ประเด็นคือ – มีผู้รุกล้ำพื้นที่ป่าภูทับเบิกเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวจำนวนมาก จ.เพชรบูรณ์ จึงเตรียมแก้ไขปัญหาตามแผนแม่บทการแก้ปัญหาพื้นที่ภูทับเบิก พร้อมช่วยเหลือเยียวยาชาวม้งในพื้นที่ แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎกติกาที่กำหนด
วันนี้ (28 ก.ย. 60) เวลา 13.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิบูลย์ หัตถกิจโกศล ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธานประชุมศูนย์ปฏิบัติการตามมาตรการแก้ไขปัญหาการครอบครองและใช้ประโยชน์ที่ดินป่าภูทับเบิก ครั้งที่ 5/2560 โดยมี นายอรรถพล เจริญชันษา รองอธิบดีกรมป่าไม้ นายกฤษณ์ คงเมือง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทหาร ตำรวจ และป่าไม้ เข้าร่วมประชุมที่ห้องประชุมชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์
นายพิบูลย์ หัตถกิจโกศล ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติแผนแม่บทการแก้ปัญหาพื้นที่ภูทับเบิกประจำปี พ.ศ. 2560 – 2565 เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2560 ซึ่งปัจจุบันจังหวัดเพชรบูรณ์ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการครอบครองและใช้ประโยชน์ที่ดินป่าภูทับเบิกตามแผนแม่บทการแก้ปัญหาพื้นที่ภูทับเบิก แบ่งเป็นแผนเฉพาะ 6 ด้าน ประกอบด้วย
- แผนการบริหารและจัดการพื้นที่ภูทับเบิก
- แผนการบริหารจัดการพื้นที่ผ่อน
- แผนจัดการพัฒนาที่อยู่อาศัย
- การจัดการพื้นที่ทำกิน
- แผนการจัดการพื้นที่ป่าไม้
- แผนการจัดการพื้นที่ส่วนกลาง
โดยทั้ง 6 แผน ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการเขียนแผน ทั้งระยะเร่งด่วน ระยะปานกลาง และระยะยาว ในการขับเคลื่อนตามแผนแม่บทการแก้ปัญหาพื้นที่ภูทับเบิกแล้ว
สำหรับการเดินหน้าแก้ไขปัญหาการครอบครองและใช้ประโยชน์ที่ดินป่าภูทับเบิก ยังคงเหลือรีสอร์ตที่เป็นของคนนอกพื้นที่อีก 6 ราย ที่อัยการยังไม่สั่งฟ้อง ซึ่งจากการพูดคุยกับผู้ประกอบการ หากอัยการสั่งฟ้องก็ยินดีที่จะดำเนินการรื้อรีสอร์ตเอง ในส่วนที่มีผู้ประกอบการยื่นเรื่องว่าตนเองเป็นม้งในพื้นที่จำนวน 5 ราย หากยื่นเรื่องอุทธรณ์ผ่านจะทำให้มีม้งในพื้นที่เพิ่มเป็น 55 ราย จังหวัดเพชรบูรณ์ก็จะนำเข้าไปช่วยเหลือตามแผนแม่บทการแก้ปัญหาพื้นที่ภูทับเบิกต่อไป
ในส่วนของการดำเนินการในระยะต่อไป ที่ประชุมในวันนี้ได้เห็นชอบในการดำเนินแนวทางที่จะให้นายอำเภอเรียกผู้ประกอบการที่เป็นชาวม้งมาประชุมขอความร่วมมือชี้แจงให้เข้าใจว่า เดิมเขาต้องถูกรื้อ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 35/2559 แต่ผลจากทุกฝ่ายช่วยเหลือและเยียวยา ทำให้มีโอกาสที่จะไม่ถูกรื้อถอนรีสอร์ต แต่จะต้องอยู่ภายใต้กำหนดกฎเกณฑ์ กฎกติกา ที่จังหวัดเพชรบูรณ์วางไว้
โดยทุกแห่งจะต้องดำเนินการปรับปรุงอาคารที่พักภายในเงื่อนเวลาที่กำหนด และเป็นไปตามแบบที่ทางกรมโยธาธิการและผังเมืองออกแบบเป็นรายหลัง โดยจังหวัดจะเข้าไปควบคุมดูแลและชี้แนะ หากมีการดื้อดึงก็จะใช้คำสั่งที่ 35/2559 เข้าดำเนินการ และสำหรับพื้นที่ที่ได้ทำการรื้อถอนไปแล้วก็จะให้กรมป่าไม้ดำเนินการบำรุงฟื้นฟูต่อไป