18 ตุลาคม 2567 จากกรณีที่ศาลจังหวัดนราธิวาสได้เห็นชอบตามคำร้องของผู้เสียหายและครอบครัวที่ยื่นฟ้องทางอาญาเพื่อเอาผิดต่อเจ้าหน้าที่ที่ต้องสงสัยว่ามีส่วนรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงที่อำเภอตากใบ ซึ่งรวมถึงอดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารระดับสูง เมื่อเดือนสิงหาคม 2567
ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ 9 นาย ที่ถูกฟ้อง ศาลเห็นว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ 7 นายในข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนา พยายามฆ่า และควบคุมตัวบุคคลโดยมิชอบ แม้จะมีหมายเรียก แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดจากทั้ง 7 นายมาปรากฏตัวต่อศาลจังหวัดนราธิวาสเพื่อเข้ารับการสืบพยานและตรวจสอบพยานหลักฐาน ศาลจึงได้ออกหมายจับบุคคลทั้ง 7 รวมถึงผู้ที่คาดว่าอยู่ในญี่ปุ่นและสหราชอาณาจักร
อีกหนึ่งคดีที่เกี่ยวข้อง แต่เป็นการฟ้องแยกต่างหาก คือเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2567 สำนักงานอัยการสูงสุดได้มีความเห็นให้สั่งฟ้องเจ้าหน้าที่ความมั่นคง 8 นายที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายผู้ถูกควบคุมตัวในข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนา ต่างจากคดีที่ฟ้องโดยผู้เสียหาย คดีนี้มีจำเลยเป็นเจ้าหน้าที่ระดับล่าง และไม่มีจำเลยคนใดในคดีนี้มาปรากฏตัวต่อศาลเช่นกัน
โดยตัวเลขของผู้ต้องหาและจำเลยในเหตุการณ์สลายการชุมนุมคดี รวม 14 คน อย่างที่ระบุข้างต้น ว่าในจำนวนนี้ไม่เจ้าหน้าที่มารายงานสักคน จึงสร้างความกังวลให้กับคนในพื้นที่ นักวิชาการและองค์กรด้านสิทธิว่าอาจจะทำให้คนผิดลอยนวล
เพราะหาก 25 ตุลาคม พ.ศ. 2567 ไม่มีจำเลยมารายงานตัวตามหมายศาลจะถือว่าคดีสิ้นสุดตามอายุความ แต่ว่าหากก่อนวันที่ 25 ตุลาคม 2567 มีจำเลยอย่างน้อยหนึ่งคนมาปรากฏตัวต่อศาลเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ก็จะทำให้กระบวนการไต่สวนเริ่มขึ้นได้
ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก กล่าวว่า ทางการไทยต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ก่อนที่จะสายเกินไป เพื่อมอบความยุติธรรมให้กับผู้เสียหายที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิมนุษยชนมายาวนาน จากการใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมประท้วงในอำเภอตากใบเมื่อ 20 ปีก่อน
“คำสั่งศาลให้รับฟ้องคดีที่ยื่นโดยผู้เสียหายและครอบครัวเมื่อเดือนสิงหาคม ถือเป็นสัญญาณแห่งความหวัง ท่ามกลางการลอยนวลพ้นผิดที่ฝั่งรากลึกในประเทศไทยหลังจากการละเมิดสิทธิของผู้ชุมนุมประท้วง แต่คดีที่ผู้เสียหายยื่นฟ้องกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง เนื่องจากอีกไม่กี่วันคดีนี้จะหมดอายุความ”
“จำเลยในคดีนี้ล้วนเป็นอดีตหรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยงานรัฐในปัจจุบัน อีกทั้งยังมีบุคคลที่เกี่ยวข้องในคดีที่คาดการณ์ว่าตอนนี้อยู่ในญี่ปุ่นและสหราชอาณาจักร ซึ่งยังไม่ได้เข้ามาปรากฏตัวต่อศาลตามการนัดหมาย หากคดีนี้ไม่มีจำเลยอย่างน้อยหนึ่งคนมาปรากฏตัวต่อหน้าศาลภายในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 คดีจะถูกพิจารณาให้เป็นอันยุติการสอบสวนในกระบวนการยุติธรรมและจะถูกยกฟ้องในที่สุดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง”
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จึงเรียกร้องให้ทางการไทยต้องดำเนินการทุกวิถีทางที่จำเป็นและทุกขั้นตอนที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม เพื่อทำให้แน่ใจว่าผู้ต้องสงสัยที่มีความผิดในคดีทางอาญาเพราะละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงในคดีนี้จะไม่ลอยนวลพ้นผิด ทางการไทยจะต้องบังคับใช้หมายจับที่มีอยู่ และนำตัวผู้ต้องสงสัยทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีในชั้นศาลภายในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 เพื่อมอบความยุติธรรมกับผู้เสียหายและครอบครัวและทำให้พวกเขามีโอกาสเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยสามารถทวงถามความรับผิดชอบและความเป็นธรรมในคดีนี้ได้อย่างเต็มที่
รอมฎอน ปันจอร์ – สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เคยให้สัมภาษณ์ในรายการ TODAY Live เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2567 โดยระบุว่า ให้โอกาสของกระบวนการยุติธรรมไทย เดินไปให้สุดทางแต่ถ้าสุดทางแล้วมันไม่สามรถให้ความยุติธรรมขั้นพื้นฐานได้ อำนวยยุติธรรมไม่ได้ ก็ถือเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักอยู่พอสมควรถ้าคนจะเปิดโอกาสให้กับกลไกศาลอาญาระหว่างประเทศ ในการเข้ามาไต่สวนในกรณีนี้
“เหตุการณ์ตากใบถ้าเราไม่สามารถหาข้อยุติได้อย่างยุติธรรม ภายในกลไกในประเทศได้แล้ว เส้นทางที่จะไปคือยกเรื่องราวเหล่านี้ขึ้นสู่เวทีระหว่างประเทศ ซึ่งผมทราบดีว่าเรื่องนี้เป็นข้อกหังวลของหน่วยงานความมั่นคง เป็นนโยบายสำคัญที่ไม่พยายามยกระดับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นสู่เวทีระดับประเทศ แต่มันช่วยไม่ได้ถ้าเกิดว่ากลไกภายในประเทศแค่เรื่องพื้นฐานยังไม่สามรถอำนวยความยุติธรรมได้เลย”