SHARE

คัดลอกแล้ว

เนื่องในห้วงเวลาพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทีมข่าวเวิร์คพอยท์ได้มีโอกาสเดินทางไปชมการฝึกซ้อมการแสดงมหรสพสมโภช เนื่องในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ วิทยาเขตศาลายา จ.นครปฐม

สำหรับการแสดงมหรสพสมโภชถือเป็นสัญลักษณ์ของงานออกทุกข์ หรือ การออกพระเมรุ โดยงานแสดงมหรสพสมโภชในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในอดีตประกอบไปด้วยการแสดงนาฏศิลป์ชั้นสูงในราชสำนัก และการแสดงมหรสพจากต่างชาติอย่าง งิ้ว และ รำญวน เข้ามาผสมผสานกัน จึงทำให้การถวายพระเพลิงพระบรมศพแต่ครั้งโบราณจัดเป็นงานใหญ่ จนครั้นสมัยรัตนโกสินทร์ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 การแสดงมหรสพสมโภชได้ถูกลดทอนงานมหรสพออกไป เหตุด้วยพระองค์ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ลดทอนความใหญ่โตในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระองค์เอง

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 9 เมื่อ พ.ศ. 2539 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการรื้อฟื้นการประโคมดนตรีและการมหรสพอีกครั้งในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบมา

จนในวันนี้ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร หนึ่งในการแสดงมหรสพสมโภชครั้งนี้คือ การแสดงโขน นาฏศิลป์ชั้นสูงที่อยู่คู่กับพระราชวงศ์มาตราบช้านาน โดยทางทีมข่าวได้รับความกรุณาจากนาฏศิลปินผู้แสดง อย่าง ดร.ธีรเดช กลิ่นจันทร์ นาฏศิลปินอาวุโส สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ซึ่งรับบทเป็น พระราม ตัวละครเอกที่สำคัญ ฝ่ายพระ ในเรื่องรามเกียรติ์ โดยทำการแสดงหน้าพระที่นั่งทรงธรรม (หน้าพระเมรุมาศ) และมหรสพที่สนามหลวงด้านทิศเหนือ (ด้านนอก) ที่ได้สละเวลามาสัมภาษณ์กับทางทีมข่าว

ดร.ธีรเดช กลิ่นจันทร์

ดร.ธีรเดช เล่าว่า “การแสดงโขน ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ได้นำเอาเรื่อง รามเกียรติ์ มาทำการแสดง ซึ่งถือเป็นจารีตตั้งแต่อดีตมา โดย รามเกียรติ์ ในอดีตนั้นจะเล่นเป็นละครใน เดิมทีการแสดงโขนไม่ได้มีการร้องหรือการรำ เพราะจะเป็นเรื่องของการยกทัพจับศึก แต่ในช่วงหลังโขนในปัจจุบันได้รับเอาวัฒนธรรมของละครในเข้ามาผสมผสาน จึงทำให้เกิดเป็นการแสดงโขนรูปแบบใหม่ที่มีพัฒนาการมาอย่างเป็นระยะจนมาถึงสมัยรัชกาลที่ 9”

ทีมข่าวถามต่อว่าการที่นำเอาเรื่อง รามเกียรติ์ มาทำการแสดงนั้น มีความเกี่ยวโยงในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ อย่างใด โดย ดร.ธีรเดช ตอบว่า “รามเกียรติ์ เป็นเรื่องของพระราม ซึ่งเป็นการเชิดชูเกียรติยศของพระราม และที่สำคัญ พระราม ก็คือภาคหนึ่งของพระนารายณ์อวตารเช่นเดียวกัน เนื่องจากคนไทยเรามีคติความเชื่อว่าพระมหากษัตริย์ไทยในพระราชวงศ์จักรีทุกพระองค์เป็นสมมติเทพ ซึ่งอวตารลงมาเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชน จะสังเกตได้ว่าตราสัญลักษณ์ของพระราชวงศ์จักรีจะมีตรีและจักรเป็นตราสัญลักษณ์ นั่นก็เป็นนัยยะสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงว่า เรามีความเชื่อถือพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ ก็คือภาคหนึ่งของพระนารายณ์อวตาร นอกจากนี้ คทา ที่พระเจ้าอยู่หัวถือไว้ในพระหัตถ์ สำหรับใช้ในการตรวจพลในพิธีสวนสนามนั้น ก็คืออาวุธของพระนารายณ์อีกชนิดหนึ่ง โดยความเชื่อเหล่านี้ได้สืบทอดมาในการแสดงโขน พระนารายณ์จะถืออาวุธคทาเป็นอาวุธประจำในการถ่ายทอดการแสดงบนเวที ซึ่งมันมีความเกี่ยวโยงระหว่างศิลปะกับความเป็นจริง”

ด้วย ดร.ธีรเดช เป็นนาฏศิลปินอาวุโส ทางทีมข่าวทราบว่ามีโอกาสถวายงานในพระราชพิธีฯ อยู่หลายครั้ง จึงถามถึงความแตกต่างจากครั้งที่ผ่านๆ มา มีมากน้อยเพียงใด ขณะที่ ดร.ธีรเดช ตอบว่า “เราเคยได้รับมอบหมายให้แสดงในงานพระราชพิธีออกพระเมรุทุกครั้ง ตั้งแต่ครั้งที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริให้รื้อฟื้นการแสดงมหรสพสมโภช ครั้งนั้นเราก็ได้รับโอกาสแสดง และเป็นครั้งแรกด้วย เราเองก็ค่อนข้างเด็กและถือเป็นประสบการณ์ใหม่สำหรับการเป็นศิลปินนักแสดงบนเวทีที่ยิ่งใหญ่และมีความสำคัญ ตื่นเต้นมากที่ได้รับบทบาทตัวเอกเป็นพระอินทร์ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จย่า (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) แต่มันก็แตกต่างจากครั้งนี้ ซึ่งเรารู้สึกว่านอกจากเราจะภาคภูมิใจต่อตนเองและวงศ์ตระกูลที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในงานพระราชพิธีครั้งนี้แล้ว ลึกๆ เราก็มีความเสียใจ ที่เราต้องร่วมกิจกรรมที่ประชาชนชาวไทยทุกคนค่อนข้างสะเทือนอารมณ์มากกับความสูญเสียในครั้งนี้”

นาฏศิลปินอาวุโสยังกล่าวต่อว่า “เราเองก็รู้สึกทุกครั้งที่ทำการซ้อม แม้กระทั่งในวันที่ต้องแสดงจริงเราจะรู้สึกอย่างไร เราจะสามารถครองสติให้อยู่ในบทบาทได้ในระดับไหน ทั้งนี้ทั้งนั้น เราต้องทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ เพราะศิลปินต้องแยกแยะให้ออกว่า อารมณ์การแสดงบนเวทีกับอารมณ์จริงๆ คืออะไร เพื่อให้สมพระเกียรติกับพระองค์ท่านที่สุด”

นอกจากนี้ ดร.ธีรเดช เล่าให้ทีมข่าวเวิร์คพอยท์ฟังว่า ได้ยินพระราชดำริ พระราชกระแส ของพระองค์ท่าน ถูกถ่ายทอดจากผู้บังคับบัญชาอยู่เสมอว่า ทรงมีคุณูปการและทรงมีพระราชวินิจฉัยอย่างไร ในเรื่องของการแสดงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดนตรี เครื่องแต่งกาย แม้กระทั่งเรื่องของการแต่งหน้าของพระราม หรือตัวละครอื่นๆ

“พระองค์ท่านได้มีพระราชวินิจฉัยว่า ควรจะให้พระรามแต่งหน้าอย่างไร เช่น ไม่ควรทาปากสีแดง เพราะแยกไม่ออกว่า คนไหนคือพระราม คนไหนคือสีดา ซึ่งเราก็จะได้รับการบอกกล่าวจากผู้ใหญ่มา เราก็ได้นำมาปรับปรุงและพัฒนาการแสดงอย่างต่อเนื่อง จึงนับได้ว่าเป็นรูปแบบศิลปะการแต่งหน้าตามพระราชนิยมในรัชกาลที่ 9”

รจนา ทับทิมศรี (ภาพโดย หทัยชนก เดชอุดม)

ทั้งนี้ ทางทีมข่าวยังได้รับโอกาสสัมภาษณ์ถึงความรู้สึกของเหล่านาฏศิลปินจากทางสำนักการสังคีต กรมศิลปากร ซึ่งรับบทบาทเป็นตัวหลักในการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ในการแสดงมหรสพสมโภชครั้งนี้ อย่าง อ.รจนา ทับทิมศรี นาฏศิลปินอาวุโส ซึ่งรับบทเป็น “สีดา” แสดง ณ เวทีที่ 1 สนามหลวงด้านทิศเหนือ ตอน ท้าวมาลีวราชว่าความ ได้กล่าวว่า “ความรู้สึกที่ได้รับเลือกให้เป็นนางสีดานั้น ต้องขอกราบขอบพระคุณ คุณครู อาจารย์ทุกท่านของสำนักการสังคีต ที่ได้ให้ความไว้วางใจและให้โอกาสได้แสดงในบทบาทสีดา เป็นเกียรติและภูมิใจมากที่สุดที่ได้รับบทบาทสำคัญนี้”

เอก อรุณพันธ์

ขณะ อ.เอก อรุณพันธ์ นาฏศิลปินชำนาญงาน ผู้รับบทเป็น “พระลักษณ์” แสดงหน้าพระเมรุมาศ และเวทีที่ 1 ด้านนอก ตอน ท้าวมาลีวราชว่าความ กล่าวว่า “ครั้งนี้เป็นครั้งที่ตื้นตัน ภาคภูมิ และเสียใจหาที่สุดไม่ได้เหมือนกัน อันดับแรกคือเสียใจ และก็มีความรู้สึกว่าเราก็มีโอกาสที่จะได้ถวายงานพระองค์ท่าน ที่สุดของศิลปิน ในส่วนตัวได้มีโอกาสที่ได้ถวายงานตรงหน้าพระเมรุ ซึ่งถือเป็นเกียรติและเป็นมงคลแก่ชีวิตตนเองมาก ที่ได้ถวายงานอย่างใกล้ชิดสนองงานใต้เบื้องพระยุคลบาท ก็ถือเป็นเกียรติประวัติแก่วงศ์ตระกูล และเป็นเกียรติประวัติแก่กรมศิลปากร”

บัญชา สุริเจย์

ด้าน อ.บัญชา สุริเจย์ นาฏศิลปินชำนาญงาน ซึ่งรับบทเป็น “ทศกัณฐ์” เวทีที่ 1 สนามหลวงด้านทิศเหนือ (ด้านนอก) ตอน ทศกัณฐ์ (ขาดเศียรขาดกร) เล่าว่า “ในงานพระราชพิธีฯ ครั้งนี้ ตัวเองได้รับหน้าที่เป็นโขนยักษ์ โดยยักษ์ในการแสดงโขน จะแบ่งเป็นยักษ์ใหญ่และยักษ์เล็ก สำหรับยักษ์ใหญ่ เช่น ทศกัณฐ์, สหัสเดชะ พวกนี้ก็จะเป็นยักษ์ที่เป็นเจ้าเมือง ตัวใหญ่ ลักษณะสง่างาม แข็งแรง ส่วนอีกประเภทหนึ่งก็คือยักษ์เล็ก จะเป็นพวกยักษ์ต่างเมือง ยักษ์วัยรุ่น เช่น อินทรชิต, แสงอาทิตย์ และเครือญาติ ยักษ์เหล่านี้จะเป็นประเภทมุทะลุ ดุดัน แข็งแรง”

อ.บัญชา ได้กล่าวถึงความรู้สึกต่อว่า “ถือเป็นเกียรติสูงสุดในชีวิตเลยก็ว่าได้ในการแสดงโขนครั้งนี้ จึงต้องถวายงานอย่างเต็มที่ เพราะเป็นงานที่ยิ่งใหญ่สำหรับชีวิตเราในการแสดงโขน”

ทั้งนี้ ด้วย ดร.ธีรเดช กลิ่นจันทร์ นาฏศิลปินอาวุโส สำนักการสังคีต กรมศิลปากร มีความเชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์ไทยและมีประสบการณ์มากว่า 30 ปี ทีมข่าวเวิร์คพอยท์จึงสอบถาม ทราบว่า ในหลวง รัชกาลที่ 9 เคยครอบครูให้กับผู้เชี่ยวชาญและทรงวุฒิทางนาฏศิลป์ ของกรมศิลปากร มีเรื่องราวเป็นเช่นใด

ด้าน ดร.ธีรเดช ตอบว่า “พระองค์ท่านทรงเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีพระราชทานครอบประธานประกอบพิธีไหว้ครู คือตามประวัติครูพิธีกร หรือครูผู้ประกอบพิธี ซึ่งทำพิธีครอบครูให้กับนักเรียน นักศึกษาและนาฏศิลปิน ที่เรียนทางด้านนี้ ได้ขาดสายการสืบทอด คำว่าขาดสายการสืบทอดคือ เดิมมีอยู่ เท่าที่ทราบคือ พระยานัฏกานุรักษ์ (ทองดี สุวรรณภารต) ก็เป็นหนึ่งในครูผู้ประกอบพิธี และยังมีอีกหลายท่านซึ่งได้เสียชีวิตไป

“โดยเฉพาะเมื่อคุณครูอาคม สายาคมซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญได้เสียชีวิต ซึ่งได้ทำให้สายการสืบทอดครูพิธีกร หรือครูผู้ประกอบพิธี ขาดหายไปจากกรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้มีการกราบบังคมทูลในหลวง รัชกาลที่ 9 ให้พระองค์เสด็จเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีพระราชทานครอบประธานประกอบพิธีไหว้ครูให้กับครูผู้เชี่ยวชาญ โดยมีการคัดเลือกครูโขนพระ ครูโขนยักษ์ ครูทางดนตรี เข้ามา เพื่อเป็นครูสืบทอดครูผู้ประกอบพิธีของยุครัตนโกสินทร์อีกต่อๆ ไปในอนาคตอย่างไม่มีที่สิ้นสุด”

ท้ายสุดนี้ ทีมข่าวเวิร์คพอยท์ได้สอบถาม ดร.ธีรเดช ว่า หากประชาชนต้องการจะรับชมโขน ลักษณะเดียวกันกับการแสดงมหรสพสมโภช ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สามารถรับชมได้ที่ไหนได้อีก ทาง ดร.ธีรเดช ตอบว่า “หลังจากงานพระราชพิธีฯ ไปแล้ว ก็จะมีนิทรรศการและการแสดง โดยความรับผิดชอบของกรมศิลปากร ร่วมกับสถาบันบัณฑิตยพัฒนศิลป์ หมุนเวียนกันไปเล่น ให้ประชาชนได้เข้าไปชมความงดงามของพระเมรุมาศ ได้รำลึกถึงในหลวง รัชกาลที่ 9 และได้ชมความยิ่งใหญ่อลังการของบริเวณงาน ทรงให้จัดนิทรรศการและการแสดงจากรมศิลปากรร่วมด้วยทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ เวลาหนึ่งทุ่ม การแสดงก็จะเป็นโขนตอนต่างๆ ที่เราได้ทำการแสดงในงานพระราชพิธีฯ หมุนเวียนกันไป

“และหลังจากได้ทำการรื้อพระเมรุมาศออกไปแล้ว การแสดงเหล่านี้ก็มิได้หายไปไหน ประชาชนสามารถรับชมได้ในโรงละครแห่งชาติ ทุกวันเสาร์และอาทิตย์”

 

 

สัมภาษณ์เเละเรียบเรียง : ทวีทัศน์ ทับทิมศรี

ภาพ : ปองพล รัตนาธรรมวัฒน์

ขอขอบคุณข้อมูลจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า