SHARE

คัดลอกแล้ว

การเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.นี้ ใช้ระบบบัตรเลือกตั้งใบเดียว ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกกากบาทได้เพียงครั้งเดียว คะแนนจะถูกนำไปคิดทั้งแบบ ส.ส.แบ่งเขต (ใครได้มากที่สุดชนะในเขตนั้น) และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ (ทุกคะแนนทั้งประเทศนำไปคำนวณหาจำนวน ส.ส.) นั่นเท่ากับว่า เมื่อกาบัตรให้ ส.ส.เขต พรรคใด คะแนนยังจะมามีผลต่อผู้ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคด้วย
.

เพราะฉะนั้น การรู้ว่าพรรคไหนส่งใครลงในบัญชีรายชื่อ (โดยเฉพาะลำดับต้นๆ) จึงเป็นข้อมูลสำคัญที่ควรรู้ก่อนไปตัดสินใจเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. นี้

(ส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ เขาคำนวณกันอย่างไรจากบัตรเลือกตั้งใบเดียว เลื่อนลงไปดูท้ายสุดได้เลย)

.

พรรคเพื่อไทย

พรรคเพื่อไทย ส่งรายชื่อ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ รวม 97 คน  รายชื่อ ลำดับ 1 พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ หัวหน้าพรรค ตามด้วย 2 แคนดิเดตบัญชีนายกรัฐมนตรีของพรรค คือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และ นายชัยเกษม นิติสิริ   ส่วน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อีกหนึ่งคนในแคนดิเดตนายกฯ ไม่ได้ลงสมัครทั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อและ ส.ส.เขต โดยให้เหตุผลว่า ไม่ถนัดงานสภาในฝ่ายนิติบัญญัติ
.

บัญชีรายชื่ออันดับอื่นๆ ที่น่าสนใจ ลำดับ 11 นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง / ลำดับ 12 นายชูศักดิ์ ศิรินิล / ลำดับ 13 นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา / ลำดับ 14 นายนพดล ปัทมะ / ลำดับ 21 พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ / ลำดับ 34 พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี

.

ประเด็นที่ต้องติดตาม โพลทุกสำนักเห็นตรงกันว่าเพื่อไทยจะได้ ส.ส.เขตเป็นที่ 1 ค่อนข้างแน่ แต่สิ่งที่เพื่อไทยต้องลุ้นที่สุด คือจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อหรือไม่ เพราะระบบการเลือกตั้ง “จัดสรรปันส่วนผสม” จะมีผลให้พรรคที่ได้ ส.ส.เขต จำนวนมาก จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อในจำนวนที่น้อยลงหรือถึงขั้นไม่ได้เลยแม้แต่คนเดียว ซึ่งถ้าเป็นอย่างหลังเท่ากับว่าบิ๊กเนมหลายคน รวมทั้งคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งของพรรค และดาวสภาเจ้าของฉายา “ไปทะเลเจอฉลาม มาสภาเจอเฉลิม”  ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อาจจะไม่ได้เป็น ส.ส.ในครั้งนี้

 

พรรคประชาธิปัตย์ 

พรรคประชาธิปัตย์ ส่งรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อครบ 150 คน   รายชื่อ 10 ลำดับแรก ลำดับ 1-3 เป็นระดับหัวหน้าพรรค 1.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ / 2.นายชวน หลีกภัย / 3.นายบัญญัติ บรรทัดฐาน  จากนั้นเป็นแกนนำคนสำคัญของพรรค  
.
บัญชีรายชื่ออันดับอื่นๆ ที่น่าสนใจ ลำดับ 20.นางสาวจิตภัสร์ กฤดากร “ตั๊น” / 30.นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข / 32. นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ / 33. นายสุรบถ หลีกภัย บุตรชายนายชวน หลีกภัย / 42.นายบุญยอด สุขถิ่นไทย / 46.นายวัชระ เพชรทอง / 58. นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต / 150.นายอาคม เอ่งฉ้วน

.

ประเด็นที่ต้องติดตาม นายอภิสิทธิ์ ประเมินในวันรับสมัครว่า หากเทียบจากคะแนนเลือกตั้งครั้งก่อน พรรคน่าจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 40 คน  ซึ่งต้องติดตามว่าการประกาศเป็นขั้วที่ 3 โดยไม่เข้าร่วมกับทั้งเพื่อไทย และ พล.อ.ประยุทธ์ จะมีผลให้คะแนนเลือกตั้งของพรรคมากพอที่จะได้จำนวน ส.ส.ตามเป้าหรือไม่
.

พรรคพลังประชารัฐ 

พรรคพลังประชารัฐ ส่งผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 120 คน   รายชื่อ 4 ลำดับแรก ล้วนเป็นคนที่มีบทบาทในข่าวต่อเนื่อง คือ 1.นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รองหัวหน้าพรรค 2.นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งภาคอีสาน 3.นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ 4.นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ประธานคณะกรรมการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรคพลังประชารัฐ
.

บัญชีรายชื่ออันดับอื่นๆ ที่น่าสนใจ ลำดับ 11.นายเอกราช ช่างเหลา / 19. “มาดามเดียร์” น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี / 21.นายยุทธนา โพธสุธน หลายชายนายประภัตร โพธสุธน ที่ถูกมองว่าเป็นชนวนให้ นายจองชัย เที่ยงธรรม อดีต ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา ไปสังกัดพรรคภูมิใจไทยเพื่อมาลงเลือกตั้ง เขต 3 สุพรรณบุรี ชนกับนายประภัตร เพราะไม่พอใจที่ ครั้งแรกนายยุทธนา มีชื่อลง ส.ส.สุพรรณบุรี เขต 4 ชนกับ นายเสมอกัน เที่ยงธรรม ลูกชายนายจองชัย  / 23.นายชวน ชูจันทร์ / 24.นายภิรมย์ พลวิเศษ / 25. นายสุพร ดนัยตั้งตระกูล / 27.นายธนกร วังบุญคงชนะ / 28.นายเดชนัฐวิทย์ เตริยาภิรมย์ ลูกชายนายบุญทรง เตริยาภิรมย์

.

ส่วน 4 อดีตรัฐมนตรีที่เพิ่งเป็นผู้บริหารพรรค คือ นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค,นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรค และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรค ไม่สามารถลงสมัคร ส.ส.ได้ เพราะติดเงื่อนไขการลาออกจากตำแหน่งภายใน 90 วันหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้

.

ประเด็นที่ต้องติดตาม  ในฐานะพรรคใหม่ที่รวบรวมผู้มีประสบการณ์ในแวดวงการเมืองไว้ไม่น้อย เป้าหมายสำคัญคือการแย่งชิง ส.ส.เขตจากพรรคการเมืองเดิม ไปพร้อมๆ กับการส่งผู้สมัครลงลุยให้ครบทุกเขตแม้จะรู้ว่าแพ้แต่ก็ขอคะแนนมาให้ได้มากที่สุด เพื่อมาเปลี่ยนเป็นจำนวนปาร์ตี้ลิสต์นั่นเอง แต่หากเกิดพลิกล็อก เบอร์ใหญ่ไปพลาดในการชิง ส.ส.เขต   พรรคพลังประชารัฐอาจจะยังได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ มากกว่าที่คำนวณไว้เป็นการปลอบใจ แต่จะมากพอจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ยังคงเป็นคำถาม

 

พรรคภูมิใจไทย 

พรรคภูมิใจไทย ส่งรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อครบ 150 คน  รายชื่อ ลำดับ 1 นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค / ลำดับ 2 นายชัย ชิดชอบ อดีตประธานรัฐสภา บิดานายเนวิน ชิดชอบ / อันดับ 3 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรค น้องชายนายเนวิน / ลำดับ 4 นางนาที รัชกิจประการ แกนนำภาคใต้ของพรรค /ลำดับ 5 นายสรอรรถ กลิ่นประทุม ประธานกรรมการที่ปรึกษาพรรค อดีต รมต.หลายกระทรวง
.
บัญชีรายชื่ออันดับอื่นๆ ที่น่าสนใจ ลำดับ 9 นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล อดีต ส.ส.อ่างทองที่ย้ายมาจากพรรคชาติไทยพัฒนา / ลำดับ 10 นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ ลูกชาย พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ /ลำดับ 12 นายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการและอดีตโฆษกพรรค / ลำดับ 13 พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ อดีตรองประธาน กสทช. โฆษกพรรค 

.

ประเด็นที่ต้องติดตาม  เมื่อครั้งที่ทุกคนรู้จักระบบเลือกตั้ง “จัดสรรปันส่วนผสม” ใหม่ๆ พรรคภูมิใจไทย ถูกมองว่าจะเป็นหนึ่งในพรรคที่ได้รับประโยชน์จากระบบนี้มาก โดยน่าจะได้ ส.ส.มากขึ้น เพราะคะแนนที่เคยตกน้ำเสียเปล่าจากการได้ที่ 2-3 ในพื้นที่ภาคอีสาน จะกลายมาเป็นคะแนนได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เพิ่มขึ้น แต่ภายหลังกระแสของพรรคการเมืองใหม่หลายพรรคที่แรงขึ้นในช่วงโค้งท้ายๆ ยังต้องติดตามว่าภูมิใจไทย จะทำคะแนนจากการเลือกตั้งครั้งนี้ได้มากน้อยแค่ไหน 

 

พรรคอนาคตใหม่ 

พรรคอนาคตใหม่ ส่งรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ รวม 124 คน   รายชื่อลำดับ 1 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค / ลำดับ 2 นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค นักวิชาการด้านกฎหมาย / ลำดับ 3 น.ส.วรรณวิภา ไม้สน ผู้ทำงานด้านสิทธิแรงงาน / ลำดับ 4 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่พรรควางให้เป็นว่าที่ รมว.เกษตร / ลำดับ 5 น.ส.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ นักวิชาการด้านการศึกษา
.
บัญชีรายชื่ออันดับอื่นๆ ที่น่าสนใจ ลำดับ 6 พล.ท.พงศกร รอดชมภู อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ / ลำดับ 7 น.ส.พรรณืการ์ วานิช โฆษกพรรค /  ลำดับ 9 ธัญวารินทร์ สุขะพิสิษฐ์ ผู้กำกับภาพยนตร์ข้ามเพศ / ลำดับ 13 นายชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการด้านการเมืองและกฎหมาย / ลำดับ 16 รังสิมันต์ โรม / ลำดับ 26 นายคารม พลพรกลาง ทนายความกลุ่ม นปช. / ลำดับ 31 พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ อดีตผู้บังคับการกองปราบปราม

ประเด็นที่ต้องติดตาม จากจุดเริ่มต้นที่นักวิเคราะห์มองว่าแค่ได้นายธนาธร กับนายปิยบุตร ปาร์ตี้ลิสต์ 2 คนแรกเข้าสภาได้ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของพรรคน้องใหม่ เพราะดูจากชื่อผู้สมัครคงยากที่จะได้ ส.ส.เขต และปาร์ตี้ลิสต์ก็คงได้ไม่มากเพราะคนรู้จักในวงจำกัด แต่กระแสที่ขยายเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ทั้งความนิยมในตัวหัวหน้าพรรคและแนวคิดของพรรค ล่าสุดในพรรคมองถึงจำนวน ส.ส.ที่มากกว่า 50 คนขึ้นไปแล้ว  โดยนายธนาธร ตอบคำถาม สุทธิชัย หยุ่น ในรายการตอบโจทย์เลือกตั้ง 62 ทางไทยพีบีเอส เมื่อ 18 มี.ค. ว่าจำนวน ส.ส.ของพรรคตอนนี้น่าจะเลยจุดที่มีคนวิเคราะห์ว่าจะได้ 25-50 ไปแล้ว แต่จะได้จริงเท่าไรขอให้รอดูหลังการเลือกตั้ง

พรรคชาติไทยพัฒนา 

พรรคชาติไทยพัฒนา ส่งรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 67 คน  รายชื่อ ลำดับ 1 นายวราวุธ ศิลปอาชา ลูกชายของอดีตนายกฯ บรรหาร / 2. นายธีระ วงศ์สมุทร อดีต รมว.เกษตร (รัฐบาลอภิสิทธิ์) และอดีตหัวหน้าพรรค / 3. นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรค / 4. นายนพดล มาตรศรี รองหัวหน้าพรรค อดีต ส.ส.สุพรรณบุรี ที่ลงทำหน้าที่ครั้งนายวราวุธถูกตัดสิทธิ์การเมือง / 5. นายนิติวัฒน์ จันทร์สว่าง อดีต ส.ส. ที่ลงเลือกตั้งแทนนายบรรหาร ครั้งถูกตัดสิทธิ์การเมือง
.
บัญชีรายชื่ออันดับอื่นๆ ที่น่าสนใจ ลำดับ 8 พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตหัวหน้า คมช.และหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ / 20.นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ โฆษกพรรค อดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทย
.

ส่วน น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรค ไม่ลงสมัคร ส.ส.ทั้ง 2 ระบบ แต่มีชื่อในบัญชีนายกรัฐมนตรีของพรรค

พรรคชาติพัฒนา

พรรคชาติพัฒนา ส่งรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 56 คน  รายชื่อ ลำดับ 1 นายเทวัญ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน / ลำดับ 2 นายดล เหตระกูล เลขาธิการพรรค ทายาทเดลินิวส์ / ลำดับ 3 นายณัฏฐชัย ศรีรุ่งสุขพินิจ นักธุรกิจและเคยเป็นประธานสโมสรนครราชสีมา มาสด้า เอฟซี / ลำดับ 4 พ.อ.วินัย สมพงษ์ อดีต รมว.คมนาคม (รัฐบาลชวน) / ลำดับ 5 นายสาคร พรหมภักดี อดีต ส.ส.สกลนคร
.
ในขณะที่แกนนำหลักของพรรค คือ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรค ไม่มีชื่อลงสมัคร ส.ส.ทั้งเขตและบัญชีรายชื่อ แต่มีชื่อในบัญชีนายกรัฐมนตรีของพรรค ร่วมกับ นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล อดีตหัวหน้าพรรค และ นายเทวัญ 

พรรคประชาชาติ

พรรคประชาชาติ ส่งผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 58 คน  รายชื่อ 5 ลำดับแรก มี 3 คน ที่เป็นรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคด้วย คือ ลำดับ 1 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานรัฐสภาและอดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง เช่น รมว.มหาดไทย (รัฐบาลทักษิณ) รมว.คมนาคม (รัฐบาลบรรหาร) , 2. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตเลขาธิการ ศอ.บต. และ 4. ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม อดีต ส.ส.กทม.พรรคไทยรักไทย และอดีตรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
.
ส่วนลำดับอื่นๆ มีคนดังอย่าง ลำดับ 3 “บังยี” นายวรวีร์ มะกูดี อดีตนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย และ 5. ร.ต.อ.นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย ที่หลายคนคุ้นในชื่อ “ติวเตอร์หมู” นิติภูมิ นวรัตน์   นอกจากนี้ ยังมีสมาชิกกลุ่มวาดะห์ เช่น ลำดับ 6. นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ / 8. นายนัจมุดดีน อูมา / 13. มุข สุไลมาน 

พรรคเสรีรวมไทย

พรรคเสรีรวมไทย ส่งรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ รวม 100 คน   รายชื่อ 10 ลำดับแรก นำโดย ลำดับ 1 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรค / ลำดับ 2 นายวัชรา ณ วังขนาย เลขาธิการพรรค ทายาทกลุ่มน้ำตาลวังนาย อดีต ส.ส.นครราชสีมาพรรคไทยรักไทย
.
ลำดับ 4 น.พ.เรวัต วิศรุตเวช อดีตอธิบดีกรมการแพทย์ / ลำดับ 5 น.พ.ประสงค์ บูรณ์พงศ์ อดีต รมว.แรงงาน (สมัยนายกฯ บรรหาร) และอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (สมัยนายกฯ ชาติชาย)
.
บัญชีรายชื่ออันดับอื่นๆ ที่น่าสนใจ ลำดับ 11 นายสุวัตร สิทธิหล่อ รองหัวหน้าพรรค อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา / ลำดับ 15 นายปิติพงษ์ เต็มเจริญ โฆษกพรรค อดีต ส.ส.กทม.พรรคไทยรักไทย

พรรคเศรษฐกิจใหม่

พรรคเศรษฐกิจใหม่ ส่งรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ รวม 81 คน   นำโดย ลำดับ 1 นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค และ ลำดับ 2 นายสุภดิช อากาศฤกษ์ อดีตหัวหน้าพรรค ลูกชายของ สุธี อากาศฤกษ์ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

.

ประเด็นที่ต้องติดตาม จากพรรคโนเนมที่แค่หัวหน้าพรรค นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ยังลุ้นเข้าสภาเหนื่อย  โค้งท้ายการนำเสนอแนวคิดและตัวตนผ่านเวทีดีเบตและรายการโทรทัศน์ต่างๆ ทำให้ “ลุงมิ่ง” ของวัยรุ่นที่ตั้งฉายานี้ให้ในโซเชียลมีเดีย อาจจะแรงพอพาลูกพรรคพ่วงเข้าสภาไปพร้อมกันได้

 

พรรคเพื่อชาติ 

พรรคเพื่อชาติ ส่งผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ครบ 150 คน นำโดย ลำดับ 1 นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรค อดีตรัฐมนตรีช่วยพาณิชย์ ในรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เจ้าของห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียล / ลำดับ 2 น.ส.ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช บุตรสาวของ ยงยุทธ ติยะไพรัช ผู้ช่วยหาเสียงของพรรค / ลำดับ 3 นายอารี ไกรนรา หัวหน้าการ์ด นปช. / ลำดับ 4 นายเพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล แกนนำ นปช.กลุ่มรักเชียงใหม่ 51 / ลำดับ 5 นางลินดา เชิดชัย อดีต ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย ลูกสะใภ้ของ “เจ๊เกียว” สุจินดา เชิดชัย

 

พรรครวมพลังประชาชาติไทย 

พรรครวมพลังประชาชาติไทย ส่งผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อครบ 150 คน และเป็นพรรคเดียวที่จัดวางรายชื่อ สลับชาย-หญิง ทั้งหมด
.
รายชื่อ 10 ลำดับแรก มีแกนนำคนสำคัญ คือ ลำดับ 1. ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หัวหน้าพรรค / 5.นายทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง เลขาธิการพรรค / 7.นายสุริยะใส กตะศิลา อดีตผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (ภายหลังถูกตัดสิทธิ์เพราะถูกจำคุกจากคดีสมัยพันธมิตรฯ) / 9. ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ นักวิชาการรัฐศาสตร์ เจ้าของหนังสือ “สองนคราประชาธิปไตย” อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์และอดีตหัวหน้าพรรคมหาชน
.
ส่วน “ลุงกำนัน” สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำคนสำคัญที่ช่วยเดินหาเสียง “คารวะแผ่นดิน” และประกาศไม่เล่นการเมือง ไม่ลงสมัครทั้ง ส.ส.แบ่งเขตและ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
.
ขณะเดียวกันก็มีชื่อคนรุ่นใหม่ อายุ 25-40 ปี อยู่ในอันดับต้นๆ เช่น ลำดับ 2.น.ส.เพชรชมพู กิจบูรณะ (25 ปี) / 3.นายเขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์ (30 ปี) ลูกชายนายเอนก / 4. น.ส.อนุสรี ทับสุวรรณ (40 ปีเศษ) อดีตข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ / 6. น.ส.จุฑาฑัตต เหล่าธรรมทัศน์ (30 ปีเศษ) เหรัญญิกพรรค พี่สาว “น้องพลับ” จุฑาภัทร เจ้าของเพลง “ใครๆ ก็ไม่รักผม” / 10 น.ส.ปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ (40 ปี) ที่สูญเสียครอบครัวจากความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้
.
ส่วนลำดับอื่นๆ ลำดับ 11.พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) / 13. รศ.ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร นักวิชาการ อดีตแกนนำ กปปส./ 15. ผศ.ร.ต.อ.ดร.จอมเดช ตรีเมฆ นายทะเบียนพรรค / 17 นายประสาร มฤคพิทักษ์ / 19 นายสำราญ รอดเพชร / 25 นายเจะอามิง โตะตาหยง อดีต ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ / 27.นายอุทัย ยอดมณี อดีตแกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) / 33 นายเถกิง สมทรัพย์ อดีตผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์บลูสกาย แชนแนล

พรรคพลังท้องถิ่นไท 

พรรคพลังท้องถิ่นไท ส่งรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 78 คน
.
รายชื่อ ลำดับ 1 นายชัชวาลล์ คงอุดม “ชัช เตาปูน” หัวหน้าพรรค / ลำดับ 2 นายโกวิทย์ พวงงาม คณะบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการ ที่เขียนตำราการปกครองท้องถิ่น ที่ได้รับการอ้างอิงในวงกว้าง
.
ลำดับ 3 นายนพดล แก้วสุพัฒน์ อดีต นายกสมาคม อบต.แห่งประเทศไทย / ลำดับ 4 นายชื่นชอบ คงอุดม โฆษกพรรค ลูกชายของหัวหน้าพรรค อดีต ส.ส.กทม. เขตบางซื่อ พรรคประชาธิปัตย์ / ลำดับ 5 นายไฉน ก้อนทอง อดีตประธานชมรม อบต.ภาคเหนือและคณะกรรมการกระจายอำนาจ
.
บัญชีรายชื่ออันดับอื่นๆ ที่น่าสนใจ ลำดับ 6 นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง อดีตนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย / ลำดับ 7 นายพิพัฒน์ วรสิทธิดำรง อดีตนายกสมาคมสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย / ลำดับ 8 นายรัฐภูมิ โตคงทรัพย์ “ฟิล์ม” นักแสดง รองโฆษกพรรค / ลำดับ 12 นายยอดยิ่ง แสนยากุล ผอ.สมาคมม้งกรุงเทพและเครือข่าย 

 

การคำนวณ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ

เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งนี้ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว มีผลทั้งการเลือกตั้ง ส.ส.เขต (ซึ่งจะนับคะแนนที่หน่วยและส่งไปรวมผล ใครคะแนนสูงสุดชนะในเขตนั้น) และ ส.ส.บัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งมีวิธีการคำนวณหลายขั้นตอน

  • เริ่มจากต้องนำคะแนนที่ทุกพรรคได้จาก 350 เขตทั่วประเทศมารวมกัน หักบัตรที่ไม่ประสงค์ลงคะแนนและบัตรเสียออก
  • หารด้วย 500 ซึ่งเป็นจำนวน ส.ส. ทั้ง 2 ระบบรวมกัน (เขต 350+ บัญชีรายชื่อ 150) จะได้ “จำนวนคะแนนโหวต / ส.ส.1 คน”
  • นำคะแนนที่แต่ละพรรคได้จากทุกเขตรวมกันไม่ว่าชนะหรือแพ้ หารด้วย “จำนวนคะแนนโหวต / ส.ส.1คน”
  • จะได้ตัวเลขจำนวนที่เรียกว่า “ส.ส.พึงมี” (คือ ส.ส.ที่พรรคนั้นจะพึงมีได้)
  • นำ ส.ส.พึงมีตั้ง ลบด้วย ส.ส.เขตที่พรรคได้ไปแล้ว
  • ที่เหลือคือ จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พรรคนั้นจะได้
  • แต่ถ้า ส.ส.เขตที่พรรคได้ มากกว่า ส.ส.พึงมี ให้ถือจำนวน ส.ส.เขตที่ได้เป็นหลัก และจะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มอีก

 

ทั้งนี้มีพรรคการเมืองที่ถูกตัดสิทธิ์ไป เพราะศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคคือ พรรคไทยรักษาชาติ ทำให้ผู้สมัครทั้งแบบแบ่งเขตและแบบปาร์ตี้ลิสต์หมดสิทธิ์ลงสมัครเลือกตั้งในครั้งนี้  ซึ่งมีรายชื่อคนดังอย่าง  ลำดับ 1 ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรค / ลำดับ 2 นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานยุทธศาสตร์พรรค / ลำดับ 3 นายฤภพ ชินวัตร รองหัวหน้าพรรค บุตรชายนายพายัพ ชินวัตร และหลานชาย นายทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
.
ลำดับ 11 น.ส.ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ นายทะเบียนพรรค ลูกสาวนางเยาวเรศ ชินวัตร / ลำดับ 18 นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา / ลำดับ 24 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ
.
ลำดับ 25 นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ / ลำดับ 26 นายประภัสร์ จงสงวน / ลำดับ 28 นายสุธรรม แสงประทุม / ลำดับ 29 นายก่อแก้ว พิกุลทอง / ลำดับ 39 นายพงศ์เกษม สัตยาประเสริฐ โฆษกพรรค อดีตผู้ประกาศข่าว / ลำดับ 55 นพ.เหวง โตจิราการ / ลำดับ 56 นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย

ซึ่งหากวันเลือกตั้งหากผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนให้พรรคไทยรักษาชาติ จะกลายเป็นบัตรเสียทันที 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า