SHARE

คัดลอกแล้ว

จนถึงขณะนี้ หลังจากเลือกตั้งผ่านไปกว่า 1 เดือน แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าทาง กกต. จะใช้สูตรใดในการคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ทั้งนี้ล่าสุดได้มีข่าวออกมาว่าในสัปดาห์นี้ ทางคณะกรรมการการเลือกตั้งจะประชุมและเลือกว่าจะใช้สูตรการคำนวณใด โดยสูตรที่จะมีการเสนอเข้าที่ประชุม กกต. ว่ากันว่าจะมี 3 สูตร ได้แก่ สูตรของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สูตรของนายโคทม อารียา อดีต กกต. และสูตรของนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. เช่นกัน

ทีมข่าวเวิร์คพอยท์อยากชวนผู้อ่านไปสำรวจดูให้ชัดๆ ว่าแต่ละสูตรมีวิธีคิดอย่างไร และผลลัพธ์การจัดสรร ส.ส. บัญชีรายชื่อด้วยสูตรแต่ละแบบ ให้ผลที่เหมือนหรือต่างกันอย่างไรบ้าง

สูตร 1 ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

สูตรโดย กรธ. นี้เป็นสูตรที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดว่าทาง กกต. จะหยิบไปใช้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ในช่วงต้นเดือน เม.ย. ทาง กกต. เคยออกมาแถลงว่าจะใช้สูตรที่จะทำให้มีอย่างน้อย 25 พรรคการเมืองได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ซึ่งมีเพียงสูตรของ กรธ. เท่านั้น ที่จะทำให้เกิดสถานการณ์ดังกล่าวขึ้นได้

วิธีคิดของสูตร 1 ของ กรธ. นี้ เริ่มจาก

ขั้นตอนที่ 1 หาจำนวน ส.ส. พึงมีของแต่ละพรรค โดยการนำคะแนนดิบของแต่ละพรรค มาหารด้วยตัวเลข 71,057.4980 (คะแนนโหวตสำหรับ ส.ส. พึงมี 1 คน) จะได้ออกมาเป็นตัวเลข ส.ส. ทั้งหมดที่แต่ละพรรคพึงมีตามคอลัมน์ C

ขั้นตอนที่ 2 ให้คำนวณหาจำนวน ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์เบื้องต้นของแต่ละพรรค ด้วยการนำตัวเลข ส.ส. พึงมีที่คำนวณได้ (คอลัมน์ C) ไปหักลบออกด้วยจำนวน ส.ส. เขตที่แต่ละพรรคได้มาแล้ว (คอลัมน์ D) จะได้ออกมาเป็นจำนวน ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ที่แต่ละพรรคพึงได้เบื้องต้น (คอลัมน์ E)

และตามวิธีคิดของสูตรนี้ จะทำการตรวจสอบทันทีในขั้นตอนนี้ ว่ามี ส.ส. โอเวอร์แฮงค์ (หมายถึง ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ส่วนที่เกิน 150) หรือไม่ ปรากฏว่าจากการรวม ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์เบื้องต้นของทุกพรรคในคอลัมน์ E รวมกันได้ 175.5321 ซึ่งเกิน 150 ฉะนั้นจึงต้องจัดการโดยการเทียบบัญญัติไตรยางค์

ในขั้นตอนที่ 3 ให้เทียบบัญญัติไตรยางค์โดยการนำตัวเลข ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ที่คิดได้เบื้องต้นของแต่ละพรรค มาคูณด้วย 150 แล้วหารด้วย 175.5321 จะได้ออกมาเป็นตัวเลข ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ของแต่ละพรรคที่ปรับสูตรแล้ว

จากนั้นในขั้นตอนที่ 4 ก็เริ่มจัดสรร ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ให้แต่ละพรรคโดยจัดสรรเป็นจำนวนเต็มก่อน เช่น พรรคพลังประชารัฐ คำนวณ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ที่ปรับสูตรแล้วได้ 18.5269 ในขั้นตอนที่ 4 นี้ ก็ให้ดึงจำนวนเต็ม 18 มาจัดสรรก่อน และทำเช่นนี้กับพรรคอื่นๆ ทุกพรรค ปรากฏว่าการจัดสรรในรอบจำนวนเต็มนี้ จัดสรรได้เพียง 129 คน (ผลรวมของคอลัมน์ G) ยังไม่ครบ 150 คน จึงต้องจัดสรรในรอบเศษทศนิยมต่อ

ในขั้นตอนที่ 5 ให้จัดสรร ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ในรอบเศษ โดยพรรคที่มีเศษทศนิยมมากที่สุดจะได้รับการจัดสรรก่อน โดยในรอบเศษทศนิยมนี้จะมีทั้งสิ้น 21 พรรคการเมืองที่ได้รับการจัดสรร ส.ส. บัญชีรายชื่อ (คอลัมน์ H)

ในขั้นตอนสุดท้าย ขั้นตอนที่ 6 ให้รวม ส.ส. ที่จัดสรรรอบจำนวนเต็มและรอบเศษเข้าด้วยกัน (G+H) ก็จะออกมาได้เป็นจำนวน ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ที่แต่ละพรรคจะได้รับตามสูตร 1 ของ กรธ. นี้

ผลการจัดสรรตามสูตรของ กรธ. นี้ปรากฎว่าจะมีถึง 26 พรรคการเมือง ที่ได้รับการจัดสรร ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งรวมถึงพรรคการเมืองขนาดเล็กที่ได้เสียงโหวตไม่ถึง 7 หมื่นเสียงด้วย ซึ่งก็มีปัญหาว่าการจัดสรร ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ให้กับพรรคการเมืองขนาดเล็กเหล่านี้ จะเป็นการขัดกับรัฐธรรมนูญที่กำหนดว่าต้องไม่ให้พรรคการเมืองใดได้รับการจัดสรร ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์จนมี ส.ส. เกินตัวเลข ส.ส. พึงมีหรือไม่

สูตร 2 ของ โคทม อารียา อดีต กกต.

สูตรของอดีต กกต. โคทม อารียา นี้ ในขั้นตอนที่ 1 และ 2 นั่นคือการคำนวณ ส.ส. พึงมีและการคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อเบื้องต้นของแต่ลพรรค ไม่ต่างจากสูตร 1 ของ กรธ.

แต่วิธีการคำนวณจะเริ่มแตกต่างตั้งแต่ขั้นตอนที่ 3 เป็นต้นไป โดยวิธีของนายโคทม อารียา เมื่อได้ตัวเลข ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์เบื้องต้นมาแล้ว ให้เริ่มจัดสรร ส.ส. บัญชีรายชื่อตามจำนวนเต็มก่อนทันที เช่น พรรคพลังประชารัฐคำนวณ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์เบื้องต้นได้ 21.6805 ให้จัดสรร ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ให้พรรคพลังประชารัฐ 21 คนก่อน เป็นต้น ทำเช่นนี้กับทุกพรรค

ผลปรากฏว่าการจัดสรรจำนวนเต็มดังกล่าวนี้ ทำให้ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อรวม 152 คน เกิน 150 คนตามที่ควรจะเป็น ดังนั้นจึงต้องมีการปรับสูตรโดยการเทียบบัญญัติไตรยางค์

ในขั้นตอนที่ 4 ให้ทำการเทียบบัญญัติไตรยางค์ โดยการนำตัวเลข ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์จำนวนเต็มที่จัดสรรก่อนหน้านี้ในคอลัมน์ J ไปคูณ 150 แล้วหารด้วย 152 จะได้เป็นตัวเลข ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ที่ปรับสูตรแล้ว

จากนั้นในขั้นตอนที่ 5 จากตัวเลข ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ที่ปรับสูตรแล้ว ให้เริ่มจัดสรรตามจำนวนเต็มก่อน ปรากฏว่าจัดสรรเป็นจำนวนเต็มแล้วได้ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์เพียง 138 คน (ผลรวมของคอลัมน์ L)

จึงต้องดำเนินการขั้นตอนที่ 6 ต่อ นั่นคือการจัดสรรรอบเศษทศนิยม โดยให้จัดสรรให้พรรคที่มีเศษทศนิยมมากที่สุดก่อน ได้ผลลัพธ์ออกมาตามคอลัมน์ M

จากนั้นขั้นตอนสุดท้าย ขั้นตอนที่ 7 ให้รวมตัวเลข ส.ส. ที่จัดสรรในรอบจำนวนเต็ม (คอลัมน์ L) และรอบเศษทศนิยม (คอลัมน์ M) เข้าด้วยกัน ผลลัพธ์คือจำนวน ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์สุดท้ายที่แต่ละพรรคจะได้รับการจัดสรรตามสูตร 2 ของนายโคทม อารียา

ขอให้สังเกตว่า สุดท้ายแล้วตามสูตร 2 ของอดีต กกต. โคทม อารียา นี้ มีเพียง 14 พรรคการเมืองเท่านั้นที่จะได้รับการจัดสรร ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ โดยทุกพรรคการเมืองที่คำนวณจำนวน ส.ส. พึงมีได้น้อยกว่า 1 จะไม่ได้รับการจัดสรร ส.ส. บัญชีรายชื่อเลย

สูตร 3 ของ สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต.

ในขั้นตอนที่ 1 นั่นคือการคำนวณ ส.ส. พึงมีเบื้องต้น สูตรของอดีต กกต. สมชัย ไม่ต่างจากสูตรของ กรธ. หรือสูตรของนายโคทม อารียา

แต่ในขั้นตอนที่ 2 หลังจากคำนวณ ส.ส. พึงมีเบื้องต้นได้แล้ว ตามสูตรของอดีต กกต. สมชัย จะตัดพรรคที่คำนวณ ส.ส. พึงมีได้ไม่ถึง 1 ออกจากการคำนวณไปเลย เพราะถือว่ารัฐธรรมนูญเขียนกำหนดไว้ชัดเจนว่า ต้องไม่จัดสรร ส.ส. บัญชีรายชื่อเพิ่มแล้วส่งผลให้พรรคการเมืองใดได้ ส.ส. เกินจำนวน ส.ส. พึงมี ฉะนั้นพรรคที่ได้คะแนนเสียงน้อยกว่า 7 หมื่นจึงถูกตัดออกจากสมการการคำนวณตั้งแต่ขั้นตอนนี้

จากนั้นในขั้นตอนที่ 3 ให้คำนวณจำนวน ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ที่แต่ละพรรคพึงได้เบื้องต้น ได้ผลลัพธ์ออกมาตามคอลัมน์ E

จากนั้นในขั้นตอนที่ 4 ให้พิจารณาว่าในจำนวน 16 พรรคการเมืองที่เหลือ มีพรรคใดที่ไม่สามารถมี ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์เพิ่มได้หรือไม่ ซึ่งปรากฏว่ามี 2 พรรคการเมืองที่ไม่สามารถมี ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์เพิ่มได้เลย ได้แก่ พรรคเพื่อไทย เนื่องจากมี ส.ส. เขตเกิน ส.ส. พึงมีไปแล้ว และอีกพรรคคือพรรคประชาชาติ เนื่องจากหากได้รับการจัดสรร ส.ส. บัญชีรายชื่อเพิ่มอีก จะทำให้มี ส.ส. รวม (7) เกิน ส.ส. พึงมี (6.8316) ฉะนั้นจึงตัด 2 พรรคนี้ออกจากการคำนวณด้วยในขั้นตอนนี้

จากนั้นให้รวมตัวเลข ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์เบื้องต้นของพรรคการเมือง 14 พรรคที่เหลือ พบว่ารวมกันได้ 159.8439 ซึ่งเกิน 150 ฉะนั้นจึงต้องแก้ด้วยการเทียบบัญญัติไตรยางค์

ในขั้นตอนที่ 5 ให้เทียบบัญญัติไตรยางค์ โดยการนำตัวเลข ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์เบื้องต้นที่คำนวณได้ (คอลัมน์ E) มาคูณด้วย 150 แล้วหารด้วย 159.8439 จะออกมาเป็นจำนวน ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์แบบที่ปรับใหม่แล้ว (คอลัมน์ J)

จากนั้นในขั้นตอนที่ 6 ให้จัดสรรโดยดูจากเลขจำนวนเต็มก่อน ปรากฏว่าจัดสรรรอบจำนวนเต็มได้ทั้งสิ้น 142 คน (ผลรวมของคอลัมน์ K) ยังขาดอีก 8 คน จึงต้องจัดสรรรอบเศษทศนิยม

ในขั้นตอนที่ 7 ให้จัดสรรโดยดูจากเศษทศนิยม แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงด้วยว่าการจัดสรรดังกล่าวจะไม่มีผลให้พรรคไหนได้ ส.ส. รวมเกินจำนวน ส.ส. พึงมี เช่น พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย ที่แม้ว่าเศษจะมีถึง 0.8040 แต่ก็จะไม่ได้รับการจัดสรรในรอบเศษทศนิยมนี้ เนื่องจากหากได้รับการจัดสรรอีก จะทำให้พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทยมีจำนวน ส.ส. รวม 2 คน ซึ่งมากกว่าตัวเลข ส.ส. พึงมีที่คำนวณได้เบื้องต้น (1.9223) ฉะนั้นแล้วในการจัดสรรรอบเศษทศนิยมรอบแรก จะมีทั้งสิ้น 7 พรรคการเมืองที่ได้รับการจัดสรร ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ (คอลัมน์ L)

อย่างไรก็ตาม หลังจากจัดสรรรอบจำนวนเต็มและรอบเศษทศนิยมครั้งแรกไปแล้ว ปรากฏว่ายังได้ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ไม่ครบ 150 คน โดยยังขาดอีก 1 คน ตามวิธีคิดของสูตรอดีต กกต. สมชัย ให้จัดสรรให้พรรคอนาคตใหม่อีก 1 ที่นั่ง เพราะว่าเป็นพรรคเดียวที่ถ้าจัดสรร ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ให้เพิ่ม จะไม่ทำให้จำนวน ส.ส. รวมของพรรคเกินจำนวน ส.ส. พึงมีที่คำนวณได้ตอนต้น

ผลลัพธ์สุดท้าย ออกมาตามคอลัมน์ N ขอให้สังเกตว่ามีเพียง 14 พรรคการเมืองเท่านั้นที่ได้รับการจัดสรร ส.ส. บัญชีรายชื่อ เช่นเดียวกับสูตรของอดีต กกต. โคทม อารียา แต่ว่ารายละเอียดจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคจะได้รับนั้นแตกต่างกันเล็กน้อย

.

บทความโดย กฤดิกร เผดิมเกื้อกูลพงศ์

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า