SHARE

คัดลอกแล้ว

ประเด็นคือ – เจ้าอาวาสวัดดังภูเก็ต แจงรายละเอียดสร้างรูปเหมือน “หลวงพ่อแช่ม” ขนาดสูง 35 เมตร หลังเจอโซเชียลกระหน่ำไม่เหมาะสม ยอมรับไม่สมส่วน แต่ไม่มีเจตนาให้ผิดเพี้ยน ส่วนรูปปั้นยักษ์ถือปืนแฝงคติธรรมคำสอน ด้าน ผอ.พระพุทธฯ เผยยังไม่ได้รับร้องเรียน

จากกรณีมีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “สหายไร้ตัวตน” ได้เผยแพร่ข้อความและภาพของ “หลวงพ่อแช่ม” พระเกจิดังและศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวภูเก็ต โดยเป็นรูปหล่อขนาดใหญ่ บริเวณหน้าวัดพระนางสร้าง หมู่ที่ 1 ต.เทพกระษัตรี อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ผ่านทางโซเชียลมีเดียต่างๆ พร้อมตั้งคำถามว่า “คนภูเก็ตเห็นแล้วจะรู้สึกอย่างไร?” ส่งผลให้มีผู้แสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ว่า องค์พระที่ก่อสร้างขึ้นนั้นมีสัดส่วนที่ไม่สมส่วน และไม่มีความเหมือนหรือคล้ายกับรูปหล่อหลวงพ่อแช่มวัดฉลอง (วัดไชยธาราราม) ที่เคยมีการสร้างกันมา นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอภาพรูปปั้นยักษ์ถือปืนหน้าพระอุโบสถภายในวัดซึ่งดูไม่ค่อยเหมาะสม พร้อมเรียกร้องให้แก้ไขหรือทุบทิ้ง

ล่าสุด 30 ต.ค. 60 ผู้สื่อข่าวข่าวลงพื้นที่วัดดังกล่าว เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่ารูปเหมือนของหลวงพ่อแช่มนั้นมีการก่อสร้างอยู่ภายในวัดด้านหน้าจริง โดยเป็นองค์หล่อสีดำ และมีขนาดสูงใหญ่ไม่สมสัดส่วนตามที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันจริง ขณะเดียวกันจากการเดินสำรวจภายในวัดยังพบ การสร้างศาสนวัตถุอื่นๆ เช่น รูปปั้นองค์พระ คน สัตว์ต่างๆ เป็นจำนวนมาก รวมถึงรูปปั้นยักษา(ผู้) และยักษี (เมีย) ถือปืนอาก้า เฝ้าอยู่บริเวณประตู

พระครูวิจิต ศุภการ (เจ้าอาวาสวัดนางสร้าง)

จากการสอบถาม พระครูวิจิต ศุภการ เจ้าอาวาสวัดพระนางสร้าง เล่าว่า องค์หลวงพ่อแช่มที่สร้างอยู่หน้าวัดนั้น  มีความสูง 35 เมตร เป็นรูปหล่อหลวงพ่อแช่มที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ใช้งบประมาณ 12 -13 ล้านบาท เป็นเงินที่ชาวปีนัง ประเทศมาเลเซีย ถวายให้จำนวน 6 ล้านบาท  และเงินของวัดจำนวน 6 – 7 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2558  แต่ยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ เหลือในส่วนของการปูกระเบื้องส่วนฐาน โดยในส่วนขององค์พระนั้นสร้างด้วยเนื้อนิลสีดำ สั่งมาจากบ่อพลอยแห่งหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรี ส่วนช่างผู้ก่อสร้างนั้นเป็นช่างเก่าแก่ของวัด ที่ได้เคยร่วมสร้างและพัฒนาภายในวัดมาเป็นระยะเวลาเกือบ 30 ปี

ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า การสร้างผิดแบบไม่สมส่วนนั้น ยอมรับว่าเป็นความจริง แต่ก่อนที่จะลงมือสร้างนั้นได้มีการออกแบบและคำนวณมาเป็นอย่างดี แต่ด้วยองค์พระที่มีขนาดใหญ่มีความสูงถึง 35 เมตร จึงทำให้เกิดความผิดพลาดขึ้น และในการก่อสร้างต้องใช้นั่งร้านขึ้นไป แต่เมื่อถอนนั่งร้านออกจึงพบว่าผิดพลาดขึ้น ซึ่ง ณ เวลานั้นคงยังไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก ต้องขอรอเวลาอีกสักระยะ เนื่องจากต้องใช้งบประมาณค่อนข้างมาก เพราะต้องใช้นิลมาเป็นส่วนในการดำเนินการ ยืนยันว่า ไม่มีเจตนาที่จะทำให้ผิดเพี้ยน เหตุที่สร้างขนาดใหญ่เพราะต้องการให้เป็นที่รู้จัก เนื่องจากหลวงพ่อแช่มเป็นพระของคนภูเก็ต  ส่วนประเด็นของยักษ์ 2 ตน ยืนถือปืนนั้น เนื่องจากมองว่าหากจะให้ถือกระบองก็คงจะไม่ทันการณ์ เพราะปัจจุบันทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว รวมถึงเป็นเรื่องของคติธรรมด้วย และจะทำให้คนสนใจที่จะเข้ามาในวัดมากขึ้น

ด้านนายวิญญา ปลัดขวา ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดภูเก็ต บอกว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับการร้องเรียนอย่างเป็นทางการ แต่เมื่อมีข่าวปรากฏทางโซเชียลก็ได้แจ้งไปยังทางวัด เพื่อให้มีการปรับปรุงให้เหมาะสม แต่หากยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ก็จะต้องดำเนินการไปตามขั้นตอนต่อไป

สำหรับประวัติของ “วัดพระนางสร้าง” เป็นวัดเก่าแก่มีมานาน เชื่อว่าสร้างก่อนพม่าเข้าทำศึกเมืองถลาง พ.ศ. 2328 มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า พระนางมัสสุหรี หรือพระนางเลือดขาวเป็นผู้สร้างวัด เพราะเป็นผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนามาก เป็นมเหสีของเจ้าผู้ครองนคร แต่ถูกคนใกล้ชิดกลั่นแกล้งว่ามีชู้ จึงต้องโทษประหารชีวิต แต่พระนางเลือดขาวขอไปนมัสการพระบรมธาตุที่เมืองลังกาก่อน คณะของพระนางเลือดขาวลงเรือไปถึงลังกา เมื่อกลับมาได้นำพระพุทธรูปและโบราณวัตถุหลายอย่างมาด้วย ตอนเดินทางกลับพระนางเลือดขาวได้แวะพักที่เกาะถลางแล้วสร้างวัดไว้เป็นที่ระลึก ปลูกต้นประดู่และต้นตะเคียน พร้อมทั้งนำของมีค่าทางพุทธศาสนา เช่นพระพุทธรูปฝังไว้ในเจดีย์ด้วย ชาวบ้านจึงเรียกกันว่าวัดพระนางสร้าง เมื่อสร้างวัดเสร็จแล้วจึงออกเดินทางกลับไปยังเมืองตน

ในอดีตวัดพระนางสร้าง เป็นวัดสำคัญในการประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาของพุทธศาสนิกชนในเมืองภูเก็ต และยังเป็นวัดที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ เมื่อครั้งศึกถลาง พ.ศ.2328 ท้าวเทพกระษัตรีได้ใช้วัดพระนางสร้างเป็นสถานที่ ตั้งค่ายระดมพลเข้าต่อสู้กับพม่า จนสามารถขับไล่พม่าออกไป รักษาเมืองถลางไว้ได้

อย่างไรก็ตาม ความพิเศษของวัดพระนางสร้างนั้นคือ ภายในอุโบสถเก่าแก่ของวัดยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปดีบุกที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในโลก 3 องค์เรียกว่า “พระในพุง” หรือ “พระสามกษัตริย์” ซึ่งอยู่ในพระพุทธรูปหล่อองค์ใหญ่ 3 องค์อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งนับเป็นศาสนวัตถุที่ทรงคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า