SHARE

คัดลอกแล้ว

องค์กรภาคประชาสังคมอาเซียนยื่นจดหมายแก่สถานทูตบรูไน เรียกร้องให้ยุติการบังคับใช้ “กฎหมายชารีอะห์” เนื่องจากตัวกฎหมายขัดแย้งกับกฎหมายหลักสิทธิมนุษยชนที่บรูไนร่วมเป็นภาคี

วันนี้ (9 เมษายน 2562) กลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อความหลากหลายทางเพศ ตลอดจนตัวแทนจากภาคประชาสังคมต่าง ๆ ทั่วอาเซียนเข้ายื่นจดหมายแก่เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตบรูไนดารุสซาลามประจำประเทศไทย เพื่อเรียกร้องให้พิจารณายุติการบังคับใช้กฎหมายชารีอะฮ์ ซึ่งมีบทลงโทษรุนแรงและขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนที่บรูไนดารุสซาลามได้ลงให้สัตยาบันเป็นภาคี เช่น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ กฎบัตรอาเซียน อนุสัญญาต่อต้านการทรมาณและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีเป็นต้น

“องค์กรภาคประชาสังคมในภูมิภาคอาเซียนตระหนักถึงเจตนารมณ์ของรัฐบาลบรูไนที่จะ “รักษาความสงบเรียบร้อย ศาสนา ชีวิต ครอบครัว และบุคคล โดยไม่คํานึงถึง เพศ สัญชาติ เชื้อชาติ และความศรัทธา” ซึ่งเป็นเหตุผลเบื้องหลังในการบังคับใช้ประมวลกฎหมายชารีอะห์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแล้ว องค์กรภาคประชาสังคมในภูมิภาคอาเซียนได้แสดงความคิดเห็นร่วมกันว่า บทบัญญัติในกฎหมายดังกล่าวมี บทลงโทษที่รุนแรง และโหดร้ายมากเกินสมควร เช่น การลงโทษบุคคลที่มีส่วนร่วมในการซื้อขายบริการทางเพศ บุคคลที่รักเพศเดียวกัน บุคคลที่ตั้งครรภ์นอกสมรส บุคคลที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมาย ผู้ที่เข้าถึงการทําแท้ง หรือผู้ที่กระทําสิ่งที่ขัดต่อการตีความของรัฐศาสนาอิสลาม ด้วยการเฆี่ยนตี จําคุก และประหารชีวิต” แถลงการณ์ที่มีภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมลงชื่อกว่า 132 องค์กรจากประเทศต่าง ๆ ทั่วอาเซียนระบุ

แถลงการณ์ที่หลากหลายองค์กรฯร่วมกันร่างและมอบให้แก่เจ้าหน้าที่สถานทูตฯ

 

“การบังคับใช้กฎหมายชารีอะฮ์มีแนวโน้มที่จะใช้กับกลุ่มคนชายขอบของประเทศบรูไนอย่างหลีกเลี่ยง ไม่ได้ รวมถึงผู้หญิง เด็กและเยาวชน กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ (LGBTQI) ผู้ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ ชนกลุ่มน้อยทางศาสนา และกลุ่มผู้คัดค้านบทลงโทษที่กําหนดด้วย” และย้ำว่า “เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ควรแสดงถึงความพยายามที่จะ ปกป้องกลุ่มบุคคลเหล่านี้”

แถลงการณ์ที่หลากหลายองค์กรฯร่วมกันร่างและมอบให้แก่เจ้าหน้าที่สถานทูตฯ

ระหว่างการอ่านคำแถลงการณ์บริเวณหน้าสถานทูต มีการแสดงออกเชิญสัญลักษณ์ด้วยการแสดงหินทาสีรุ้งซึ่งแสดงความหลากหลายทางเพศ โดยเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตได้มารับจดหมายและยินดีส่งต่อให้รัฐบาลบรูไนต่อไป

การรวมตัวกันหน้าสถานทูตฯ บรูไนดารุสซาลามของกลุ่มเพื่อความหลากหลายทางเพศ


กฎหมายชารีอะฮ์ฉันทามติในสังคม ?

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยังดร.อณัส อมาตยกุล ปราชญ์ด้านศาสนาอิสลาม โดยอณัสชี้ให้เห็นว่าชารีอะฮ์มีอยู่ทั้งหมด 5 ด้านครอบคลุมทั้งด้านชีวิต ทรัพย์ กาม สติและธรรม เมื่อเทียบแล้วก็เท่ากับศีล 5 ของไทย อีกทั้งมาตรการการประยุกต์ใช้ในแต่ละสังคม แต่ละพื้นที่ มีระดับความอ่อนหรือเข้ม มากน้อยไปตามสภาพความเคร่งครัด หรือการประพฤติธรรม การปฏิบัติธรรมของมุสลิมในแต่ละสังคม เช่นเดียวกับบทลงโทษสำหรับการละเมิดข้อธรรมะ ก็มีความยืดหยุ่น หรือเข้มงวดขึ้นอยู่กับบรรยากาศและความเคร่งครัดของการประพฤติธรรมการปฏิบัติธรรมของมุสลิมในแต่ละพื้นที่ ซึ่งตัวรัฐ หรือ ผู้ปกครองจะพิจารณาเองจากความพร้อมของสังคมที่ตนดูแลและปกครอง

“องค์กรต่าง ๆ ที่ไปยื่นหนังสือร้องเรียน ก็ยื่นไปตามวัฒนธรรมของตะวันตก ที่มุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับ “มนุษยนิยม ” และ ” ธรรมชาตินิยม ” ที่มีความเป็นวัตถุนิยมและการแบ่งแยกธรรมะของจากวิถีชีวิตของมนุษย์ ทำให้ตระหนักแต่เพียงสิทธิที่มนุษย์พึงได้เสพ ได้ใช้ ได้กระทำไปตามความต้องการ และความปราถนา โดยวางหลักธรรม ไม่ว่าจะมาจากการตรัสรู้ชอบ หรือ การได้รับพระธรรม ที่ประทานมาจากพระผู้เป็นเจ้าไว้ข้างหลัง สิ่งที่อยู่ข้างหน้ามีเพียงแนวคิดตะวันตก” อนัสกล่าว

นอกจากนี้ อรัสยังกล่าวต่อว่าองค์กรต่าง ๆ “ไม่เข้าใจแก่นธรรมในศาสนาอิสลาม ตัวอย่างเช่นหลักชารีอะฮ์ไม่ได้ลงโทษตัดมือกับการลักขโมยทุกกรณีอย่างที่เข้าใจกัน แต่เงื่อนไขของทรัพย์ที่บุคคลขโมย ว่าต้องมีมูลค่าที่เจ้าทรัพย์เดือดร้อน ต้องไม่เป็นทรัพย์สาธารณะ เช่นสายไฟฟ้าแรงสูง ไม่ใช่ทรัพย์ราคาแพงที่เจ้าทรัพย์นำออกมาจากบ้าน หรือ จากตู้นิรภัยแล้วมาวางลืมไว้ในที่สาธารณะ และที่สำคัญ ต้องเป็นการขโมยในพื้นที่ๆ รัฐมีสวัสดิการเลี้ยงดู หากเป็นประเทศมุสลิม ที่ราษฎรหาเช้ากินค่ำ และรัฐไม่เลี้ยงดู รัฐไม่มีสิทธิที่จะลงโทษผู้ขโมยทรัพย์สิน เพราะผู้ขโมยมีความจำเป็นประทังชีพให้พ้นความอดอยาก เป็นต้น ”

นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวเป็นไปตามฉันทามติของผู้อยู่ใต้กฎหมาย เนื่องจากสังคมบรูไนเป็นเพียงสังคมเล็กและสังคมปิด
ราษฎรบรูไนอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ดูแลอย่างใกล้ชิดของสุลต่าน ได้รับสวัสดิการทั้งค่าเล่าเรียน ค่ารักษาพยาบาล ฯลฯ อย่างที่สังคมทั่วไปไม่ได้สัมผัส
ทำให้ผู้ปกครองบรูไนแลเห็นความพร้อมของสังคมเล็กๆและเรียบง่ายอย่างบรูไน กฎหมายชารีอะฮ์ที่บังคับใช้ประเทศต่างๆจึงมีความยืดหยุ่นตามความเห็นของผู้ปกครอง ว่า “ระดับการเข้าถึงธรรมะของประชาชนในปกครองมีความพร้อมเพียงใด”

“หากมีรัฐบาลไหนในไทยอยู่ๆ ประกาศว่าประเทศไทยในฐานะที่เป็นเมืองพุทธ แล้วบังคับใช้ศีล 5 เด็ดขาด หรือบังคับใช้ศีล 8 ห้ามขายเหล้า ห้ามดูหนังฟังเพลง จะมีผู้รับได้ไหม แน่นอนสังคมพุทธที่ยังห่างจากการประพฤติธรรมและปฏิบัติธรรมดังที่เป็นอยู่ในเวลานี้ย่อมมีผู้ลุกขึ้นมาต่อต้านทั้งในโซเชียลมีเดียและอาจบานปลายเป็นม็อบต่อต้านการบังคับใช้ศีล 5 และ ศีล 8 ในสังคมพุทธของประเทศไทย
เราจึงต้องดูความพร้อมของแต่ละสังคมด้วย” เขาตั้งคำถาม “สุลต่านเป็นทั้งนักนิติศาสตร์และนักรัฐศาสตร์เขาก็ต้องมองแล้วว่าประเทศเขาพร้อมไหม คนยอมรับไหมหรือมีม็อบไหม” โดยดร.อณัสแย้งว่า ในสังคมอย่างอินโดนีเซียซึ่งเป็นสังคมมุสลิมขนาดใหญ่ ก็จะเห็นได้ว่าไม่ได้บังคับใช้ชารีอะห์ข้อนี้หากแลเห็นว่าสังคมไม่พร้อม

ดร.อณัสเชื่อว่าหลักสำคัญของชารีอะห์อีกอย่างหนึ่งคือการที่บุคคลต้องเก็บเรื่องส่วนตัวของตนไว้ในพื้นที่ส่วนตัว หรือในสังคมปิด ในกรณีที่สังคมสาธารณะไม่อาจรับพฤติกรรมนั้นได้ ดังนั้นหากมีการนำรสนิยมส่วนตัว หรือ รสนิยมของสังคมปิดมาไว้ในที่สาธารณะ ในช่วงเวลาที่สังคมยังรับไม่ได้ ก็จะนำไปสู่การ “ขัดแย้งและความสับสนอลหม่านของสังคม”

สำหรับอณัสแล้ว เมื่อมองจากมุมมองของสังคมมุสลิมแล้วความหลากหลายทางเพศเป็นตัวเลือกส่วนตัว (Personal Choice) แต่การเปิดเผยในที่สาธารณะนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง หากเก็บไว้กับตัวก็ไม่มีใครว่า แต่การเปิดเผยออกมาในสังคมย่อมมีผู้ไม่ยอมรับ

“หากวันใดวันหนึ่งนายกรัฐมนตรีเราออกมาปรากฏตัวในโทรทัศน์ โดยแต่งหญิง คนไทยในระดับมหภาคก็จะไม่ยอมรับ และจะมีเสียงล้อเลียนเย้ยหยัน กร่นด่า ทั้งต่อหน้า และลับหลังในโซเชียลมีเดียต่างๆ ดังนั้นดุลยภาพอันพอเหมาะในแต่ละสังคมแต่ละพื้นที่เป็นเนื้อแท้ของสังคมมนุษย์” เขายกตัวอย่าง

ส่วนเรื่องสถานทูตประกาศแจ้งเตือนคนไทยที่ไปเที่ยวบรูไนให้ระวังข้อกฎหมายนี้ ดร.อนัสกล่าวว่า
“หากคุณเป็นหญิงที่มีใจเป็นชายไปเที่ยวบรูไน 3-4 วันจะไปทำผิดกฎเขาได้หรือไม่ เขาให้ไปเที่ยวชมหมู่บ้านประมงจะไปหาเด็กสาวได้จากไหน เวลาในโปรแกรมทัวร์ก็รัดตัว ความเสี่ยงที่จะโดนกฏหมายชะรีอะฮ์ก็น้อยมากๆ และไกลตัวเรา”

ปัจจุบันประเทศที่มีการลงโทษคนที่รักเพศเดียวกันได้แก่ซาอุดิอาระเบีย ซูดาน เยเมน และอิหร่าน โดยใช้โทษประหารชีวิต

เตือนคนไทยในบรูไนเลี่ยงการกระทำผิด หลังกม.อาญาชารีอะห์ มีผลบังคับ


“ถ้าอยู่บรูไน เราคงนิยามตัวเองว่าเป็นผู้ชาย”

“สมัยก่อนชุมชนมองเราเป็นตัวตลก เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราสาวน้อยลงและทำตัวแมนมากขึ้น แต่ก็ไม่เคยบอกว่าตัวเองเป็นผู้ชายหรือเกย์” แหล่งข่าวนักศึกษาวัย 23 นามสมมติอาร์ บอกกับทีมข่าวเวิร์คพอยท์ เขามีพื้นเพมาจากจังหวัดสตูล และครอบครัวเป็นมุสลิม แต่เลือกที่จะเปิดเผยเพศสภาวะของตนเองว่าเป็นเพศหลากหลาย

อาร์กล่าวว่าครอบครัวมุสลิมของตนน่าจะรู้เพศสภาวะเนื่องจากไม่เคยปกปิด แต่ก็มีความพยายามที่จะสร้าง “ความเป็นชาย” ให้ตนเองและพยายาม “ชดเชย” ความเป็นตัวตนด้วยวิธีอื่น “เราจะไม่พยายามทำให้เค้ายอมรับเราให้ฐานะผู้ชาย แต่เป็นในฐานะคนที่เค้าจะชื่นชมในความสามารถ ให้เค้าเห็นว่าเราไม่ใช่ตัวตลก ซึ่งวันนี้คิดว่าทำได้แล้ว เวลากลับบ้านไม่มีคนมาแซวเรื่องเป็นตุ๊ดแล้ว แต่ชื่นชมเราในฐานะเด็กดี ไม่เกเร”

อาร์ยอมรับว่าหากเขาไปอยู่ในบรูไน โอกาสในการเป็นตัวของตนเองคงจะน้อยกว่านี้หลายเท่า “คงนิยามตัวเองชัดเจนเลยว่าเราเป็นผู้ชาย โตขึ้นคงหาทางออกไปอยู่ต่างประเทศที่เป็นเกย์อย่างเปิดเผยได้ ถ้าหนีไม่ได้ ต้องอยู่บรูไนไปจนตาย ก็คงแต่งงานกับผู้หญิง และใช้ชีวิตแบบผู้ชายคนหนึ่ง”

กลับกันกับความเชื่อของดร.อณัสในข้างต้น เมื่อเวิร์คพอยท์ถามอาร์ว่าในฐานะมุสลิมคนหนึ่งแล้ว เขาคิดว่าศาสนากับสิทธิมนุษยชนจะสามารถไปด้วยกันได้ไหม เขากล่าวว่า “เรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องว่าใครควรมีสิทธิในชีวิตตัวเอง อะไรทำนองนี้ มันไม่ใช่ฐานคิดของเขาตั้งแต่แรก เค้าเชื่อว่าชีวิตเราไม่ใช่ของเรา แต่เป็นของพระเจ้า เราต้องทำตามที่พระเจ้าสั่ง”

“อิสลามมีหลักการข้อหนึ่งที่ว่า คัมภีร์คือคำพูดของพระเจ้า ห้ามเปลี่ยนแปลง ทำมายังไงก็ทำต่อไปอย่างนั้น คนก็เลยยังทำกันมาแบบเดิม ๆ แต่ทีนี้ ถึงคัมภีร์จะไม่เปลี่ยน แต่การตีความมันอาจผิดเพี้ยนได้ แล้วยังไม่นับถึงเรื่องการเมืองการตีความเข้าข้างตัวเองอีก หลายอย่างมันไม่ transparent มันจึงเป็นไปได้ว่า สารหรือกฎที่เค้าตีความออกมาในปัจจุบันเนี่ย มันอาจจะไม่ถูกต้อง”

“หากจะให้เขายอมรับเรื่องสิทธิมนุษยชน ก็คงต้องรื้อฐานคิดแต่ต้น ให้เข้าใจว่าถึงชีวิตนี้พระเจ้าจะสร้างมาแต่ก็ไม่ได้หมายว่าเราจะไม่มีสิทธิอะไรในชีวิตตัวเองบนโลกนี้ และเขาควรรู้ว่า ไม่ว่าอะไรที่เค้าเชื่ออยู่ ไม่ได้หมายความว่ามันจะถูก แล้วสิ่งที่คนอื่นเชื่อจะผิด เค้าไม่ได้ประเสริฐที่สุด และเค้าควรเรียนรู้ที่จะเข้าอกเข้าใจ เห็นอกเห็นใจคนอื่น”

อาร์ไม่ใช่คนเดียวที่เชื่อว่าบทบัญญัติทางศาสนาและเพศวิถีที่หลากหลายสามารถหาจุดลงเอยร่วมกันได้ ในหลากหลายประเทศมีการตั้งชุมชนชาวทุสลิมที่ประกาสตนเพศหลากหลายแต่ยังศรัทธาในพระเจ้า เช่น องค์การ Imaan ที่มีฐานที่มันอยู่ที่ลอนดอน ตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมของชาวมุสลิมเพศหลากหลายในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น เฉลิมฉลองและถือศีลในเทศกาลศีลอด ตลอดจนรณรงค์ต่อต้านความหวาดกลัวต่อเพศหลากหลายและความหวาดกลัวชาวมุสลิม (Islamophobia) ในเวลาเดียวกัน


แรงกดดันจากต่างชาติ ต่อสิ่งที่หลายคนเรียกว่า “เรื่องภายในประเทศ”

หลังกฎหมายใหม่ของบรูไนนี้เป็นกระแสข่าวขึ้นมา ก็ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากต่างชาติมากมาย ดาราดังนำโดย จอร์จ คลูนี่ย์ออกมาสนับสนุนให้คนเลิกใช้บริการโรงแรมหรูที่ผู้นำประเทศบรูไนเป็นเจ้าของ พิธีกรดัง เอลเลน ดีเจเนอเรส โพสต์รายชื่อโรงแรมดังกล่าว นำมาสู่การโจมตีมากมายจนโซเชียลมีเดียของโรงแรมดังกล่าวถูกลบออกจากแพลตฟอร์มออนไลน์

 

 

ภาคเอกชนก็ออกมาขานรับ เริ่มจากบริษัททัวร์ขวัญใจวัยรุ่นของสหราชอาณาจักรประกาศยกเลิกทัวร์ประเทศบรูไน แต่ก็มีกระแสโต้กลับว่าการบอยคอตนี้มีแต่ทำให้แรงงานระดับล่างได้รับผลกระทบ แต่ก็มีการถกเถียงว่าหากมีการบอยคอตต์มากพอ ความกดดันจะไปถึงนายจ้างด้วย

 

 

ด้านภาคกลไกระหว่างประเทศ นางมิเชล บาเชเลต์ ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชน แห่งสหประชาชาติก็ได้ออกมาเรียกร้องให้ประเทศบรูไนยับยั้งการใช้กฎหมายดังกล่าว และมีการรวมตัวประท้วงในหลาย ๆ ประเทศ เช่น ที่สหราชอาณาจักร ประชาชนเรียกร้องให้ถอดยศสุลต่านบรูไนออกจากกองทัพอากาศและกองทัพเรือของอังกฤษ ขณะที่มีการกดดันให้มหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ดเรียกรางวัลคืน

สุลต่านบรูไน ออกแถลงการณ์ หลังกฎหมายชารีอะห์ บังคับใช้เต็มรูปแบบ

การรวมตัวของอาเซียน ยากจะผลักดันประเด็นสิทธิมนุษยชน?

“ประเทศไทยกำลังจะเป็นประธานในการจัดประชุมอาเซียนในเดือนมิถุนายน ซึ่งทุกครั้งที่มีการจัดประชุมก็จะมีการจัดประชุมของภาคประชาสังคมคู่ขนานกันและมีการจัดประชุมประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ในอาเซียน ซึ่งเราตั้งใจเรียกร้องให้รัฐบาลในอาเซียนแก้ไขปัญหา” สุไลพร ชลวิไล นักเรียกร้องสิทธิเพื่อเพศหลากหลายกล่าว “หากอาเซียนเป็นครอบครัวเดียวกัน ถ้าคนในครอบครัวเราออกกฎหมายไปใช้อำนาจแล้วลงโทษคนอื่น แล้วเราจะยอมให้เขาทำแบบนั้นหรอ”

ปีนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอาเซียนก่อนจะเวียนไปให้ประเทศบรูไนเป็นเจ้าภาพในครั้งต่อไป สุไลพรกล่าวว่าหากเรายึดหรือเชื่อมั่นในสิทธิมุษยชนเราก็ควรเรียกร้องให้รัฐบาลไทยในฐานะเจ้าภาพ หรือกลไกต่างๆ เช่นองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนอาเซียน ที่ตั้งมาเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนควรจะมีจุดยืนว่าคิดเห็นอย่างไรต่อเรื่องนี้

อย่างไรก็ดี สุไลพรยอมรับว่าการเรียกร้องให้เกิดความคุ้มครองด้านสิทธิต่อคนเพศหลากหลายในอาเซียนนั้นเป็นไปได้ยากมาก
“หนึ่งการเป็นสมาชิกประชาคมอาเซียนมีข้อตกลงอันหนึ่งคือจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในแต่ละประเทศ
สอง ในประเทศอาเซียนมีประเทศจำนวนหนึ่งที่เป็นประเทศมุสลิม ซึ่งเขาไม่ยอมรับคนที่มีความหลากหลายทางเพศหรือคนที่มีไลฟ์สไตล์ในเรื่องเพศที่แตกต่าง ก็จะมีเหมือนกัน การพูดเรื่องนี้ทำได้ยาก สมมติประเทศไทยไม่ได้ซีเรียสกับเรื่องนี้มาก แต่ถ้าประเทศไทยพูดไปในเรื่องนี้ประเทศไทยก็กลัวว่าประเทศที่เป็นมุสลิมอื่นๆจะไม่ยอมรับ หลายประเทศก็ยังมีกฎหมายที่ลงโทษคนที่มีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันอยู่ เช่น สิงคโปร์ เมียนมาร์ มาเลเซีย เป็นต้น”

 

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า