ประเด็นคือ – AI จะช่วยให้มนุษย์มีชีวิตดีขึ้นได้จริงหรือ? เรื่องที่หลายคนตั้งคำถามหลังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เขย่าวงการ AI ด้วยการตั้งกระทรวง AI เป็นครั้งแรกในโลก
ปลายเดือนที่แล้ว สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้สร้างความฮือฮาไปทั่วโลกด้วยการประกาศตั้งกระทรวงปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เป็นครั้งแรกในโลกรวมถึงแต่งตั้งหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงอายุเพียง 27 ปีให้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงนี้ โดยตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยี AI ของโลก ความเคลื่อนไหวนี้กระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถามถึงข้อดีข้อเสียของ AI ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งมองว่า AI ซึ่งมีความสามารถในการ “ทำสำเนา” ความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตมนุษย์ในอนาคตได้ แต่ก็มีบางส่วนตั้งคำถามว่า AI จะช่วยให้มนุษย์มีความสุขมากขึ้นหรือมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นได้จริงหรือ แล้วจะมีความเสี่ยงอะไรบ้างหรือเปล่า
ศาสตราจารย์ Luciano Floridi ผู้เชี่ยวชาญด้านปรัชญาและจริยธรรมข้อมูลข่าวสารมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ไม่คิดว่า AI จะเป็น “ภัยคุกความที่มีตัวตนจริง” เหมือนที่หลายคนคิดว่าจะเกิดขึ้นแบบในภาพยนตร์เรื่อง “คนเหล็ก” เพราะไม่ว่าจะพัฒนา AI ให้ก้าวหน้าแค่ไหน ถึงยังไง AI ก็ไม่มีวันมีความเข้าใจ ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี และสัญชาติญาณแบบมนุษย์ได้
แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองต่างออกไป Jaron Lanier นักเขียนด้านปรัชญาคอมพิวเตอร์ชาวสหรัฐ มอง AI ว่าเป็นภัยคุกคามต่อมนุษยชาติเพราะ AI จะทำลดคุณค่าของสติปัญญาและความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ “การเปิดทางให้ AI เปลี่ยนรูปแบบความคิดของคนเราก็คือการปล่อยตัวเราเองให้มองคนอื่นว่าเป็นแค่คอมพิวเตอร์ เหมือนอย่างที่เราเริ่มคิดว่าคอมพิวเตอร์ไม่ได้ต่างจากคนที่เราคุยด้วยผ่านโซเชียลมีเดีย”
ด้านศาสตราจารย์ Kamiel Gabriel จากมหาวิทยาลัยออนตาริโอในแคนาดาเชื่อว่ารัฐบาล UAE สามารถก้าวขึ้นมาอยู่ระดับแนวหน้าด้านการพัฒนาเทคโนโลยี AI ได้ ซึ่งจะช่วยปรับปรุงบริการของรัฐรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ทั้งระบบคมนาคม การศึกษา และบริการสุขภาพอย่างที่คาดหวังได้ แต่ก็เตือนว่ารัฐบาล UAE จะต้องระวังไม่ปล่อยให้ผู้ไม่หวังดีเอาเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในทางที่ผิด หรือเอาไปพัฒนาเป็นโปรแกรมที่เป็นอันตราย “รัฐมนตรีกระทรวง AI จะต้องรับฟังความคิดเห็นรอบด้านเพื่อประเมินการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีด้านนี้โดยให้ความสำคัญกับความรู้สึกนึกคิดและจิตสำนึกของมนุษย์”
ที่มา Forbesmiddleeast TheNational