SHARE

คัดลอกแล้ว

ผ่าแนวคิดพรรคการเมือง อนาคตสุขภาพคนไทย ตอน 2 

เวทีประชันนโยบายการเมือง ในหัวข้อ “หลักประกันสุขภาพ เรื่องสำคัญของคนไทย” ที่ช่องเวิร์คพอยท์-เวิร์คพอยท์ ออนไลน์ จัดขึ้นในบ่ายวันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ บริเวณชั้น 7 โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ สยามสแควร์วัน โดยมีตัวแทนจาก 4 พรรคการเมืองเข้าร่วม ได้แก่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จากพรรคเพื่อไทย นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ จากพรรคพลังประชารัฐ นายอภิิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์ และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พรรคอนาคตใหม่

เข้มข้นมากขึ้นในการตอบคำถามที่เปิดโอกาสให้ 4 ตัวแทนจากพรรคการเมืองใช้เวลาตอบได้แบบไม่จำกัดและยังสามารถใช้สิทธิ์ถูกพาดพิงชี้แจงได้ โดยคำถามในช่วงนี้เป็นการคัดเลือกมาจากผู้ชมเฟซบุ๊กไลฟ์ทางเพจ workpointnews คำถามจากผู้ดำเนินรายการคุณสุภาพชาย บุตรจันทร์ และผู้ชมที่เข้าร่วมรับฟังภายในโรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศแบบสดๆ

วิธีการแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จะทำอย่างไร?

สุวิทย์ : เรื่อง PM 2.5 ไม่ใช่เรื่องใหม่ทุกๆ ปีในช่วงนี้จะมีความเข้มข้นปีนี้หนักหน่วงหน่อย คิดว่ามาจากหลายปัจจัย อย่างที่ทราบอะไรที่เกิดจากการเผาไหม้ จะเป็นแหล่งกำเนิด PM 2.5 ทั้งนั้น ในเมืองเป็นเรื่องของรถยนต์ คิดว่าไม่ใช่เฉพาะรถที่ใช้น้ำมันดีเซล รวมทั้งการก่อสร้าง และปัจจัยภายนอก เรื่องการเผาสินค้าเกษตรต่างๆ มีการสะสมในช่วงที่อาการนิ่ง คิดว่าการแก้ปัญหา คือ ต้องมีมาตรการบังคับใช้กฎหมาย เช่น รถควันดำต้องไม่วิ่ง ไม่ขับต้องดับเครื่อง โรงงานรอบกรุงเทพมหานครถ้าไม่ได้มาตรฐานในการบริหารจัดการมลพิษต้องปิดตัว หรืออย่างน้อยต้องแก้ไข เข้มงวดเรื่องการก่อสร้าง

กรณีที่รัฐบาลแก้ปัญหา PM 2.5 ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จ?

สุวิทย์ : ตอนที่ผมเป็นรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น ได้ร่วมกับทางกองทัพในการที่ในการนำโดรนมาใช้ แต่โดรนที่ฉีดน้ำเฉยๆ ใช้ได้หรือไม่ เพราะPM 2.5 เป็นประจุลบ เพราะฉะนั้นน้ำจริงๆ เอาไม่อยู่ เราทดลองว่า PM 2.5 ต้องใช้การพ่นน้ำขนาด 10 ไมครอนเท่านั้นและเติมสารลดความตึงของผิว

การใช้โดรนฉีดน้ำ จริงแก้ปัญหาได้กี่เปอร์เซ็นต์?

สุวิทย์ : โดรนถ้าใช้ให้ถูกทาง มี 2-3 ปัจจัย คือขนาดที่พ่นถูกต้องหรือไม่ ต้องพ่นน้ำขนาด 10 ไมครอนและเติมสาร ถ้าจะให้พ่นดีๆ ต้องบรรจุน้ำ 10-15 ลิตรโดรนมีข้อจำกัดในเรื่องความจุ ถ้าพ่นดีๆ ขนาด 10 ไมครอนจะเท่ากับสนามฟุตบอล 2 สนาม แต่การใช้โดรนครั้งหนึ่งใช้หลายตัวมีอันตรายที่อาจจะชนกันเอง ตรงนี้ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย แต่ไม่ใช่ว่าเราไม่ลอง ก็ต้องทำการทดลองดู การใช้โดรนพ่นน้ำลด PM 2.5 เป็นเพียงมาตรการหนึ่งในหลายๆ มาตรการที่สมัยร่วมรัฐบาลทำการทดลองร่วมกับมาตรการอื่นๆ คิดว่า ถ้าเป็นเมืองจีนเขาไม่ใช่โดรน มันมีหลายวิธีการ

สมมุติขณะนี้เป็นรัฐบาลเจอปัญหา PM 2.5 จะแก้อย่างไร?

อภิสิทธิ์ : คือไม่อยากจะพูดว่ารัฐบาลเป็นคนสร้างฝุ่น แต่ต้องบอกว่าผิดหวังกับการจะดำเนินการหลายอย่างทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เรื่องแรกที่อยากเน้นคือ หน้ากากN95 ง่ายที่สุดเมื่อหน้าหากไม่เพียงพอ ควรจะอนุญาตให้นำเข้าโดยไม่เสียภาษี มีระบบช่วยดูแลไม่ให้เอารัดเอาเปรียบขายแพงจนเกินไป เห็นด้วยกับการบังคับใช้กฎหมาย และการให้ข้อมูลที่เป็นจริงและเรียลไทม์ว่า ถ้าเป็นอย่างนี้จะทำอย่างไรกับโรงงาน การก่อสร้าง หรือจราจร เราแทบไม่เห็นเลย เห็นแต่การปิดโรงเรียน นอกจากนี้เป็นโอกาสของการหันเหทิศทางพัฒนา เช่นเครื่องดักไอเสีย หรือเขม่าควันดำ ถ้าเป็นรถของรัฐทำเลย มีมาตรการจูงใจให้รถของผู้ประกอบการ รวมทั้งมาตรการทางภาษีสำหรับรถอื่นๆ ถ้าปล่อยมลพิษจะต้องเสียภาษีเพิ่มเติมอย่างไร และมีนโยบายชัดเจนที่จะหันไปใช้ยานยนต์ไฟฟ้า โดยดึงทุกฝ่ายเข้ามาหารือว่าควรแก้ปัญหาอย่่างไร เสนอให้รถขสมก.เปลี่ยนเลย ส่วนรถที่ได้รับสัมปทานเปลี่ยนเป็นรถเมล์ไฟฟ้า โดยรัฐช่วยอุดหนุนในส่วนที่จะทำให้ค่าบริการเพิ่มขึ้นแต่แข่งขันอย่างเป็นธรรม

ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมต้องมีการติดตั้งหน่วยวัดมลพิษ จะไม่เกิดปัญหาที่หน่วยราชการไปตรวจแล้วไม่เจอ รวมทั้งต้องไม่ให้อนุญาตโรงงานใหญ่ที่ปล่อยมลพิษ และไม่ให้ BOI อีกต่อไป ซึ่งตรงกันข้ามที่กับรัฐบาลนี้ทำกับเรื่อง EEC (เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก) กลายเป็นว่าอยากดึงการลงทุนไปยกเว้นกฎเรื่องผังเมือง ยกเว้นกฎเรื่องสิ่งแวดล้อมหวังจะดึงตัวเลขการลงทุน การพัฒนาด้วยแนวคิดแบบนี้ต้องเลิกและเปลี่ยนมาเป็นทิศทางที่ถูกต้อง พลังงาน ประชาธิปัตย์ประกาศเมื่อ 2 ปีที่แล้วว่า ไม่เอาแล้วโรงไฟฟ้าถ่านหิน ไปปารีสบอกว่าจะไปลดคาร์บอนไดออกไซด์ กลับมาอนุมัติโรงไฟฟ้าถ่านหินอีก 2 โรง สวนทางโดยสิ้นเชิง และแผนพัฒนา PDP (แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ) ต้องปรับมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้น ปรับให้รัฐวิสาหกิจประชาชนใช้โซล่ารูปท็อปได้มากขึ้น

และภาคการเกษตร การเผาในที่โล่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นสาเหตุสำคัญของ PM 2.5 ที่เกิดขึ้นมาคือเรื่องอ้อย จะบอกให้เกษตรกรหยุดเฉยๆ เป็นไปไม่ได้ เสนอว่า ทำไมท้องถิ่นกับกระทรวงเกษตรและผู้ที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่ลงไปช่วยเกษตรกร ถ้าไม่เผาจะมีต้นทุนเพิ่มอย่างไรที่จะช่วยเหลือ และปัญหานี้ไม่ใช่แค่ประเทศไทย เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับประเทศอื่นด้วย เป็นประธานอาเซียนต้องหยิบเรื่องนี้ขึ้นมา แล้วขอความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคนี้เพื่อไม่ให้เกิดมลพิษทางอากาศ

ภาพ ภานุมาศ สงวนวงษ์ / Thai News Pix

ธนาธร : ที่แน่ๆ PM 2.5 และปัญหาอื่นๆ แก้ไขไม่ได้ด้วยการสวดมนต์แน่ๆ ปัญหาอย่างเช่น PM 2.5 ต้องแก้ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นการใช้วิทยาศาสตร์ตรวจจับแหล่งที่มา แหล่งกำเนิด PM 2.5 ให้ชัดเจน นโยบายที่ทำได้ทันที เช่นการรับหลักการน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 แก้มลพิษ ใช้ระยะเวลา 3-5 ปี หรือบังคับใช้ในรถเมล์ในกรุงเทพฯและปริมณฑลทั้งหมด รวมถึงรถสองแถวเป็นรถไฟฟ้า ทำได้ทันที ประกาศไปอุตสาหกรรมเพิ่มด้วยสามารถผลิตรถไฟฟ้าในประเทศไทยได้อีก ไม่ต้องไปซื้อจากเมืองจีน ภาครัฐจะเป็นผู้วางนโยบายทำให้เกิดความต้องการภายในประเทศเพื่อไปสร้างอุตสาหกรรมได้

ประเทศไทยมีความรู้เพียงพอที่จะแก้ไข PM 2.5 วิธีการแก้ปัญหา ถ้ามีเรื่องใหญ่ระดับนี้ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนใหญ่ขนาดนี้ “ผู้นำ” ต้องนั่งหัวโต๊ะ ไปบอกให้ผู้ว่าฯ อัศวิน มาแก้ปัญหาไม่ได้หรอก วันก่อนผู้นำของเรายังบอกว่าให้ผู้อำนวยการเขตกรุงเทพฯ แก้ปัญหา ถ้าเขตไหน PM 2.5 เกินจะลงโทษ นี่วิธีคิดแบบทหาร มลพิษมันอยู่ในอากาศ คุณไปบอกให้ผู้ว่าเขตนี้ไปจัดการมลพิษ ลมพัดทีเดียวมันก็ไปเขตอื่นแล้วมันทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นซีเรียสมากถ้าจะทำไปบอกให้โรงงานหยุดผลิตชั่วคราว กลางวันหรือกลางคืน นี่คือหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรม จะไปบอกให้ก่อสร้างหยุดทำ อย่าเอารถบรรทุกขนาดใหญ่เข้ากรุงเทพฯ ต้องไปคุยกับกระทรวงคมนาคม อย่าเผาพืชการไร่เกษตร ต้องคุยกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถ้าจะไปบอกให้บีทีเอส เอ็มอาร์ทีลดค่าบริการเพื่อให้ประชาชนหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะมากขึ้นต้องคุยกับกทม. การจัดการกับหน่วยงานที่เยอะขนาดนี้ทำไม่ได้ ถ้าผู้นำไม่เรียกทุกคนมาแล้วนั่งหัวโต๊ะ ถ้าไม่เสี่ยงแก้ปัญหาระดับนี้ไม่ได้

อย่าลืมว่าเราเคยแก้ปัญหาที่ท้าทายประเทศไทยแบบนี้ เมื่อปีที่แล้ว จำ “หมูป่า” ได้ไหมครับ เราเคยดึงพลังของสังคม ดึงพลังของหน่วยงานต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชนเข้ามาแก้ไขปัญหาที่หนักหน่วงและสำเร็จมาแล้ว ถ้าเป็นผู้นำจะดึงพลังของส่วนต่างๆ มาช่วยกัน เชื่อว่ามีทรัพยากร มีความรู้ ศักยภาพเพียงพอที่จะจัดการกับปัญหานี้ ถ้าจัดการด้วยความเป็นวิทยาศาสตร์และวิสัยทัศน์ของความเป็นผู้นำ

ถ้าเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แล้วเจอปัญหา PM 2.5 จะแก้ปัญหาอย่างไร?

คุณหญิงสุดารัตน์ : ได้อยู่กระทรวงสาธารณสุขแก้ปัญหาโรคซาร์ส ไข้หวัดนก และสึนามิที่เกิดกับประเทศไทย ไม่คิดว่าใครเก่งกว่าใคร แต่การเป็นผู้นำต้องจริงใจกับประชาชนและต้องฟังประชาชน ไม่ใช่มองประชาชนเป็นพลทหาร ถ้าฟังจากการสัมภาษณ์พอใครพูดเรื่องฝุ่น ท่านก็จะมองเหมือนเป็นพลทหารเลยอย่างนู้นอย่างนี้ เห็นด้วยกับหลายท่านผู้นำต้องเข้าใจ ต้องจริงใจ และต้องฟัง ต้องบอกว่า PM 2.5 มองไม่เห็น เหมือนซาร์สกับหวัดนก ถ้ามัวแต่ปิดข่าวมันจะจบด้วยการที่คนตายอีกตั้งเท่าไหร่ ซาร์สเข้ามารายเดียวเราคุมได้ เราบอกความจริงและขอความร่วมมือจากประชาชน บอกความจริงกับประชาชนก่อนว่า ฝุ่นพิษจะมีผลอย่างไรต่อสุขภาพของประชาชนและจะอยู่กับเราอย่างยาวนาน อย่ามุ่งว่าเรื่องแจกฟรีอย่างเดียว คนงานที่ไซต์งาน คนกวาดถนน มอเตอรไซต์รับจ้างควรมีหน้ากากมาตรฐาน และลดภาษีให้คนทั่วไปซื้อได้

การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด รถควันดำ การก่อสร้างรถไฟฟ้าใช่ที่ว่าเป็น PM 10 ไม่ใช่ PM 2.5 แต่ PM 10 แตกตัวเร็วมากเป็น PM 2.5 และไม่เชื่อที่ไปตรวจโรงงานรอบกรุงเทพฯ แล้วบอกว่า ไม่มีโรงงานไหนเลยที่ไม่ปล่อยควันพิษนี้ออกมา ส่วนระยะยาวภายในปี 65 จะสนับสนุนรถไฟฟ้าอย่างเป็นระบบ จะลดภาษีสำหรับคนที่มีรถเก่ามาซื้อรถไฟฟ้า สนับสนุนให้มีหัวจ่ายไฟ น้ำมันดีเซลที่มีปัญหาทั้งๆ ที่เราใช้ำน้ำมันปาล์มได้ เราเกรงใจนายทุน บริษัทใหญ่ไหนที่เราต้องยืนการใช้ดีเซลจากการนำเข้า

สุวิทย์ : ขอเท้าความไปที่เรื่อง PM 2.5 เพราะเหมือน 3 คนมารุม 1 ไม่ว่ากัน ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะคิดและเราก็น้อมรับด้วย คิดว่าท่านนายกฯ เองมีความมุ่งมั่นและทำงานอย่างเต็มที่ มีหลายอย่างที่คอมเม้นต์มาแล้วไม่ตรงซะทีเดียว เช่นเรื่อง EEC หนึ่งในคลัสเตอร์นั้น คือ รถยนต์ EV ตอบโจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว ไม่ใช่ส่งเสริมเพื่อหาเม็ดเงินเข้ามาลงทุนเพื่อกระทบกับสิ่งแวดล้อมน่าจะเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ส่วนเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทุกอย่างต้องพิสูจน์ด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี มีโรงไฟฟ้าถ่านหินสมัยใหม่ที่เป็นคลีนเทคโนโลยี เรื่องเหล่านี้มีข้อถกเถียงกันได้

มีหลายคนบอก ทำไมไม่ปิดโรงงานไปปิดโรงเรียนเพราะเราเห็นความสำคัญของชีวิตมนุษย์ก่อน ถ้าอะไรที่ทำได้ก่อนและมีมาตรการต่างๆ ก็ตามมา เข้าใจว่ารัฐบาลตั้งใจมุ่งมั่นพอสมควรสะท้อนการปฏิรูประบบราชการอย่างแท้จริง ใครมาเป็นรัฐบาลก็ต้องเจอแบบนี้ ก็น้อมรับที่ว่าบางเรื่องไม่ทันใจคนที่คอมเม้นต์พูดได้ทั้งนั้น แต่คนที่ลงไป Action ก็เป็นอีกแบบหนึ่ง เป็นบทเรียนที่ในอนาคตคงนำไปสู่มาตรการตอบโจทย์ทันทีและความยั่งยืนต่อไป

(ขอบคุณภาพจากเพจ FB ก้าว)

คำถามจากผู้ชมไลฟ์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก workpointnews : ถ้าได้เป็นรัฐบาล จะให้พี่ตูน บอดี้สแลม วิ่งหาเงินให้กับโรงพยาบาลอีกหรือไม่?

อภิสิทธิ์ : ไม่อยากให้พี่ตูนต้องมาวิ่งเพื่อระดมเงินให้กับโรงพยาบาลเพื่อความขาดแคลน แต่ขณะเดียวกันส่วนบริการสาธารณสุขส่วนไหนที่อยากจะมีอะไรเป็นพิเศษ ก็ยังอยากให้พี่ตูน เหตุผลเพราะว่า เวลาพี่ตูนวิ่งมันรวมจิตใจและแสดงให้เห็นว่า คนธรรมดาคนหนึ่งถ้ามีความตั้งใจและพร้อมที่จะเหน็ดเหนื่อยสามารถชวนคนเป็นแสนเป็นล้านให้มาทำสิ่งดีๆ ร่วมกันได้ ไม่ต้องหยุดวิ่งแต่โรงพยาบาลต้องมีเงินพอ

ธนาธร : ต้องบอกก่อนว่าไม่ว่าจะเป็น พี่ตูนหรือพี่ตู่ ก็ไม่ควรจะต้องวิ่งเพื่อระดมทุน เพราะเรื่องพวกนี้เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องรับผิดชอบ ถ้าจะมีการรณรงค์อะไรสักอย่างจากสังคม ควรรณรงค์ให้อำนาจในการจัดสรรทรัพยากรในท้องถิ่นกลับเข้าไปที่ท้องถิ่นเอง รวมถึงโรงพยาบาลอำนาจทางการคลังที่จะบริหารโรงพยาบาลนั้น คืนอำนาจให้กับท้องถิ่นเพราะเขามีเจตจำนงที่แน่วแน่กว่า

คุณหญิงสุดารัตน์ : สงสารพี่ตูน ถ้าจะให้วิ่งเพื่อหาเงินให้กับโรงพยาบาลทั้งหมด สงสัยพี่ตูนต้องวิ่งรอบโลกหลายรอบ คนที่เป็นรัฐต้องรู้สึก ปรากฏการณ์พี่ตูนทำให้รู้ว่าวันนี้รัฐบกพร่อง สงสัญญาณให้รีบแก้ พี่ตูนไม่ใช่นายกฯ ตู่ วิ่งยังไงก็แก้ไม่ได้ แต่พี่ตูนทำให้คนไทยรวมใจเป็นหนึ่งในเรื่องความเดือดร้อนของทุกคน คือระบบการรักษาพยาบาล พี่ตูนทำเป็นน้ำใจเป็นการรวมใจ แต่ถ้าจะวิ่งรอบโลก 3 รอบก็ยังหาตังค์ไม่พอ ถ้ารัฐไม่เห็นปัญหา

สุวิทย์ : ไม่อยากให้เรื่องตูนเป็นเรื่องการเมือง แต่เป็นโซเชียลสปิริต ตูนอาจจะวิ่งไปเพื่อสร้างแรงบันดาลใจการศึกษา หรือสาธารณสุขก็ได้ส่วนนี้เป็นการเติมเต็มของสังคม เพราะถ้าบริหารจัดการดีๆ เงินเพียงพออยู่แล้ว เรื่องของคุณตูนเป็นเรื่องของจิตอาสา แบบเดียวกับที่เรามีที่เชียงราย อย่ามองว่าสะท้อนความล้มเหลวของรัฐบาลหรืออะไรทั้งสิ้น ถ้ารัฐบาลชุดใหม่มาเป็นใครก็ไม่รู้แล้วให้คุณตูนมาวิ่ง ก็บอกว่าเป็นความล้มเหลวของรัฐบาลได้อีก ซึ่งไม่น่าจะเป็นอย่างนั้นเป็นการสรุปที่ด่วนเกินไป

(พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา)

จากนั้นเป็นช่วงที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมภายในโรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศร่วมแสดงความเห็น คนแรก “นิมิตร เทียนอุดม” กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ตั้งข้อสังเกตเรื่องการตอบคำถามเรื่องการรวมกองทุน 3 กองทุนตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ มาตรา 10, 11 ซึ่งตอบในเชิงเทคนิคมากเกินไป ทั้งที่โจทย์ใหญ่ คือ เงินไม่พอเฉพาะบัตรทอง และคนที่สอง พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เป็นเลขาธิการแพทยสภา ตั้งคำถามเรื่อง นโยบายการดูแลแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขกว่าแสนคน?

คุณหญิงสุดารัตน์ : ลดภาระงานที่ไม่จำเป็น ดูแลค่าตอบแทน ตำแหน่ง และคุ้มครองจากการฟ้องร้อง

สุวิทย์ : เงินบำรุงของโรงพยาบาลน่าจะมาช่วยเติมเต็มได้ ที่สำคัญคือ ม. 41 คุ้มครองบุคลากร อุปกรณ์เครื่องมือ การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริม และสำคัญที่สุด คือ จำเป็นในการย้ายการใช้บริการของประชาชนที่มากระจุกตัวในโรงพยาบาลใหญ่ไปสู่ชุมชนให้มากขึ้น

อภิสิทธิ์ : ผลักดันนโยบายผลิตแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้เพียงพอ และไม่ส่งเสริมการบริการสาธารณสุขเชิงพาณิชย์ เช่น Medical hub แต่ไม่เห็นเหตุผลทำไมรัฐต้องเอาทรัพยากรของคนส่วนใหญ่ไปเติมในส่วนนั้นและมีส่วนสำคัญในการดึงทรัพยากรออกจากภาครัฐ เราต้องการให้เกิดบริการทัดเทียมถ้าคิดแค่ยุบ 3 กองทุนถามว่า อะไรเกิดขึ้น ส่วนของประกันสังคมตรงนี้จ่ายภาษีเหมือนเดิมมารับบริการใกล้เคียงเดิม แต่เงินที่เคยมาช่วยระบบสุขภาพ ส่วนเงินประกันตนจะหายไป เงินในระบบราชการไม่มีกองทุนไม่มีหลักประกันอะไรเลยว่า ถ้าเลิกระบบตรงนี้แล้วเงินในราชการจะกลับมา ไม่ใช่ไม่กล้าฟันธง เราได้ศึกษาปัญหานี้แล้ว คำตอบสุดท้ายคือการปฏิรูประบบภาษี และการระดมทุนจากคนที่มีกำลังจ่ายในสังคม

ธนาธร : ท้ายที่สุดต้องรวมกองทุนแต่ไม่ใช่เวลานี้ ไม่เคยบริหารราชการมาก่อนจึงไม่มีการเข้าถึงข้อมูลที่ทำให้ตัดสินใจได้ถูกต้องว่า ควรจะเป็นภายในกี่ปี แต่ทางสุดท้ายอยากเห็นรวมกัน เริ่มต้นที่ประกันสังคม เพราะจ่ายซ้ำซ้อน ย้ำ 3 กองทุนโตเท่ากันไม่ได้ อีกเรื่องคือการจัดการ ความแออัดในโรงพยาบาลและเรื่องอื่นๆ เห็นว่า บริหารด้วยกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ จะเป็นคอขวดในการตัดสินใจในการบริหารที่ร้ายแรงที่สุด

ส่วนสำคัญที่จะมีผลต่อ “อนาคตสุขภาพคนไทย” คือนโยบายจากภาครัฐ ดังนั้นใครจะมาเป็นรัฐบาลใหม่จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะสุขภาพเป็นเรื่องของคนทุกคน ไม่ว่ายากดีมีจนหนีความเจ็บป่วยไข้ไปไม่พ้น แถมยังมีโรคและอันตรายใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพเกิดขึ้นมาทุกปีจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ทั่วโลกต้องเผชิญ ซึ่งนับวันมีแต่จะรุนแรงขึ้น 24 มีนาคมนี้จึงมีความสำคัญมากที่คนไทยจะเลือกอนาคตสุขภาพให้กับตัวเอง 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า