กรมควบคุมโรค เปิดสถิติย้อนหลัง 10 ปี ช่วงเทศกาลลอยกระทง พบเหตุเด็กจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุดอายุน้อยกว่า 15 ปี แนะประชาชนไม่ปล่อยเด็กอยู่ใกล้น้ำตามลำพัง
วันที่ 21 พ.ย. 2561 นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงเทศกาลวันลอยกระทงมีการจัดงานรื่นเริงตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ให้ประชาชนนำกระทงมาลอยในแม่น้ำลำคลอง หรือในแหล่งน้ำต่าง ๆ เพื่อร่วมสืบสานประเพณีที่ดีงาม ประชาชนมีแต่ความสุขและปลอดภัย ได้กำชับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประชาสัมพันธ์ และเตรียมการป้องกันอุบัติเหตุ โดยตรวจเตือน ป้องกัน แก้ไขจุดเสี่ยงอุบัติเหตุต่าง ๆ และให้โรงพยาบาลเตรียมความพร้อมดูแลรักษาผู้บาดเจ็บจากการจราจร การเล่นพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ โดยเฉพาะการจมน้ำซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เนื่องจากเด็กมักจะอยู่ใกล้แหล่งน้ำเพื่อลอยกระทง ทำให้มีโอกาสเสี่ยงที่จะพลัดตกลื่นลงตกน้ำได้ ที่พบบ่อยคือการลงไปเก็บเศษเงินในกระทง ขณะที่กลุ่มผู้ใหญ่ความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้นจากการดื่มสุรา
จากการวิเคราะห์ข้อมูลมรณบัตรของกองยุทธศาสตร์และแผนงาน โดยกรมควบคุมโรค ย้อนหลัง 10 ปี ตั้งแต่ปี 2551 2560 ช่วงเทศกาลลอยกระทง 3 วัน คือ ก่อนวันลอยกระทง วันลอยกระทง และหลังวันลอยกระทง มีคนจมน้ำเสียชีวิตสะสม 380 คน เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ถึง 94 คน คิดเป็นร้อยละ 24.7 เฉพาะวันลอยกระทงวันเดียวมีคนจมน้ำเสียชีวิตสะสมสูงถึง 145 คน โดยเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิตสูงถึง 43 คน คิดเป็นร้อยละ 29.7 เฉลี่ยวันละกว่า 4 คน ซึ่งมากกว่าในช่วงวันปกติ 2 เท่าตัว และในปี 2560 แนวโน้มการเสียชีวิตลดลงทั้งในกลุ่มเด็กและผู้ใหญ่ เป็นชายมากกว่าหญิงประมาณ 2 เท่าตัว มากที่สุดคือ เด็กกลุ่มอายุ 5 – 9 ปี ที่น่าสนใจคือยังคงมีเด็กชายอายุ 8 ปีที่จังหวัดอยุธยา จมน้ำเสียชีวิตจากการว่ายน้ำลงไปเก็บเงินในกระทง
ด้านน.พ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขอให้ผู้ปกครองดูแลเด็กเล็กต่ำกว่า 5 ปีอย่างใกล้ชิด ต้องอยู่ในระยะที่มองเห็นและคว้าถึง อย่าปล่อยให้เด็กลอยกระทงตามลำพัง ไม่ว่าจะในกะละมัง ถังน้ำ หรือแหล่งน้ำอื่น ๆ รวมทั้งเก็บกระทง เพราะอาจพลัดตกจมน้ำเสียชีวิตได้ และสอนเด็กใช้นกหวีดเพื่อขอความช่วยเหลือ ส่วนผู้ใหญ่ควรหลีกเลี่ยงการดื่มสุราและลงน้ำ หากโดยสารเรือขอให้ทุกคนสวมเสื้อชูชีพ สำหรับหน่วยงานที่จัดงาน ขอให้กำหนดพื้นที่ที่ชัดเจนสำหรับการลอยกระทง ทำรั้วหรือสิ่งกั้นขวางเพื่อป้องกันเด็กตกน้ำ จัดคนดูแล และเตรียมอุปกรณ์สำหรับช่วยคนตกน้ำไว้เป็นระยะ ๆ ที่เข้าถึงได้ง่ายเมื่อเกิดเหตุการณ์ เช่น ถังแกลลอน เชือก ไม้ รวมทั้งติดป้ายคำเตือนไว้ในบริเวณที่เป็นพื้นที่เสี่ยงหรือห้ามลงไปลอยกระทง ผู้จัดการเรือต้องเตรียมชูชีพให้ผู้โดยสารทุกคน และไม่บรรทุกผู้โดยสารหรือน้ำหนักเกินจำนวนที่กำหนด