ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เผย อนุญาโตตุลาการชี้ขาด สั่งการทางพิเศษแห่งประเทศไทย หรือ กทพ.จ่ายเงินชดเชยพร้อมดอกเบี้ย “บีอีเอ็ม” คดีการขอปรับค่าผ่านทางพิเศษเฉลิมมหานคร และทางพิเศษศรีรัชปี 2551 จำนวน 9,091 ล้านบาท
วันนี้ (1พ.ย.61) รายงานข่าวจาก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ระบุว่า บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม แจ้ง ตลท.ว่า ตามที่ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 13 มิ.ย.2556 เพื่อเรียกร้องให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ชำระเงินส่วนต่างรายได้ ค่าผ่านทางตามประกาศกระทรวงคมนาคม ฉบับลงทุนวันที่ 15 ส.ค.2551 กับอัตราค่าผ่านทางที่ถูกต้องตามสัญญานั้น
เมื่อวันที่ 30 ต.ค.2561 บีอีเอ็ม ได้รับทราบคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการลงวันที่ 24 ต.ค.2561 โดยมีมติเอกฉันท์ชี้ขาดให้ กทพ.ชดใช้ค่าเสียหายให้บีอีเอ็ม ดังนี้
- ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย 9,091.79 ล้านบาท และดอกเบี้ยผิดนัดตามสัญญาระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ข้อ 25.6 ของต้นเงินค่าเสียหาย 7,909.59 ล้านบาท คิดเป็นรายวันนับตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2556 เป็นต้นไป จนกว่า กทพ.จะชำระเสร็จ
- ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินผลต่างส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทางตามอัตราค่าผ่านทางตามประกาศกระทรวงคมนาคมฉบับลงวันที่ 15 ส.ค.2551 กับส่วนแบ่งที่บีอีเอ็มมีสิทธิจะได้รับตามสัญญา โดยคำนวณตามจำนวนรถยนต์แต่ละประเภทที่ใช้ทางตามจริงเป็นรายวัน นับตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2556 เป็นต้นไป รวมทั้งชำระดอกเบี้ยผิดนัดตามสัญญาข้อ 25.6 ของผลต่างส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทาง นับตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2556 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยให้บีอีเอ็มจนเสร็จสิ้น
ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2556 บีอีเอ็ม สามารถยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อให้ศาลทำการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการภายใน 3 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับคำชี้ขาดได้ ในขณะที่ กทพ.อาจขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาด โดยยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำชี้ขาด
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง เพิ่มเติม >>>