“ยอมตายดีกว่าล้มเหลว ดีกว่าอยู่อย่างน่าอับอายหรือไร้ค่า” สาเหตุที่ทำให้คนเกาหลีใต้เลือกปลิดชีวิตตัวเอง
เกาหลีใต้เติบโตอย่างมากในช่วง 60 ปีหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จากประเทศเมืองขึ้นยากจนกลายมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจอันดับต้น ๆ ของโลก การเติบโตทางเศรษฐกิจนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงในสังคม หนึ่งในนั้นคืออัตราฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้นมากในคนทุกชนชั้น ทุกเพศ ทุกวัย
Kim Hyun-jeong จิตแพทย์ประจำศูนย์การแพทย์แห่งชาติ กล่าวว่า “การพัฒนาอย่างรวดเร็วทำให้หลายคนให้คุณค่ากับการแข่งขันและความสำเร็จ ยอมตายดีกว่าล้มเหลว ดีกว่าอยู่อย่างน่าอับอายหรือไร้ค่า”
เกาหลีใต้มีอัตราฆ่าตัวตายสูงที่สุดในกลุ่ม 35 ชาติอุตสาหกรรม OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนทางเศรษฐกิจ) ซึ่งมีสหรัฐฯ เยอรมนีและญี่ปุ่นรวมอยู่ด้วย คาดว่าในเกาหลีใต้ มีคนฆ่าตัวตายเฉลี่ยวันละเกือบ 40 คน
กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการเกาหลีใต้ระบุว่าร้อยละ 90 ของคนที่ฆ่าตัวตายเมื่อปี 2559 มีปัญหาทางจิตทั้งภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวลและความเครียด เกาหลีใต้เป็นชาติหนึ่งที่เคร่งเครียดและเคร่งครัดโดยเฉพาะเรื่องเรียนและเรื่องงาน การทำงานหรือการเรียนติดต่อกันหลายชั่วโมงจนดึกดื่นเป็นเรื่องปกติธรรมดา “สังคมกดดันเราเกินไป” นักศึกษามหาวิทยาลัยคนหนี่งยังบอกว่า “ในเกาหลี เราแคร์ความคาดหวังจากครอบครัวจากสังคมมาก การอยู่กับความคาดหวังทำให้เครียด”
ว่ากันว่าอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้อัตราฆ่าตัวตายในเกาหลีใต้สูงกว่าชาติอื่นคือการไม่ยอมรับว่าตัวเองมีความผิดปกติทางจิตใจเพราะการยอมรับเป็นแสดงออกถึงความอ่อนแอ Chad Ebesutani จิตแพทย์ที่ศูนย์จิตเวชนานาชาติในโซลเล่าว่าเคยมีคนไข้มารับการบำบัดที่ศูนย์ พอพ่อแม่คนไข้รู้เข้าก็ห้ามไม่ให้ไปรักษา
ศ. Kyooseob Ha ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล ชี้ว่าแม้รัฐบาลจะตระหนักถึงปัญหานี้และจัดตั้งหน่วยงานรวมถึงศูนย์สุขภาพจิตโดยตั้งเป้าจะลดอัตราการฆ่าตัวตายจาก 26.5 ต่อ 100,000 คนให้เหลือ 17 เท่าญี่ปุ่นภายใน 5 ปีแต่งบประมาณที่ให้ยังน้อยกว่าญี่ปุ่นเกือบเท่าตัว “เหนือสิ่งอื่นใด หนทางแก้ไขเรื่องนี้จะต้องเริ่มจากการยอมรับและความเข้าใจ”
ที่มา SOUTH KOREA’S MENTAL HEALTH PROBLEM — THAT KOREANS DON’T ADMIT The “Scourge of South Korea”: Stress and Suicide in Korean Society