Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ประชาชนชมการถ่ายทอดสด รายการของ คสช.ที่ออกอากาศครั้งแรก ปี 2557

ห้วงเวลาก่อนงานมหกรรมหนังสือมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 24 ที่ย้ายจากศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ไปจัดที่ อิมแพ็ค เมืองทอง เป็นครั้งแรก มีหนังสือน่าสนใจของคนในแวดวงการเมือง 2 เล่ม ออกมาในระยะเวลาใกล้เคียงกัน

ความน่าสนใจของหนังสือ 2 เล่ม คือ บทบันทึกการเมืองไทยในห้วงเวลาคาบเกี่ยวการเข้ามาและคงอยู่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในช่วง 5 ปี

เล่มแรก คือ “กกต. ม.44 เชิงอรรถการเมืองไทย 2556-2561” เขียนโดย สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กรรมการการเลือกตั้ง ที่ถูกปลดด้วยอำนาจ ตาม มาตรา 44 และกลับมาลงสนามเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 ด้วยตนเองในนามพรรคประชาธิปัตย์ ที่สมุทรสาคร บ้านเกิดแต่ไม่ได้รับเลือกเป็น ส.ส.

หนังสือเล่มนี้ อดีต กกต.สมชัย เล่าเรื่องราว ตั้งแต่ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 5 เสือ กกต. และเล่าเหตุการณ์การจัดการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่สามารถรับสมัครได้ในหลายจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ที่ถูกสกัดโดยกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. ที่ไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว เหมือนที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องการ

ก่อนหน้านี้ ภาพจำของหลายคนกับบทบาทของ กกต.ชุดนั้น คือ การไม่อยากจัดการเลือกตั้ง ถึงขนาดนิตยสารการเมืองรายสัปดาห์ขึ้นปกว่า “คณะกรรมการไม่อยากเลือกตั้ง”

ภาพ FB สมชัย ศรีสุทธิยากร

ในงานเขียนเล่มนี้ อดีต กกต.สมชัย จะเล่าถึงอุปสรรคต่างๆ ที่เจอ ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านเห็นความพยายามในการแก้ปัญหา เลยไปจนถึงขั้นเห็นใจ กกต. ส่วนจะคล้อยตามหรือไม่คงขึ้นอยู่กับผู้อ่านแต่ละคน

(แต่ที่น่าเสียดายคือ กรณีบทกลอน “ต้องทำใจ งานใหญ่ ให้ต้องเอียง” ที่เคยเป็นประเด็นการเมืองในห้วงที่มีปัญหา ไม่ได้ถูกนำมาอธิบายถึงเจตนาที่แท้จริงและเหตุว่าทำไมถึงเลือกที่จะโพสต์กลอนที่อาจจะถูกตีความกำกวมได้ในช่วงนั้น)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งหัวโต๊ะการเจรจาคู่ขัดแย้ง ก่อนประกาศยึดอำนาจ

อย่างไรก็ตาม ส่วนที่เป็นไฮไลต์ที่สุดของหนังสือเล่มนี้ คือ บทที่ 21 ที่บันทึกช่วงเวลาวันที่ 21 พฤษภาคม 2557 ก่อนที่ คสช.จะยึดอำนาจ 1 วัน โดยตอนนั้น คสช.ได้ประกาศกฎอัยการศึกและเชิญตัวแทน 7 ฝ่ายประกอบด้วย รัฐบาล, วุฒิสภา, กกต., พรรคเพื่อไทย,พรรคประชาธิปัตย์, กปปส.และ นปช. ไปหารือเพื่อหาทางออกที่สโมสรกองทัพบก

ในวงหารือที่เป็นความลับไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนและผู้ไม่เกี่ยวข้องร่วมฟัง อดีต กกต.สมชัย นำโทรศัพท์เข้าไปบันทึกการสนทนาทั้งหมด และนำมาถ่ายทอดคำต่อคำให้เห็นว่าใครพูดอะไรบ้าง (มีรายงานว่าเพราะเนื้อหาในบทนี้ทำให้สำนักพิมพ์ใหญ่เลี่ยงจะจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ให้ จนได้สำนักพิมพ์ คบไฟ ที่ปกติพิมพ์งานวิชาการเป็นผู้จัดพิมพ์แทน)

ภาพที่เราเห็น คือ พล.อ.ประยุทธ์ ที่นั่งหัวโต๊ะท่ามกลางคู่ขัดแย้ง ยังเล่นมุขเฮฮา แซวผู้ร่วมเจรจา เรียกเสียงหัวเราะได้ไม่ต่ำกว่า 5-6 ครั้ง ไม่ได้เหมือนภาพที่เราเห็นหน้ามุ่ยออกจากที่ประชุมตามภาพข่าว ซึ่งอาจจะตีความได้ว่าต้องการให้บรรยากาศผ่อนคลายลง หรือคนที่คิดไปไกลก็อาจจะมองว่าเป็นความมั่นใจของคนที่มองไปยังเรื่องที่รออยู่ข้างหน้าแล้ว

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะพูดกับที่ประชุมว่า “ต้องสรุปให้ได้วันนี้นะครับ” แต่ก็เป็น นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช.ที่เสนอให้แต่ละฝ่ายกลับไปคิดและนัดหมายอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์เห็นด้วย

น่าเสียดายอย่างยิ่งที่การประชุมวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 วันยึดอำนาจ เราไม่ได้อ่านคำต่อคำว่าใครพูดอะไรเหมือนวันก่อนหน้า ทั้งที่ อดีต กกต.สมชัย เตรียมจะอัดเสียงผู้เข้าร่วมประชุมไว้อีกรอบ เพราะมีการตรวจค้นโทรศัพท์และเครื่องอัดเสียงโดยละเอียด ซึ่งต้นเหตุอดีต กกต.สมชัย ก็ยอมรับเองว่า อาจเป็นเพราะตนเองถ่ายรูปเซลฟีบรรยากาศในที่ประชุมวันก่อนเผยแพร่ออกไปและสื่อนำไปเล่นต่อ

ประวัติศาสตร์ส่วนนี้จึงหายไปอย่างน่าเสียดาย

แต่ที่ยังต้องชมคือ ทักษะในการจดบันทึกและเล่าเรื่องของ อดีต กกต.สมชัย ที่ยังคงทำให้เรายังพอเห็นภาพช่วงเวลาก่อนยึดอำนาจ และยังมีมุขตลกส่งท้ายจาก พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนที่อีกไม่กี่นาทีต่อมาจะเหลือจะแต่ความเงียบ ไม่เหลือเสียงหัวเราะอีกต่อไป เมื่อประโยค “นาทีนี้ขอยึดอำนาจ” ออกจากปากของผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปอีกไม่นาน

ส่วนที่เหลือของหนังสือ “กกต. ม.44 เชิงอรรถการเมืองไทย 2556-2561” จะเล่าถึง มุมมองของอดีต กกต.สมชัย ต่อเหตุการณ์ต่างๆ หลังจากนั้นและจบลงที่การพ้นจากตำแหน่ง กกต.

ภาพ FB Matichon Book – สำนักพิมพ์มติชน

ช่วงไฮไลต์ของ หนังสือของอดีต กกต.สมชัย จะเป็นจุดเริ่มต้นของหนังสือ “ลงเรือแป๊ะ” โดย วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลทั้งประยุทธ์ 1 และประยุทธ์ 2 ที่จะเริ่มต้นด้วยการนิยามคำว่า “เรือแป๊ะ” และเล่าเหตุการณ์การพบกันแบบตัวต่อตัวครั้งแรกของตนกับ “แป๊ะ” พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อ 9 มีนาคม 2557 ไม่นานหลังช่วงหลังการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 ล่ม โดย รองนายกวิษณุ ได้รับการประสานให้นำข้อเสนอจากคนกลุ่มหนึ่งไปคุยกับ ผบ.ทบ.ที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์

ในการพูดคุยประมาณ 1 ชั่วโมง ที่ไม่ได้ชี้ชัดให้เห็นทางออกใดๆ แต่ประโยคจาก พล.อ.ประยุทธ์ ที่รองนายกฯ วิษณุ บันทึกไว้คือ พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า ห่วงสถานการณ์บ้านเมืองจนนอนไม่หลับมาหลายเดือน หากปล่อยไปตามธรรมชาติแล้วมีคำตอบน่าพอใจก็ปล่อยไป

“แต่ถ้าไม่มีคำตอบที่น่าพอใจก็คงต้องป้องกันหรือตัดไฟแต่ต้นลม”

วิษณุ บอกว่านั่นคือการพบกันเพียงแค่ครั้งเดียว จนต่อมาเกิดการยึดอำนาจ ซึ่งวันนั้นเขาไปพบแพทย์เพื่อตรวจตาที่ศิริราชและต้องยกเลิกเพราะหมอเกรงเรื่องเคอร์ฟิว

แล้วเมื่อช่วงเวลาชุลมุนผ่านไป คสช.ต้องจัดการกับเรื่องกฎหมาย วิษณุ ก็ถูกตามตัวไปช่วย ทีมของ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา และต่อมาก็ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว หลังจากนั้น รองนายกฯ วิษณุ ระบุว่า ได้แจ้งกับหัวหน้า คสช.ว่าจะไปเที่ยวที่ฝรั่งเศสกับครอบครัวตามทริปที่วางแผนไว้นานแล้ว

พล.อ.ประยุทธ์ ตอบกลับในตอนนั้นว่า เที่ยวให้สนุก พอหายเหนื่อยแล้วกลับมาช่วยบ้านเมืองนะ

แล้ววันที่ พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจและได้รับเลือกจาก สนช.เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของประเทศไทยแล้ว ก็มีโทรศัพท์ มาหา รองนายกฯ วิษณุ โดยเสียงปลายสายถามว่า “พี่จะมาช่วยผมไหม”

จากนั้นทั้งรัฐบาลประยุทธ์ 1 และ ประยุทธ์ 2 ก็มีรองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมาย ที่ชื่อ วิษณุ เครืองาม

แม้ “ลงเรือแป๊ะ” จะบันทึกเรื่องราวสิ้นสุดแค่ รัฐบาลประยุทธ์ 1 โดยไม่ได้ต่อยาวไปจนถึงการเข้ารับตำแหน่งและปมการถวายสัตย์ก่อนรับหน้าที่ ยุครัฐบาลประยุทธ์ 2 ที่เป็นประเด็นใหญ่ทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา

แต่หากอ่าน “ลงเรือแป๊ะ” ทั้งเล่มแล้วก็จะเข้าใจได้ไม่ยากว่า ทำไมมือกฎหมายคนสำคัญอย่าง รองนายกฯ วิษณุ ถึงต้องออกแรงชี้แจงและต้องคลี่คลายสถานการณ์นี้ให้ผ่านไปได้

เพื่อให้นายกรัฐมนตรีที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังอยู่ในตำแหน่งและทำงานได้ต่อไป

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า