SHARE

คัดลอกแล้ว

workpoint

 

Vieng Joom On Teahouse คือร้านน้ำชาที่โดดเด่นแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ สาขาแรกตั้งอยู่ริมแม่น้ำปิง เปิดดำเนินการเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีทั้งจากกลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบการดื่มชาเป็นชีวิตจิตใจ กลุ่มลูกค้าทั่วไป รวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยว ก่อนขยายสาขาขึ้นห้างฯ และเคยเข้ามาเปิดแฟรนไชส์ที่กรุงเทพฯ 

ปัจจุบันบริหารโดย เขมภัทร์ เชื้อรัตนพงษ์ ที่รับช่วงต่อจากคุณแม่ พญ.จุรีย์ เชื้อรัตนพงษ์ ภายใต้คอนเซ็ปต์ที่ว่า “ไม่ละเลยอดีต และไม่ปฏิเสธยุคสมัยที่แปรเปลี่ยนไป” ทำให้ร้านน้ำชาแห่งนี้มีเอกลักษณ์เฉพาะ ทั้งในแง่ของผลิตภัณฑ์ รสชาติของชา รูปแบบการตกแต่ง แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีความหลากหลายเข้ามาผสมผสาน ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง

ทั้งๆ ที่จะว่าไปแล้ว เอกลักษณ์กับความหลากหลาย คือขั้วตรงข้ามที่ไม่น่าจะอยู่ร่วมกันได้ ถ้าเปรียบเป็นเครื่องดื่มสักแก้ว ก็ยากที่จะลงตัว ยกเว้นว่าผู้นั้นจะเข้าใจในสิ่งที่ตัวเองกำลังชงอย่างถ่องแท้ จึงสามารถประยุกต์ สร้างสรรค์ จนก่อทำให้เกิดเครื่องดื่มรสชาติกลมกล่อมขึ้นมาได้

บอกไว้ก่อนเนิ่นๆ ว่า บทความนี้ไม่ได้ลงรายละเอียดเกี่ยวกับตัวผลิตภัณฑ์มากนัก แต่จะเน้นไปที่การดำเนินธุรกิจของเขมภัทร์ ผู้บริหารในปัจจุบัน โดยเฉพาะในเรื่องเอกลักษณ์กับความหลากหลายของเวียงจูมออนฯ ว่าเขามีวิธีคิด และวิธีชงอย่างไร

เอาเป็นว่า เรามาจิบชาแก้วนี้ไปพร้อมๆ กันเลย   

 

workpoint

 

เวียงจูมออน นครสีชมพู

เขมภัทร์เริ่มต้นด้วยการบอกเล่าความหมายของชื่อร้านว่า ‘เวียงจูมออน’ เป็นภาษาเหนือ ‘เวียง’แปลว่า ‘นคร’ส่วน ‘จูมออน’ แปลว่า ‘สีชมพู’ รวมกันก็คือ ‘นครสีชมพู’ที่ได้กลายมาเป็นคอนเซ็ปต์ในการตกแต่งร้านสาขาแรกที่ริมแม่น้ำปิง ใกล้วัดเกตการาม จ.เชียงใหม่

โดยที่มาของแรงบันดาลใจเกิดจาก พญ.จุรีย์ ผู้ก่อตั้ง ซึ่งเป็นคุณแม่ของเขมภัทร์ ได้มีโอกาสไปเที่ยวเมืองชัยปุระ ประเทศอินเดีย แล้วประทับใจสถาปัตยกรรมของพระราชวัง และบ้านเรือนต่างๆ ที่ทาด้วยสีชมพู ประกอบกับผู้ก่อตั้งมีความผูกพันกับบรรยากาศล้อมวงดื่มน้ำชาของครอบครัวในสมัยที่ตนเองยังเด็ก จึงเป็นที่มาของนครสีชมพู หรือเวียงจูมออน ทีเฮ้าส์ ในเวลาต่อมา

“ตอนที่เปิดร้านใหม่ๆ ผมยังเรียนมหาวิทยาลัยอยู่ แต่ก็เข้าไปที่ร้านบ่อยๆ ทำให้ซึมซับบรรยากาศและเรื่องของชา และผมก็เป็นคนที่ชอบดื่มชาอยู่แล้ว เพราะช่วงเรียนไฮสคูลที่อังกฤษ ที่นั่นจะมีวัฒนธรรมการดื่มชาช่วงบ่าย พอเรียนจบกลับมาคุณแม่ก็ถ่ายทอดประสบการณ์ การบริหาร การดำเนินธุรกิจด้านนี้ให้” เขมภัทร์กล่าว โดยเขาบอกว่าเข้ามารับช่วงดูแลธุรกิจนี้อย่างเต็มตัวเป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว

 

workpoint

 

ธุรกิจที่มีสตอรี่

เขมภัทร์บอกว่า เสน่ห์ของร้านเวียงจูมออนฯ ก็คือ เป็นธุรกิจที่มีสตอรี่ (story) มีเรื่องราวความเป็นมา ที่เกิดขึ้นจากความรักและความผูกพันของคุณแม่ ที่ชื่นชอบรสชาติและประทับใจบรรยากาศล้อมรอบจิบชาในวัยเด็ก ระหว่างนั้นก็จะได้ฟังเรื่องเล่าต่างๆ จากผู้ใหญ่ ตามที่ได้กล่าวไปแล้วก่อนหน้านั้น และเมื่อคุณแม่ของเขมภัทร์ได้เปิดร้านแห่งนี้ขึ้น จึงนำความรู้สึกประทับใจถ่ายทอดผ่านเครื่องดื่ม บรรยากาศ การตกแต่ง ที่ดึงดูดทั้งคอชาทั้งในระดับแฟนพันธุ์แท้ ลูกค้าทั่วไป และนักท่องเที่ยว ให้เข้ามาใช้บริการ

และด้วยโลเคชั่นที่สวยงามในแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง ทำให้ร้านแห่งนี้มีลูกค้าหลักเป็นนักท่องเที่ยวในสัดส่วน 70-80 % เลยเชียว

“ชาไม่ใช่แค่เครื่องดื่ม แต่มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน เกิดก่อนกาแฟด้วยซ้ำ เมื่อผมได้สัมผัสเครื่องดื่มประเภทนี้และวัฒนธรรมของชนชาติต่างๆ ก็รู้สึกอยากจะส่งต่อเรื่องราวเหล่านี้ จึงเป็นที่มาของการรวบรวมชาทั่วทุกมุมโลกจากแหล่งปลูกที่มีชื่อเสียง ทั้งอินเดีย จีน แอฟฟริกาใต้ และที่ศรีลังกา ฯลฯ” เขมภัทร์กล่าว

ราคาเครื่องดื่มของที่นี่ เริ่มต้นที่แก้วละ 95 บาท ส่วนชาร้อน (สำหรับดื่มท่านเดียว) อยู่ที่กาละ 150 บาท และกาละ 190-230 บาท (สำหรับดื่ม 2 ท่านขึ้นไป) สำหรับผู้ดื่มที่ต้องการซื้อหาไปชงเอง ก็มีใบชาให้เลือกกว่า 50 ชนิด อาทิ Vieng  Joom on Tea ชาดำที่หอมกลิ่นเครื่องเทศและพลัม , 1001 Arabian night ชาเขียว ชาดำ และชาดอกไม้หลากหลายชนิด , Madame Butterfly ชาเขียวหอมกลิ่มลูกพีช และ Love tea ชาดำมีรสมิ้นต์จางๆ เป็นต้น

นอกจากนั้นก็มีขนมต่างๆ ที่เหมาะกับการทานแกล้ม และอาหารมังสาวิรัติเพื่อสุขภาพ รวมถึงชาเย็นหลากหลายรสชาติ เพื่อรองรับลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ

 

workpoint

 

ไม่ละเลยอดีต และไม่ปฏิเสธยุคสมัยที่แปรเปลี่ยนไป

ปฏิเสธไม่ได้ว่า โลกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก รูปแบบหรือโมเดลธุรกิจที่เคยประสบความสำเร็จในอดีต อาจใช้ในวันนี้ไม่ได้ผล ประกอบกับเศรษฐกิจภายในประเทศอยู่ในภาวะย่ำแย่ การยืนหยัดอย่างมั่นคง จึงเป็นโจทย์มหาหิน ที่ผู้ประกอบการต้องหาคำตอบให้ได้

ในส่วนของ เวียงจูมออนฯ นั้น เขมภัทร์ก็ยอมรับว่า ได้รับผลกระทบเช่นกัน แต่ด้วยคอนเซ็ปต์ของร้านที่ว่า “ไม่ละเลยอดีต และไม่ปฏิเสธยุคสมัยที่แปรเปลี่ยนไป” ทำให้เขามีแนวทางการบริหารที่ชัดเจน รู้ว่าอะไรคือแก่น ที่ต้องรักษา แล้วอะไรคือรายละเอียด ที่สามารถปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มเติมได้

“คอนเซ็ปต์ของร้านเวียงจูมออนฯ ที่เราใช้มาตลอด 10 ปี ก็คือ ‘ไม่ละเลยอดีต และไม่ปฏิเสธยุคสมัยที่แปรเปลี่ยนไป’ เราจะดูว่าสถานการณ์ทั้งในและนอกประเทศว่าเป็นอย่างไร สังเกตพฤติกรรมของผู้บริโภค ทำให้มีอะไรใหม่ๆ ออกมาตลอด ทั้งเมนูใหม่ เครื่องดื่มชนิดใหม่ แต่เราจะไม่นำกาแฟเข้ามา (เด็ดขาด) เพราะกลิ่นแรง แล้วใบชามีคุณสมบัติในเรื่องการดูดกลิ่น ซึ่งถ้าดูดกลิ่นกาแฟเข้าไปนี่ จะทำให้บรรยากาศในการดื่มชาจางลง

“และในช่วงนี้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ คนเริ่มใช้จ่ายน้อยลง ทางร้านก็จะมีการทำโปรโมชั่นเช่นกัน แต่เราต้องทำให้ถูกเวลา ถูกกลุ่มเป้าหมาย โดยสาขาที่ 2 (เซ็นทรัล เฟสติวัล เชียงใหม่) จะเป็นร้านในธีม glass & goเพื่อเจาะกลุ่มผู้บริโภควัยรุ่น หรือกลุ่มลูกค้าในห้างสรรพสินค้า” เขมภัทร์กล่าว

 

workpoint

 

การขยายธุรกิจ

ธุรกิจร้านเครื่องดื่มแม้จะมีการแข่งขันที่ดุเดือด แต่ถ้าแบรนด์ติดตลาด ก็เสมือนเป็นแต้มต่อในการขยับขยายหรือสร้างโอกาสทางธุรกิจให้เติบโตยิ่งขึ้นไปอีก และเมื่อเวียงจูมออนฯ สาขาแรกประสบความสำเร็จ ก็มีการเปิดสาขาที่ 2 ที่ห้างฯ เซ็นทรัล เฟสติวัล เชียงใหม่

“กลุ่มลูกค้าระหว่างสาขาแรกที่ริมแม่น้ำปิง กับสาขาที่ 2 (ห้างฯ เซ็นทรัล เฟสติวัล) ไม่เหมือนกันเลยครับ แตกต่างกันอย่างชัดเจน คนที่มาใช้บริการที่สาขาในห้าง คือ คนเชียงใหม่เลย (คนท้องถิ่น) และวัยรุ่น” เขมภัทร์กล่าว

ในขณะที่สาขาแรก ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยว ตามที่เขมภัทร์ได้บอกไว้ก่อนหน้านั้น ทำให้ต้องมีการพลิกแพลงกลยุทธ์ เพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้าในห้างฯ ให้อยู่หมัด เพราะวิธีที่ใช้แล้วประสบความสำเร็จในสาขาแรก อาจใช้ไม่ได้ในสาขาที่สอง เมื่อสถานที่ตั้ง และกลุ่มลูกค้าเปลี่ยนไป

หรือถ้ากล่าวเเบบกว้างๆ เมื่อกลุ่มลูกค้ามีความหลากหลายยิ่งกว่า กลยุทธ์ที่เขาเลือกใช้จึงต้องหลากหลายยิ่งขึ้น ด้วยการคิดค้นชาสูตรใหม่ๆ และเพิ่มเมนูอาหาร ให้สอดคล้องกับกระแสรักสุขภาพที่กำลังมาแรง ฯลฯ ทำให้สาขาที่ 2 ได้รับการตอบรับที่ดี ด้วยวิธีคิด วิธีการดำเนินงานที่แตกต่างๆ จากสาขาแรก ก่อนที่จะนำแบรนด์นี้เข้ามายังกรุงเทพฯ ในเวลาต่อมา

 

workpoint

 

เปิดสาขาที่กรุเทพฯ

เวียงจูมออนได้ขยับขยายมายังกรุงเทพฯ ที่สุขุมวิท ซอย 24 และห้างฯ เซ็นทรัลเวิลด์ ย่านราชประสงค์ โดยเขมภัทร์บอกว่า เป็นการขยายสาขาในรูปแบบแฟรนไชส์ โดยผู้ซื้อแฟรนไซส์ได้เริ่มต้นด้วยการเปิดสาขาที่สุขุมวิท ซอย 24 แล้วก็ย้ายมาเปิดที่ห้างฯ เซ็นทรัลเวิลด์ ตามลำดับ ก่อนจะปิดตัวลงเมื่อประมาณต้นปี 58

ซึ่งถ้ามองแบบเผินๆ กรณีนี้ก็คล้ายๆ กับร้านดังหลายๆ เจ้า ที่ประสบความสำเร็จในพื้นที่ดั้งเดิมของตัวเอง แต่เมื่อมีการขยับขยายออกนอกพื้นที่ ผลตอบรับกลับผิดคาด

แต่เขมภัทร์แจกแจงว่า ในความเป็นจริง มันมีเหตุปัจจัยต่างๆ มากมาย ทั้งในแง่ของจังหวะ ที่สถานการณ์ภายในประเทศไม่เอื้อกับธุรกิจเครื่องดื่มที่มีจุดขายด้านสุนทรียะ สถานที่ตั้งร้าน ฯลฯ ที่ต่อมาเขาก็ได้วิเคราะห์ ศึกษามาเป็นอย่างดี และได้วางแผนไว้ว่า จะกลับมาเปิดสาขาที่กรุงเทพอีกในเร็วๆ นี้

“มันก็มีหลายเหตุปัจจัย ช่วงนั้นที่เซ็นทรัลเวิลด์โดนปิด (ปี 56-57) ทั้งๆ ที่ตอนแรกยอดขายดี แต่พอเกิดเหตุการณ์ขึ้น (การชุมนุมประท้วงที่แยกราชประสงค์) ยอดขายก็ลดลงมาเรื่อยๆ คือโดนในส่วนนี้ค่อนข้างหนัก ซึ่งกลุ่มลูกค้าที่กรุงเทพฯ รู้จักเวียงจูมออนเยอะนะครับ เพราะผมไปเปิดบูธอยู่บ่อยๆ และมีการวางแผนเปิดสาขาที่กรุงเทพอีก แต่คราวนี้จะเปิดเองก่อน เพื่อเป็นโมเดลให้กับผู้ที่สนใจซื้อแฟรนไชส์นำไปดำเนินการต่อ” 

 

workpoint

 

ความสำเร็จ ของเวียงจุมออนฯ

แม้การดำเนินธุรกิจร้านน้ำชาในกรุงเทพฯ จะต้องสะดุดด้วยเหตุปัจจัยที่เขมภัทร์ได้แจกแจงไว้ข้างต้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เวียงจูมออนฯ เป็นธุรกิจร้านน้ำชาที่แบรนด์มีความแข็งแรง ได้รับการยอมรับจากคอชาขนานแท้ และลูกค้าทั่วไป จึงเป็นอีกหนึ่งโมเดลความสำเร็จที่น่าสนใจ

โดยความสำเร็จของเวียงจูมออนฯ เขมภัทร์วิเคราะห์ว่า อันดับแรกเลยก็คือ คอนเซ็ปต์ที่ชัดเจน ที่รู้ว่าตัวเองทำธุรกิจอะไรอยู่ โดยเขาตระหนักว่า สิ่งที่ทำไม่ใช่แค่การขายน้ำชา ฉะนั้นนอกจากชารสเลิศที่มีให้เลือกให้ลิ้มลองมากมายแล้ว บรรยากาศยังถือว่าเป็นอีกส่วนผสมสำคัญ ที่จะทำให้ประสบการณ์ในการดื่มชาครั้งนั้นประทับใจยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จากการตกแต่งร้านที่พิถีพิถัน มีเอกลักษณ์ ที่เมื่อเอ่ยถึงเวียงจูมออนฯ นอกจากจะนึกถึงรสชาติและกลิ่นหอมๆ ของชาแล้ว โทนสีหวานๆ คลาสสิก และอบอุ่น ก็จะผุดขึ้นมาในความทรงจำของผู้ที่เคยมาเยือน

อันดับต่อมาก็คือเรื่องการบริการ ซึ่งการที่เวียงจูมออนฯ ได้รับประกาศนียบัตรความเป็นเลิศด้านนี้ จากเว็บไซต์ท่องเที่ยวทริปแอดไวเซอร์ (Tripadvisor) ประจำปี 2557 ก็การันตีได้ถึงมาตรฐานด้านการบริการได้เป็นอย่างดี ส่วนอันดับสุดท้ายก็คือ การพยายามสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับคอนเซ็ปต์

“เราทำอะไรใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ทั้งเมนู เครื่องดื่ม หรือปรับปรุงร้าน แต่ยังคงคอนเซ็ปต์ของร้านอยู่ เพราะคนสมัยนี้เขามีช้อยส์ให้เลือกเยอะ เฉพาะที่เชียงใหม่ก็มีร้านใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะมาก” เขมภัทร์กล่าว

 

workpoint

 

ข้อคิดปิดท้าย

จากการที่ผู้สัมภาษณ์ได้คุยกับผู้บริหารเวียงจูมออนฯ ก็ได้รับข้อคิดดีๆ มากมาย จึงขอนำมาแบ่งปันดังนี้

อันดับแรกเลยก็คือ การรู้จักธุรกิจตัวเองอย่างถ่องแท้ ในเรื่องนี้เวียงจูมออนฯ สาขาแรก มีความชัดเจนมากว่า จะเป็นร้านน้ำชาขนานแท้ ที่ให้บริการชาคุณภาพจากทั่วทุกมุมโลก ทำให้ผู้เข้ามาใช้บริการรู้สึกเต็มอิ่ม

และเมื่อรู้จริงแล้ว ก็สามารถผสมใบชา (Blend) เพื่อให้เกิดสูตรใหม่ๆ ขึ้นมาได้อย่างมากมาย โดยในส่วนนี้เขมภัทร์เล่าว่า ทางร้านได้กำหนดสูตรแล้วว่าจ้างโรงงานผลิตที่ยุโรปให้เบลนด์ชาต่างๆ ขึ้น เพื่อให้เป็นสูตรเฉพาะของเวียงจูมออนฯ เลยทีเดียว

สิ่งต่อมาที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ บรรยากาศ เพราะถือว่าเป็นรสชาติทางความรู้สึก และทางร้านก็ให้สำคัญเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นโลเคชั่นที่เหมาะสม ริมแม่น้ำปิง รวมถึงการตกแต่งร้านที่พิถีพิถัน อบอุ่น ละมุนละไม ทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจ จนกลายเป็นร้านน้ำชาขึ้นชื่อของเมืองเชียงใหม่ในเวลาอันรวดเร็ว โดยทั้งอันดับที่ 1 และ 2 ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของเวียงจูมออนเลย

อันดับต่อมาก็คือ ความหลากหลายที่อยู่บนพื้นฐานของคอนเซ็ปต์ที่แข็งแรง ถึงแม้จะมีการสร้างสรรค์สูตรชาใหม่ๆ ขึ้นมา แต่ก็ไม่ทำลายเอกลักษณ์ของทางร้าน ในทั้งตรงกันข้าม กลับส่งเสริมให้โดดเด่นยิ่งขึ้น อีกทั้งมีการคิดค้นสูตรชาเย็นมากมาย เพื่อรองรับกลุ่มผู้ดื่มทั่วไป ทำให้เกิดกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง

แต่อะไรที่ไม่ ก็คือไม่ ยกตัวอย่างในเรื่องของกาแฟ ที่เขมภัทร์บอกว่าจะไม่นำเข้ามาอย่างเด็ดขาด ดังเหตุผลที่เขาให้ไว้ข้างต้น และอีกเหตุผลหนึ่ง (ถ้าไม่นับเรื่องกลิ่น) ที่ผู้สัมภาษณ์คิดว่าน่าจะมีอีกส่วนสำคัญนั่นก็คือ มันจะทำให้คอนเซ็ปต์ร้านนน้ำชาแกว่ง ฉะนั้นการเลือกอะไร หรือปฏิเสธอะไร จึงมีความสำคัญยิ่ง แม้มองเผินๆ กลุ่มลูกค้าน่าจะใกล้เคียงกัน แต่ถ้ามันทำให้คอนเซ็ปต์ของกิจการจางลง การหลีกเลี่ยงจึงเป็นหนทางที่ดีที่สุด

 

workpoint

 

อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้สัมภาษณ์เห็นว่า มีความสำคัญเป็นอย่างมาก และถือว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน ก็คือทำเลที่ตั้ง ที่ในปัจจุบันร้านอาหารร้านเครื่องดื่มส่วนใหญ่นิยมเปิดในห้างสรรพสินค้า เนื่องจากไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคไปทางนั้น

แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงนั่นก็คือ คนที่ไปห้างฯ มักตั้งใจทำกิจกรรมมากกว่า 1 อย่าง เช่น กินข้าวเสร็จ ก็แวะไปชมภาพยนตร์ หรือชอปปิงต่อ จึงใช้เวลาดื่มด่ำเครื่องดื่ม และบรรยากาศภายในร้านนั้นๆ ไม่นาน สไตล์ของร้านในลักษณะเจาะกลุ่มลูกค้าสโลว์ไลฟ์ หรืออ้อยอิ่ง จึงอาจไม่เหมาะกับกลุ่มลูกค้าที่เดินในห้างฯ นัก

โดยเวียงจูมออนฯ สาขาที่ 2 ที่เซ็นทรัลเฟซติวัล เชียงใหม่ ก็ได้มีการประยุกต์และปรับเปลี่ยนไปในธีม glass & go ที่เข้าใจไลฟ์สไตล์ของลูกค้ากลุ่มที่เดินห้างฯ ว่า มักใช้เวลาในร้านเครื่องดื่มเพียงช่วงสั้นๆ ส่วนใหญ่จะนิยมซื้อแล้วเดินดื่มไปด้วยเลย จึงปรับแนวทางให้สอดคล้อง และก็ประสบความสำเร็จในที่สุด

แต่ถ้าเป็นพื้นที่นอกห้างฯ หากอยู่ในแห่งท่องเที่ยว ร้านในสไตล์สโลว์ไลฟ์น่าจะตอบโจทย์ตรงนี้ได้ดีกว่า หรือถ้าจะเปิดร้านเครื่องดื่มในแหล่งชุมชนทั่วไป ซึ่งในปัจจุบันคนเรามีโลกส่วนตัวค่อนข้างสูง สามารถอยู่คนเดียวได้ทั้งวันโดยการนั่งเล่นโซเชียล หากเจอร้านที่บรรยายกาศเอื้อ โอกาสที่เขาจะแวะเวียนมาใช้บริการบ่อยๆ หรือเป็นลูกค้าประจำ ก็มีสูงยิ่งขึ้น

 

workpoint

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า