SHARE

คัดลอกแล้ว

 

เป็นนักเรียนไทย ต้องเจออะไรบ้าง

ค้างค่าเทอมถูกประจาน

เกิดเหตุการณ์ให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมของวิธีการที่ ‘ครู’ ปฏิบัติต่อเด็กนักเรียนอีกครั้ง เมื่อครูคนหนึ่งเขียนข้อความว่า “ยังไม่ได้ชำระค่าเทอม 700 บาท” แปะประจานบนอกของนักเรียนชายคนหนึ่ง จนทำให้เขาถูกเพื่อนๆ ล้อเลียน และไม่ยอมพูดคุยด้วย

ผู้ปกครองของเด็กคนดังกล่าวรู้สึกโกรธที่ครูทำเช่นนั้น และนำเรื่องราวที่เกิดขึ้นมาบอกเล่าผ่านเฟซบุ๊ก ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า ทำไมครูจึงไม่ถามเรื่องค่าเทอมจากผู้ปกครอง ไม่ใช่แปะข้อความประจานเด็ก เพราะการประจานทำให้เด็กอับอายและสร้างบาดแผลในจิตใจของเด็ก

อาหารกลางวันขาดคุณภาพ

โครงการอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 สนับสนุนงบประมาณรายหัวให้กับนักเรียนคนละ 20 บาทต่อวัน เพราะต้องการให้เด็กๆ ได้รับประทานอาหารกลางวันที่มีประโยชน์และมีปริมาณที่เพียงพอต่อพัฒนาการ

แต่ในความเป็นจริง นักเรียนหลายโรงเรียนกลับไม่ได้กินอาหารกลางวันที่มีคุณภาพ เช่น โรงเรียนบ้านท่าใหม่ จ.สุราษฏร์ธานี ที่ตรวจสอบพบว่าผู้อำนวยการทุจริตเงินค่าอาหารกลางวัน ทำให้นักเรียนต้องกิน ‘ขนมจีนคลุกน้ำปลา’ นานกว่า 3 ปี

หรือโรงเรียนเทศบาล 4 จ.ยะลา ที่ผู้ปกครองออกมาร้องเรียนว่าโรงเรียนทำ ‘แกงส้ม’ ซึ่งเผ็ดเกินไปให้เด็กอนุบาลกิน และยังมีอีกหลายโรงเรียนที่ค่อยๆ ปรากฏเป็นข่าว หลังกระทรวงศึกษาธิการสั่งศึกษาธิการจังหวัดเร่งตรวจสอบคุณภาพอาหารกลางวันของโรงเรียนทั่วประเทศ

นมโรงเรียนบูด

ช่วงต้นเดือน มิ.ย. 2561 โรงเรียนไผทอุดมศึกษาออกหนังสือแจ้งผู้ปกครองของดแจกนมแก่นักเรียน เพราะพบนมกว่า 20 กล่อง มีสภาพขุ่นข้นทั้งที่ยังไม่หมดอายุ จึงกลัวจะส่งผลเสียต่อสุขภาพของเด็กๆ โดยทางโรงเรียนได้แจ้งปัญหาไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการแก้ไข แต่ไม่สามารถยกเลิกหรือเปลี่ยนไปสั่งนมจากผู้ผลิตรายอื่นได้ทันที เนื่องจากกระทรวงฯ เป็นผู้กำหนดโควตาให้

ภายหลังตรวจสอบพบว่า ความผิดพลาดเกิดจากเครื่องซีลกล่องนมมีปัญหา ทำให้นมกว่าแสนกล่องในล็อตนั้นปิดไม่สนิทและเน่าบูดระหว่างขนส่ง ฝ่ายผู้ผลิตแถลงขอโทษและยืนยันจะรับผิดชอบต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัญหานมโรงเรียนไม่ได้คุณภาพเกิดขึ้นต่อเนื่องมานานหลายปี และมีความพยายามจะแก้ไขมาโดยตลอด

หากย้อนกลับไปช่วงปี 2552 เคยมีการแฉกระบวนการทุจริตนมโรงเรียน ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สิทธิ์กับผู้ประกอบการมากกว่า 1 สิทธิ์ ทั้งยังมีคนในพื้นที่ผูกขาดการหาซื้อนม และผู้ประกอบการบางรายแอบใช้นมผงหรือหางนมผสมน้ำแทนนมสด ทำให้นมไม่มีคุณภาพและสร้างความเสียหายกว่าหมื่นล้านบา

ครูไม่ครบชั้น

การขาดแคลนครูในโรงเรียนขนาดเล็กเป็นอีกหนึ่งปัญหาเรื้อรังของระบบการศึกษาไทย โรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยกว่า 120 คน หลายพันแห่งทั่วประเทศมีครูไม่ครบชั้น เนื่องจากจำนวนครูถูกกำหนดจากจำนวนเด็กนักเรียน จึงกลายเป็นเรื่องปกติที่คุณครูในโรงเรียนเล็กๆ เหล่านั้น จะต้องสอนควบชั้นควบวิชา

ยังไม่นับภาระงานอื่นๆ ทั้งงานเอกสาร งานธุรการ งานพัสดุ รวมๆ แล้วอาจมากกว่างานสอนหนังสือซึ่งเป็นหน้าที่หลักของคุณครู ส่งผลไปถึงคุณภาพการเรียนของนักเรียน นักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กจำนวนมากได้เรียนกับคุณครูไม่ตรงเอก

เคยมีการเสนอให้ยุบโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว แต่ดูเหมือนว่าวิธีการนี้จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาไทย จึงมีการเสนอวิธีแก้ปัญหาอีกแนวทาง คือให้เปลี่ยนเกณฑ์การกำหนดจำนวนครู โดยกำหนดครู 1 คนต่อ 1 ห้อง เพื่อเพิ่มคุณภาพการเรียนการสอน

สอบเข้าตั้งแต่ ป.1

ภาพพ่อแม่ผู้ปกครองจูงมือลูกหลานอายุ 5-6 ขวบ กว่า 2,000-3,000 คน เข้าสู่สนามสอบคัดเลือกนักเรียนชั้น ป.1 ของโรงเรียนเครือสาธิตต่างๆ ที่รับนักเรียนได้เพียง 100-150 คนต่อแห่ง ทำให้สังคมตั้งคำถามว่าเด็กๆ สมัยนี้ถูกกดดันเรื่องเรียนมากเกินไปหรือไม่

แต่ด้วยความไม่เท่าเทียมทางคุณภาพที่มีสูงมากในระบบการศึกษาไทย ทำให้ผู้ปกครองพยายามดิ้นรนส่งลูกหลานเข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียง โดยคาดหวังว่าลูกหลานจะได้รับโอกาสที่ดีกว่าในอนาคต ผู้ปกครองหลายคนยอมรับว่าส่งลูกเรียนพิเศษเพื่อเตรียมความพร้อมล่วงหน้านานนับปี

เป็นที่กังวลของนักการศึกษาว่า หากเร่งให้เด็กๆ เรียนรู้ด้านวิชาการเร็วเกินไป จะทำให้เด็กพัฒนาทักษะด้านอื่นๆ ไม่เต็มที่ จึงมีการเสนอให้ร่าง พ.ร.บ.ปฐมวัย ห้ามโรงเรียนทั่วประเทศจัดสอบคัดเลือกนักเรียนเข้า ป.1 หากโรงเรียนใดฝ่าฝืนมีโทษปรับ

เรียนพิเศษเช้ายันค่ำ

นักเรียนไทยเรียนหนักเป็นอันดับต้นๆ ของโลก หากนับเฉพาะวิชาที่ต้องเรียนตามหลักสูตรจะอยู่ที่ประมาณ 1,000-1,200 ชั่วโมงต่อปี แต่ดูเหมือนว่าการเรียนตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็น กลับไม่เพียงพอ

นักเรียนจำนวนมากจึงเรียนพิเศษหลังเลิกเรียน และใช้เวลาว่างช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ เพื่อติวเก็งข้อสอบ โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยคนละประมาณ 15,000-35,000 บาทต่อภาคเรียน

ที่ผ่านมามีความพยายามปรับหลักสูตร ลดชั่วโมงเรียนและการบ้านให้น้อยลง เพื่อให้เด็กๆ มีเวลาทบทวนบทเรียนด้วยตนเองมากขึ้น แต่นับวันอายุของนักเรียนที่เดินเข้าโรงเรียนกวดวิชาดูจะน้อยลงเรื่อยๆ เรียกได้ว่าเตรียมความพร้อมกันตั้งแต่ชั้นอนุบาล

ตัดผม-แต่งตัว ตามกฎระเบียบ

การบังคับให้เด็กต้องตัดผมและแต่งเครื่องแบบนักเรียนเป็นประเด็นที่ถูกถกเถียงกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยฝ่ายที่สนับสนุนให้รักษากฎระเบียบเหล่านี้ไว้ ให้เหตุผลว่าเป็นการฝึกเด็กๆ ให้มีวินัย รู้จักการทำตามกฎของสังคม ดูสะอาดเรียบร้อย และทำให้เกิดความเสมอภาค เพราะทุกคนต้องแต่งกายเหมือนกัน

แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมองว่า เด็กควรมีสิทธิในร่างกายของตนเอง สามารถเลือกทรงผมและเครื่องแต่งกายได้อย่างอิสระ โดยผู้ใหญ่ควรเชื่อว่าเด็กแต่ละคนมีวิจารณญาณเพียงพอ ถือเป็นการฝึกให้เด็กคิดและรับผิดชอบด้วยตนเอง นอกจากนั้นยังเป็นการประหยัดค่าตัดผมและค่าชุดนักเรียนอีกด้วย

การทำโทษที่ไม่สร้างสรรค์

แม้จะมีระเบียบกระทรวงศึกษาธิการห้ามไม่ให้ครูทำโทษนักเรียนด้วยวิธีการรุนแรง แต่ก็ยังเกิดเหตุการณ์ที่ครูทำโทษนักเรียนอย่างไม่สร้างสรรค์จนกลายเป็นข่าวอยู่หลายครั้ง เช่นเมื่อไม่นานมานี้ นักเรียนหญิงคนหนึ่งถูกครูสั่งให้ถอดเสื้อชั้นในออก เพราะไม่ใส่เสื้อทับ หรืออีกกรณีที่ครูใช้มีดคัตเตอร์กรีดกระโปรงนักเรียน เพราะใส่สั้นเกินไป

คำว่า ‘รุนแรง’ ไม่ใช่แค่การลงไม้ลงมือเท่านั้น แต่รวมถึงวิธีการอื่นๆ ที่ทำให้เด็กรู้สึกหวาดกลัวหรืออับอาย เพื่อให้พวกเขาหลาบจำและไม่ทำแบบนั้นอีก

ปฏิเสธไม่ได้ว่าคุณครูจำนวนมากทำโทษนักเรียนด้วยเจตนาดี แต่บางทีบทลงโทษเหล่านั้นอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอารมณ์ ทำให้เด็กขาดความเชื่อมั่น ซึมซับความรุนแรง และอาจแสดงออกในทางตรงกันข้าม

กิจกรรมรับน้อง

เป็นกระแสดราม่าทุกปีสำหรับกิจกรรมรับน้อง โดยเฉพาะช่วงเปิดภาคเรียนของมหาวิทยาลัยต่างๆ มักมีภาพ คลิปวีดิโอ หรือการแชร์เรื่องราวเกี่ยวกับวิธีรับน้องแปลกๆ ตั้งแต่สั่งให้น้องจูบดิน จูบเพื่อนเพศเดียวกัน กินอาหารจากช้อนคันเดียวกันทั้งคณะ จนถึงกิจกรรมที่เข้าข่ายอนาจาร และใช้ความรุนแรง

เมื่อปี 2557 นักศึกษาคนหนึ่งเสียชีวิตจากการรับน้อง เพราะถูกรุ่นพี่สั่งให้ทิ้งดิ่งทะเลหลังดื่มเหล้าขาวเข้าไป หรือเมื่อปี 2559 นักศึกษาอีกคนต้องเข้าห้อง ICU เพราะถูกรุ่นพี่สั่งให้ลงไปในท่อทิ้งสารเคมี ทำให้ปอดติดเชื้อรุนแรง

นอกจากนั้น กิจกรรมพิเรนทร์ๆ เหล่านี้ยังเป็นการละเมิดสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ากิจกรรมรับน้องทำให้เกิดความรักใคร่สามัคคีระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องได้จริง

 

 

 

ติดตามข่าวที่น่าสนใจได้ที่ http://www.workpointnews.com

Facebook / https://www.facebook.com/WorkpointNews/

Instagram / https://www.instagram.com/workpointnews/

Twitter / https://twitter.com/WorkpointShorts

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า