SHARE

คัดลอกแล้ว

ปี่กลองเลือกตั้งดังขึ้นเรื่อยๆ ชนิดที่ทุกคนรับรู้ได้ ทั้งจากสัญญาณอย่างเป็นทางการเช่นคำประกาศของนายกรัฐมนตรี และอย่างไม่เป็นทางการเช่นความเคลื่อนไหวของนักการเมือง และคนที่กำลังจะเป็นนักการเมือง

และเป็นที่รู้อีกเช่นกันว่าการเลือกตั้งครั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นเดิมพันครั้งใหญ่ของฝ่ายที่กุมอำนาจในปัจจุบัน หลังจากที่พวกเขาเข้ามายึดอำนาจการปกครอง และต้องการวาดรูปการเมืองให้กลับไปเป็นรูปแบบก่อนปี 2540 กล่าวคือมีรัฐบาลที่ไม่เข้มแข็งนัก และมีกลุ่มคนบางกลุ่มสามารถกำหนดชะตาการบริหารประเทศได้ โดยที่รัฐบาลเป็นเพียงหุ่นเชิดออกหน้าเท่านั้น

แต่พวกเขาก็รู้ว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการเมืองนับตั้งแต่ปี 2540 มานั้นเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ จนถึงขนาดที่ทำให้แกนแห่งอำนาจนั้นเปลี่ยนขั้วได้อย่างสิ้นเชิง โดยมาอยู่กับกลุ่มคนที่เรียกว่า “นักการเมือง” และ “พรรคการเมือง” ภายใต้นโยบายการหาเสียงที่โดนใจที่เรียกกันว่า “ประชานิยม”

ดังนั้นภารกิจเพื่อรองรับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นจึงต้องวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อป้องกันมิให้พรรคการเมืองเดิมกลับมาเอาชนะได้อีก เพราะนั่นอาจหมายถึงการสิ้นสุดลงของอีกกลุ่มอำนาจอย่างเป็นทางการ

จึงไม่แปลกที่การเลือกตั้งที่จะเกิดใช้เวลาค่อนข้างมากนับจากวันที่ยึดอำนาจ นับรวมแล้วกว่า 5 ปี มากกว่าเมื่อปี 2549 มากกว่าเมื่อปี 2534 เสียอีก เพราะพวกเขาไม่ต้องการ “เสียของ” อีกต่อไป

.

กลไกถูกเขียนขึ้นอย่างร้อยรัดและรุดกุมเพื่อเป้าหมายในชัยชนะ กลยุทธ์และกลศึกที่หลากหลายถูกวางซ้อนทับเพื่อเป็นหลักประกันว่าพวกเขาจะกุมชัยชนะอย่างแน่นอน

พวกเขาตีโจทย์แตกละเอียดว่า หากต้องการการเมืองอย่างที่หวัง ต้องเปลี่ยนที่รูปแบบการเลือกตั้งเป็นอย่างแรก เพราะนี่เองเป็นสิ่งที่ทำให้การเมือง “เปลี่ยนรูป” ไปตั้งแต่ปี 2540 ด้วยกลไกการเลือกตั้งแบบเดิมทำให้พรรคการเมืองสามารถกุมอำนาจได้แบบเบ็ดเสร็จ มีพรรคการเมืองที่สามารถเป็นรัฐบาลได้แบบพรรคเดียว

กลไกแรกที่พวกเขาต้องวางคือ ออกแบบการเลือกตั้งที่ทำอย่างไรก็ได้ ไม่ให้มีพรรคใดครองอำนาจแบบเด็ดขาดจนรัฐบาลมีความเข้มแข็ง การเมืองอย่างที่พวกเขาต้องการเห็นคือการเมืองที่มีพรรคการเมืองหลายพรรคเข้ามาเป็นพรรคร่วมรัฐบาล มีการแบ่ง การแชร์ผลประโยชน์ และการต่อรอง

การเลือกตั้งแบบ “สัดส่วนผสม” จึงถูกออกแบบมาเพื่อไม่ให้มีใครครองเสียงข้างมาก โดยใช้คะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วประเทศเป็น “ป็อปปูลาร์โหวต” เพื่อใช้ในการคำนวณจำนวน ส.ส.ของแต่ละพรรคที่พึงจะมี (นำจำนวนคะแนนที่มาใช้สิทธิทั้งประเทศหารด้วยจำนวน ส.ส. 500  คน จะได้เพดาน ส.ส. ที่แต่ละพรรคพึงมี)

นั่นอาจจะดูดีด้วยข้อโฆษณาที่บอกว่าเป็นการสะท้อนความต้องการของประชาชน หากแต่วิธีการเหล่านี้ถูกวางกลไกทับไปด้วยการกำหนดให้มีบัตรเลือกตั้งใบเดียว ที่จะใช้เป็นทั้งคะแนนแบบแบ่งเขตและคะแนนป็อปปูลาร์โหวต

ทำให้การเลือกตั้งในครั้งนี้ ผู้มีสิทธิจำต้องเลือกเลยว่า ในสิทธิที่จะกาบัตรได้เพียงหนึ่งครั้งนั้น พวกเขาจะเลือกกาให้ใคร จะกาเพื่อเลือกพรรคหรือเลือกคน หากผู้สมัคครที่เขารักอยู่พรรคเดียวกันกับที่เขาชอบก็ไม่มีปัญหา แต่จะมีเรื่องให้ชาวบ้านต้องคิดทันทีว่า หากผู้สมัครที่ตัวเองรัก ชื่นชอบ หรือ “เกรงใจ” ไม่ได้สังกัดพรรคที่อยากเลือก เขาจะทำอย่างไร เพราะอำนาจการกามีได้เพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น

นี่เองที่ทำให้หลายคนบอกว่าเป็นการสลายความเป็นพรรค

เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีการวางกลไกให้แต่ละพรรคได้เบอร์ไม่เหมือนกันในทุกๆ เขต ทำให้การหาเสียงเพื่อพรรคมีความยากยิ่งขึ้น ผู้สมัครหลายคนอาจต้องหาเสียงเพื่อตัวเองมากกว่าพรรค และในอีกทางประชาชนก็จะยิ่งสับสน และตัดขาดจากพรรคมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีเรื่องการห้ามหาเสียงที่เป็น “นโยบายประชานิยม” ทำให้การหาเสียงด้วยนโยบายทำได้ยากยิ่งขึ้น

เมื่อถูกตัดขาดจากการหาเสียงเชิงนโยบาย ก็ทำให้พรรคไม่รู้จะหาเสียงด้วยอะไรและสร้างความแตกต่างในความนิยมของแต่ละพรรค ดังนั้นการหาเสียงก็จะกลับมาที่คำสัญญาอันไม่เกี่ยวเนื่องด้วยนโยบายและมุ่งเน้นไปที่ความนิยมในตัวบุคคลเป็นหลัก

วิธีการเช่นนี้เป็นการเมืองแบบก่อนการเลือกตั้งปี 2540 และวิธีการเช่นนี้ทำให้เชื่อได้ว่า จะไม่มีพรรคใดพรรคหนึ่งได้เสียงเด็ดขาด และนำมาซึ่งรัฐบาลผสมเหมือนในอดีตที่เป็นมา

นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งปัจจัยที่จะเป็นตัวแปรสำคัญ นั่นคือเมื่อทุกคะแนนถูกนำมาคำนวณเป็นที่นั่ง ทำให้ผู้ที่ได้คะแนนที่สอง ที่สาม ที่สี่ ล้วนมีความหมายทั้งสิ้น เพราะจะถูกนำมาคำนวณเป็นจำนวน ส.ส. ของพรรค  ซึ่งวิธีนี้เองที่เรียกกันว่า “คะแนนไม่ตกน้ำ”  

และด้วยคะแนนไม่ตกน้ำนี้ ยิ่งจะทำให้มีพรรคการเมืองที่มาแชร์ที่นั่งในสภามากขึ้นไปอีก

แต่ด้วยกลไกทางกฎหมาย และอำนาจอาจไม่เพียงพอต่อการคว้าชัยชนะ ดังนั้น “เกมการเมือง” จึงถูกนำมาใช้ด้วยเช่นกัน เพราะหากอยากชนะ นักการเมืองก็ต้องคิดและทำแบบนักการเมือง นี่เป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่พวกเขาอ่านและตีแตก

เราจึงเห็นกระบวนการเตรียมตั้งพรรคการเมือง และกวาดต้อน ส.ส. เข้ามาอยู่ในสังกัด หรือที่เรียกกันว่า “ดูด”

ว่ากันตามจริงแล้ว การ ”ดูด” ไม่ใช่เรื่องใหม่ทางการเมือง หากมีมาทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะใครที่อยากเป็นรัฐบาลผ่านการเลือกตั้งก็ต้องดูดนักการเมืองเสียงดีมีคะแนนมาอยู่ในสังกัด

และครั้งนี้ยิ่งมีความหมาย ในอดีตอาจจะคัดแต่นักการเมือง “เกรดเอ” ประเภทที่ได้รับเลือกตั้งแน่ๆ แต่ครั้งนี้ “เกรดบี เกรดซี” ก็มีค่า เพราะทุกคะแนนมีความหมาย

นี่จึงเป็นกลยุทธ์ที่ถูกวางไว้อย่างซับซ้อน ให้สอดรับกัน ให้กฎหมายสอดคล้องกับกลยุทธ์ทางการเมือง

.

นอกจากนี้ยังมีอีกปัจจัยที่พวกเขามองเห็นเช่นกัน นั่นคือหลังปี 2549 การเมืองถูกแบ่งเป็นสองขา ขาหนึ่งเป็นขานักการเมืองอันว่าด้วย ส.ส. และที่นั่งในสภา อีกขาคือขามวลชน ที่คอยหนุนเนื่องอยู่นอกสภา ซึ่งสำหรับพรรคเพื่อไทยก็คือ “เสื้อแดง”

กลุ่มมวลชนเหล่านี้มีความภักดีกับพรรคและรูปแบบการเมืองที่เขาชื่นชอบเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นหากต้องการจะสลายหรือทอนกำลังลง ก็ต้องทำให้ “เสื้อแดง”  อ่อนแอ

และแกนนำเสื้อแดงเองก็เป็นนักการเมืองคนหนึ่ง จึงเกิดยุทธการ “ดูดแกนนำแดง” ขึ้นมา โดยเริ่มด้วยพื้นที่ที่อ่อนไหวและมีความขัดแย้งระหว่าง “ขาพรรค” และ “ขามวลชน”

แต่ ณ จุดนี้ยังเป็นคำถามใหญ่ว่าสูตรการดูดแกนนำมวลชนนั้นจะง่ายเหมือนการดูดอดีต ส.ส. หรือไม่ เพราะมวลชนดูเหมือนจะภักดีต่อความเป็นพรรคและรูปแบบการเมืองมากกว่าตัวบุคคล ดังนั้นแม้แกนนำจะไป แต่จะมีมวลชนตามไปหรือไม่ยังเป็นข้อสงสัยและรอการพิสูจน์

นอกจากนี้ยังมีเรื่องการดูดพรรคพันธมิตรที่รับปากกันว่าหากเลือกตั้งเสร็จจะจับมือกันหนุน “ใครบางคน” ขึ้นเป็นนายกฯ แลกกับผลประโยชน์ทางการเมือง

ทั้งหมดจึงเป็นการวางแผนอย่างแยบยลเพื่อชนะศึกการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ผ่านยุทธศาสตร์ทางกฎหมายและการเมือง

.

แต่หากยังแพ้อยู่เล่าจะทำอย่างไร

พวกเขาก็ได้เขียนทางแก้ไว้ในรัฐธรรมนูญอยู่ดี เพราะยังมีกลไกควบคุมอันเข้มข้นไม่ว่าจะเป็น ผ่านองค์กรอิสระ หรือคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่รัฐบาลใหม่ต้องทำตาม “ผู้คุ้มกฎ” มิเช่นนั้นก็อาจปลิวตกเก้าอี้ง่ายๆ

เหล่านี้คือรูปแบบที่วางเอาไว้เพื่อไม่ให้ “เสียของ” แต่ต้องดูว่าพอถึงเวลาจริงแล้ว ทุกอย่างจะเป็นไปตามแผนหรือไม่ อีกไม่นานรู้กัน

————–

บทความโดย  อสรพิษ

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า