ผู้บริหาร “แอร์พอร์ต เรล ลิงก์” ชี้แจงราวกั้นสเตนเลสส์ คุ้มค่า คล้ายรถไฟชินคันเซ็น
วันที่ 19 ต.ค. นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เปิดเผยว่า จากกรณีสื่อโซเชี่ยลเผยแพร่ภาพการติดตั้งราวกั้นสเตนเลสส์บนชั้นชานชาลาของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากประชาชน และผู้โดยสารที่ใช้บริการ จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความคุ้มค่าและปลอดภัยกับงบประมาณนั้น บริษัทขอชี้แจงรายละเอียดการดำเนินงานดังกล่าวว่า
ก่อนหน้านี้ รฟฟท. มีแผนจะดำเนินการติดตั้งระบบประตูกั้นชานชาลาแบบสูงครึ่งบาน ( Platform Screen Door : PSD ) ใน 7 สถานี งบประมาณ 200 ล้านบาท ( ยกเว้นสถานีสุวรรณภูมิ ) โดยทำการประมูลติดตั้งประตูกั้นชานชาลา แต่ต้องยกเลิก เนื่องจากมีผู้ผ่านประมูลรายเดียว ประกอบกับมีโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ซึ่งจะได้ผู้ชนะการประมูลภายในสิ้นปี และรูปแบบสถานีของแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ จะต้องเปลี่ยนไปรองรับโครงการดังกล่าว ซึ่งมีขนาดความกว้างของตัวรถไฟฟ้ามากกว่า
ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารในช่วงระหว่างเปลี่ยนผ่านสู่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และเป็นการประหยัดงบประมาณแผ่นดิน บริษัทจึงปรับรูปแบบการดำเนินงานเป็นการติดตั้งราวกั้นชานชาลา หรือราวกั้นแบบราวสเตนเลสส์ คล้ายรถไฟชินคันเซ็นของประเทศญี่ปุ่น และสถานีรถไฟฟ้าอื่นๆ ในต่างประเทศ แต่ได้ปรับปรุงรูปแบบให้เหมาะสมกับสถานี ยืนยันตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน
นายสุเทพ ระบุด้วยว่า ราวกั้นสเตนเลสส์บนชั้นชานชาลาทั้ง 7 สถานี ลาดกระบัง-พญาไท จะเสร็จในเดือนปี 2562 พร้อมยืนยันทุกความเห็นของประชาชนที่ส่งเข้ามาได้ดูทั้งหมด เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขให้การบริการของแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ดีขึ้น
https://www.facebook.com/MyLoveARL/posts/894148804110018
ขอบคุณภาพปก FB : AirportLinkที่รัก