ในที่สุดร่างกฎหมายฉบับสุดท้ายที่เกี่ยวเนื่องกับ “การเลือกตั้ง” ก็มีความชัดเจนแล้วว่า ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้จากนี้โรดแมปการเลือกตั้ง ยังคงเป็นไปตามเดิม แต่จะมีปัจจัยอะไรทำให้ต้อง ขยับ, เลื่อน ออกไปอีกหรือไม่
วันนี้ (31 พ.ค.61) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงข้อกังวลว่า การเลือกตั้งในปี 2562 อาจเลื่อนจากเดือนกุมภาพันธ์ เป็นเดือนเมษายน ตามกรอบ 150 วันในรัฐธรรมนูญ โดยยืนยันว่า โรดแมปการเลือกตั้งไม่เลื่อน และจะทันในเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนการหารือกับพรรคการเมือง อาจหารือในปลายเดือนมิถุนายน
โดยเมื่อวานนี้ (30 พ.ค. 61) ศาลรัฐธรรมนูญ ใช้เวลา 2 ชั่วโมง วินิจฉัยร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (ร่างพ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พ.ศ…. ตามที่สมาชิก สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. เสนอมาให้วินิจฉัย โดยศาลพิจารณาว่า ทั้งมาตรา 35 เรื่องการตัดสิทธิ์ทางการเมืองต่อผู้ไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง และมาตรา 92 การช่วยเหลือผู้สูงอายุและผู้พิการในการลงคะแนนเลือกตั้ง “ไม่ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ”
ส่วนประเด็นที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ศาลวินิจฉัย คำสั่งคสช.ที่ 53/2560 เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิพรรคการเมืองหรือไม่ ศาลนัดแถลงด้วยวาจา และลงมติในวันอังคาร ที่ 5 มิถุนายนนี้
ขั้นตอนหลังจากนี้ หากนายกรัฐมนตรีนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ ในช่วงกลางเดือนมิถุนายน ก็คาดการณ์ว่า กฎหมายจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา ประมาณเดือนกันยายน และด้วยระยะเวลาในร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กำหนดให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ 90 วันหลังจากวันที่มีประกาศใช้
โดย มาตรา 268 รัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดให้จัดการเลือกตั้ง ส.ส.ภายใน 150 วัน นับจากวันที่กฎหมายเลือกตั้ง 4 ฉบับมีผลใช้บังคับ
ดังนั้นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้ง 4 ฉบับ ได้แก่
- พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
- พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
- พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)
- พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)
ดังนั้น ปฏิทินการจัดเลือกตั้ง จะอยู่ในช่วงเดือนมกราคม ถึงเดือนพฤษภาคม ปี 2562 โรดแมปเลือกตั้งของ คสช.(คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ที่ประกาศไว้ว่า จะมีการเลือกตั้งในเดือน กุมภาพันธ์ ปี 2562 จึงยังไม่ขยับ!
แต่ “ความแน่นอน” คือ ความไม่แน่นอน ว่าด้วยปัจจัยที่จะทำให้การเลือกตั้ง ขยับจากโรดแมปของคสช.ก็อาจจะมีได้ โดยเฉพาะสถานการณ์ทางการเมือง การชุมนุมต่างๆ หรือแม้กระทั่งความร่วมมือจากพรรคการเมือง
โดย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย บอกเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมว่า การพูดคุยกับพรรคการเมือง ที่เดิมรัฐบาลจะเชิญมาหารือในเดือนมิถุนายนนี้ “ยกเลิกไปก่อน” เนื่องจาก ต้องรอร่างพ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. และส.ว. ประกาศใช้ก่อน เดือนมิถุนายนเป็นขั้นตอนทูลเกล้าฯ ร่างกฎหมาย ดังนั้นถ้าเชิญมาคุยในเดือนมิถุนายน ก็ไม่รู้ว่าจะคุยเรื่องอะไร อีกทั้งพรรคการเมืองบางพรรคการเมือง ก็ยังมีเงื่อนไข ตั้งข้อแม้ เช่น ขอให้ถ่ายทอดสด หรือ ต้องมาทุกพรรค จึงจะร่วมคุย
อ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.