ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจพบแรงงาน มีหนี้สินเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเฉลี่ย 15 % ต่อครัวเรือน คาดเงินสะพัดวันแรงงานปี 62 ต่ำที่สุดในรอบ 3 ปีอยู่ที่ 2,232 ล้านบาท
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจ “สถานภาพแรงงานไทย กรณีศึกษาผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาททั่วประเทศ จำนวน 1,200 ตัวอย่าง” พบ แรงงานส่วนใหญ่มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 10,001-15,000 บาท ประมาณ 72.4 % โดยรายจ่ายเทียบเท่าเงินเดือนประมาณ 46 % รองลงมา 5,000 – 10,000 บาท ประมาณ 37.9 % อีกทั้งยังพบว่ากว่า 86.2 % แรงงานไม่มีเงินออม และ 65.2 % ไม่มีอาชีพเสริม
ขณะที่ ภาระหนี้ของแรงงานไทยสูงถึง 95 % โดยการ “กู้ยืม” ส่วนใหญ่ 36.8 % กู้มาเพื่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน รองลงมา เป็นเรื่องของยานพาหนะ ค่ารักษาพยาบาล ที่อยู่อาศัย ซึ่งทำให้ภาระหนี้ครัวเรือนในปัจจุบันสูงถึงประมาณ 158,000 บาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 15 % เมื่อเทียบกับปีก่อน
โดยเมื่อแยกหนี้สินในระบบสูงถึง 58.2 % เฉลี่ยการผ่อนชำระ 7,138 บาทต่อเดือน นอกระบบ 41.8 % เฉลี่ยการผ่อนชำระ 4,028 บาทต่อเดือน และในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ 80.3 % เคยผิดชำระหนี้ เพราะเงินไม่พอจ่าย รายได้ลดลง และขาดสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งภาระหนี้ที่เกิดขึ้นส่งผลต่อการใช้จ่ายในปัจจุบันลดลง 56.2 % และอีก 3 เดือนข้างหน้าการใช้จ่ายก็ยังลดลง 47.2 %
ส่วนกิจกรรมวันแรงงาน ปี 2562 แรงงานจะไปท่องเที่ยวตามสถานที่จัดงานวันแรงงาน ดูหนัง สังสรรค์ และไปซื้อของ มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยนคนละ 2,164 บาท ทำให้คาดว่า มูลค่าการใช้จ่ายในวันแรงงานปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 2,232 ล้านบาท ขยายตัว 1.8 % เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ต่ำสุดในรอบ 3 ปี
อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจที่ออกมาถือว่า ปีนี้แม้ลูกจ้างยังต้องการค่าจ้างแรงงานเพิ่ม แต่ทุกคนเข้าใจนายจ้างมากขึ้น เพราะหากปรับค่าจ้างแรงงานเพิ่มจะกระทบต่อนายจ้างและไม่เป็นผลดีกับลูกจ้างหากให้ออกจากงาน การหางานใหม่จะลำบากมากในช่วงนี้ แต่ก็อยากให้รัฐบาลชุดใหม่ที่คาดว่าจะได้ภายในสิ้นปีนี้ช่วยดูแลเรื่องค่าแรงงานและสวัสดิการอื่นๆ