งบบัตรทองเริ่มจาก 1,200 บาทต่อหัว เพิ่มเป็น 3,200 บาทต่อหัว (ปี 2563) เป็นการเพิ่ม 8% ต่อปีติดต่อกัน 13 ปี ส่วนงบของข้าราชการเริ่มจาก 5,600 บาทต่อหัวในปี 2546 ปี 2559 เพิ่มเป็น 15,000 บาทต่อหัว 13 ปีเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 8% เหมือนกัน เฉพาะส่วนเพิ่มของข้าราชการใน 13 ปี คือ 9,000 บาท เฉพาะส่วนเพิ่มนี่ก็มากกว่างบบัตรทองในปีสุดท้ายแล้ว เราเชื่อว่า ทุกคนควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ถ้าแยก 3 กองทุนไม่มีทางเท่าเทียม ท้ายที่สุดอาจใช้เวลา 5-10 ปีหรืออาจนานกว่านั้น แต่ต้องเหลือระบบเดียวให้ได้ ส่วนแรกดึงประกันสังคมออกมาให้เป็นการเก็บออมเพื่อการเกษียณอายุ หรือช่วงตกงาน แต่ดึงระบบประกันสาธารณสุขออกเพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน ระยะยาว งบเหมาจ่ายรายหัวของข้าราชการจะเติบโต 8% เท่ากันไม่ได้ ต้องให้ส่วนของบัตรทองเติบโตเยอะขึ้นของข้าราชการเติบโตน้อยลง อนาคตจะลู่เข้าหากันจะทำให้การรวมกองทุนเป็นเรื่องเดียวกันในอนาคตเป็นไปได้ การรวมกันจะเพิ่มประสิทธิภาพอำนาจการต่อรอง

คำถามจาก นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข : ชุดสิทธิประโยชน์พื้นฐานของแต่ละพรรค จะทำอย่างไรเพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าจะไม่ลดสิทธิประโยชน์พื้นฐาน ผลักภาระให้ประชาชนไปจ่ายเงินเพิ่มกับหน่วยบริการ?

อภิสิทธิ์ : มั่นใจว่าไม่น่าจะมีพรรคการเมืองไหนลดสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีแต่จะเพิ่มเสริม เช่น ลดพฤติกรรมเสี่ยงของคนวัยทำงานที่จะก้าวเข้าสู่งสังคมผู้สูงวัย  สิทธิประโยชน์พื้นฐาน ควรครอบคลุมการตรวจสุขภาพประจำปี โดยเฉพาะคนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป รวมทั้งการใช้แอพพลิเคชั่นต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้คนไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ส่วนโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงควรมีกองทุนเฉพาะเข้ามาเสริม ต้องระดมเงินมาโดยไม่ใช่การเก็บจากผู้ใช้บริการ ควรมีสิทธิเพิ่มเติมในโรคของผู้หญิง ทั้งการตรวจและวัคซีน รวมทั้งคนพิการ หรือสุขภาพเด็ก คือสิทธิประโยชน์ไม่ลดลงแต่ต้องขยายและดูแลคนเฉพาะกลุ่มมากขึ้น ไม่มีลดลงมีแต่จะเพิ่มขึ้นให้ตรงกับความต้องการ

ธนาธร : อีกส่วนที่ไม่เกี่ยวกับกระทรวงสาธารณสุข คือ ปลดปล่อยประกันส่วนบุคคลออกมา การทำบริษัทประกันตอนนี้เป็นธุรกิจที่โดนผูกขาดอยู่ มีความจำเป็นที่ต้องทำให้บริษัทประกันมีการแข่งขันมากขึ้น ต้นทุนการทำประกันก็จะถูกลง นอกจากนี้ โรงพยาบาลระดับปฐมภูมิที่อยู่ในชุมชน มีอุปกรณ์ที่ไม่เพียงพอต่อการสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ทำให้ประชาชนหลายจังหวัดกระโดดข้ามมาเป็นโรงพยาบาลตติยภูมิกันหมด และหลายกรณีข้ามมาโดยไม่ได้รับใบส่งตัวผู้ป่วยจากโรงพยาบาลปฐมภูมิด้วย ทำให้เมื่อเข้ามารักษาต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลในส่วนต่างที่ต้องแบกรับเอง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำต้องลงทุนมากขึ้นในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลอำเภอแล้วให้ท้องถิ่นจัดการตัวเอง ท้องถิ่นจะมีพลังมากที่สุดถ้าจะส่งเสริมเรื่องการป้องกันมากกว่าการรักษา

คุณหญิงสุดารัตน์ : การลดสิทธิประโยชน์เป็นไปไม่ได้ เราต้องเดินไปข้างหน้า โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้รับการยกย่องจากทั่วโลกว่าเป็นต้นแบบ มีแต่จะเพิ่มสิทธิประโยชน์ คือ ได้ก่อนป่วย คือตรวจสุขภาพ ไอทีจะถูกนำมาใช้ให้รวดเร็ว ราคาถูกลงจะมีหมอประจำตัวที่อยู่ผ่านแอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือตลอดเวลาได้ ส่วนที่สอง งบประมาณต้องใส่ให้เพียงพอและถูกต้อง และทำให้ภาระงานของแพทย์พยาบาลลดลง คือเอาผลลัพธ์สุขภาพประชาชนเป็นที่ตั้ง การจัดสรรงบประมาณใหม่เป็นเรื่องที่จำเป็น

สุวิทย์ : การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์เป็นเรื่องสำคัญในศตวรรษที่ 21 มองว่า สิทธิประโยชน์พื้นที่ต้องมี 3 เรื่อง คือ 1.หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 2. หลักประกันการศึกษาถ้วนหน้า 3. หลักประกันรายได้ถ้วนหน้า ต้องมองเป็นการลงทุนไม่ใช่ค่าใช้จ่าย ต้องทำให้ครอบคลุมสิทธิ์ เข้าถึงสิทธิ์ได้จริง และได้รับบริการที่ดีเพียงพอหรือไม่ เช่น การเดินทางชาวบ้านที่อยู่ต่างจังหวัดกว่าจะไปถึงโรงพยาบาลเสียเวลาไป 1 วัน ไปถึงเจอคิวยาว นี่คือหนึ่งในสิทธิ์ที่อยู่ในขั้นพื้นฐานด้วย ดังนั้นต้องแก้ด้วยการลดความแออัดของโรงพยาบาล ต้องเปลี่ยนจากโรงพยาบาลไปสู่ชุมชน มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย และจะต้องทำให้ประชาชนดูแลสุขภาพตัวเองและให้รางวัล คือ ถ้าสุขภาพดีสามารถลดหย่อนภาษีได้ และการดูแลสุขภาพตั้งแต่ในครรภ์ถึง 6 ปี เรามีนโยบายมารดาประชารัฐเพื่อดูแลเด็ก ที่ถือเป็นสมบัติของชาติ

คำถามจาก ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน “แอดมินเพจ หมอแล็บแพนด้า” : วิเคราะจุดอ่อน-จุดแข็งของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตลอด17 ปีที่ผ่านมา ถ้าจุดอ่อนจะแก้อย่างไร จุดแข็งจะเสริมอย่างไร?

อภิสิทธิ์ : เราพูดถึงจุดแข็งหรือข้อดีของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาพอสมควร จุดอ่อน คือช่วงแรกงบที่จัดสรรให้ สปสช.ไม่เพียงพอ ส่งผลกระทบต่อสถานะการเงินของสถานบริการ ต้องแก้ด้วยการคำนวณเรื่องการจัดสรรงบประมาณให้แน่นอนขึ้น ส่วนต่อมาคือการบริหารจัดการ ความแออัดเป็นส่วนหนึ่ง แก้ด้วยการใช้เทคโนโลยี กระจายบุคลากร และกติกาที่เกี่ยวข้องกับการส่งต่อมีปัญหาเป็นระยะๆ มีโรงพยาบาลถอนตัวจากโครงการ คลินิกในบริเวณนั้นไม่ร่วมไม่ได้ ทำให้มีคนจำนวนหนึ่งทันทีต้องวิ่งหาสถานพยาบาลใหม่ คิดว่า ระบบฐานการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ได้ และมีปัญหาลักลั่น คือ บางหน่วยบริการเกี่ยวข้องเป็นผู้ซื้อ และผู้ให้บริการในเวลาเดียวกัน ซึ่งต้องแยกออกจากกันให้เด็ดขาด ผู้จะซื้อบริการ คือ สปสช.ต้องมีความเป็นอิสระ และไม่ถูกการบริหารงานในกระทรวงสาธารณสุข หรือหน่วยงานต่างๆ เข้าไปแทรกแซงได้

สุวิทย์ : ข้อดีคือเป็นหลักคิดที่ถูกต้อง เรื่องการร่วมจ่ายก่อนป่วย รวยช่วยจน และคนดีช่วยคนป่วย ซึ่งมีพัฒนาการจาก 30 บาท มาเป็นบัตรทอง และปัจจุบันรักษาฟรี 72 ชั่วโมงแรก แต่ยังมีข้อต้องปรับปรุง เช่น บัตรทองใช้ได้ไม่กี่หน่วยบริการ ต้องมีการเปลี่ยนแปลง เช่น นำสมาคมประกันภัย หรือประกันชีวิตมาร่วมกับภาครัฐเป็นเครือข่ายโรงพยาบาลประชารัฐ ทำให้จากนี้ใครที่ถือบัตรทอง สามารถไปโรงพยาบาลไหนก็ได้ ส่วนการแก้ปัญหาเรื่องโรงพยาบาลแออัด เห็นด้วยที่จะต้องนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ และการดูแลให้บุคลากรทางการแพทย์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

คุณหญิงสุดารัตน์ : สิ่งที่อยากปรับปรุง คือ การจัดงบประมาณ เพิ่มงบประมาณให้เพียงพอและจัดสรรให้ถูกต้อง มุ่งไปสู่ Health for All และ All for Health สู่การส่งเสริมและการป้องกัน ต้องได้ก่อนป่วย แข็งแรงก่อนแก่และใครดูแลสุขภาพดี ต้องได้รับผลตอบแทน ตั้งแต่ระบบภาษีและระบบบริการบางประเด็นในโรงพยาบาลของรัฐ ส่วนการแออัด ใช้เทคโนโลยีมาใช้จัดการ ให้ประชาชนสามารถเลือกโรงพยาบาล จองคิว จองหมอได้เองผ่านแอพพลิเคชั่นจากโทรศัพท์มือถือ

ธนาธร : ข้อดีคือการทำให้สาธารณสุขเป็นสิทธิ์และถ้วนหน้า ข้ออ่อนคือ เรื่องประกันสุขภาพถูกทำให้เป็นเรื่องการเมืองมาก ช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาตั้งแต่เกิดขึ้น ทำให้การจะพัฒนาต่อถูกตราหน้าว่าประชานิยม และถูกใช้มาโจมตีทางการเมืองมหาศาล แม้แต่นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันยังพูดเสมอเลย “เอาเงินที่ไหน จะดูแลคนป่วย เอาเงินที่ไหน” คิดว่าต้องยอมรับถ้านโยบายดีอย่าทำให้เป็นการเมือง อะไรที่ต้องพัฒนาต่อไม่ว่าเกิดจากพรรคไหน ไม่ว่าเกิดจากแนวคิดของใครก็ควรจะผลักดันให้ดียิ่งขึ้น ส่วนข้ออ่อนอีกอย่าง คือ การบริหารขึ้นอยู่กับรัฐส่วนกลางมากเกินไป มีอำนาจออกกฎฉบับเดียวแล้วบังคับใช้กับหน่วยงานทั่วทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่เฉพาะเรื่องสาธารณสุข แต่เป็นจุดอ่อนของรัฐไทยที่รัฐส่วนกลางมีอำนาจกดทับอำนาจส่วนท้องถิ่น เพื่อปลดศักยภาพครั้งใหญ่ของสังคมไทย

หลังจากนี้เป็นช่วงตอบคำถามจากผู้ชมที่ชมการถ่ายทอดสดผ่านไลฟ์ จากเพจเฟซบุ๊ก workpointnews และคำถามสดๆ จากผู้ชมที่เข้าร่วมฟังภายในงาน ซึ่งล้วนเป็นคำถามที่ใกล้ตัวและกระทบกับสุขภาพอย่างยิ่ง 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า