SHARE

คัดลอกแล้ว

รัฐบาลเร่งช่วยเหลือร้านโชห่วย แนะ 3 วิธี ปรับภาพลักษณ์ ใช้โมเดลโย๋ เล่อ และร่วมโครงการโชห่วยออนไลน์ ยกตัวอย่างโชห่วยร้านบิ๊กเต้ ปรับตัวเข้ากับยุคสมัย

วันที่ 15 ธ.ค. 2561 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ค่ำวันที่ 14 ธ.ค.ที่ผ่านมา สรุปสาระสำคัญคือ นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ – หนองคาย และเป็นประธานประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ณ จ.หนองคาย ซึ่งเป็นกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ที่เรียกว่าว่า “เกษตรอุตสาหกรรมชั้นนำ การค้าและการท่องเที่ยวสากล ชุมชนน่าอยู่อย่างยั่งยืน” ที่มีจุดเน้นการพัฒนา ได้แก่ (1) การเป็นประตูเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน (2) แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวิถีชีวิตลุ่มน้ำโขง และ (3) การเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน

จังหวัดบึงกาฬมีโครงการตัวอย่างที่น่าสนใจ ได้แก่ 1. โครงการบูรณาการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เพื่อดูแลประชาชน 2. การพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพารา เนื่องจากบึงกาฬเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกยางพาราราว 850,000 ไร่ มากเป็นอันดับ 1 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นพืชเศรษฐกิจหลัก จึงมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพารา และขับเคลื่อนเพื่อเป็นศูนย์กลางยางพาราในด้านต่างๆ นอกจากนี้ พร้อมยังเป็นศูนย์กลางการส่งออกยางพารา ซึ่งผลผลิตยางพาราจะส่งออกไปตลาดต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ผ่านทางท่าเรือแหลมฉบังและประเทศจีนตอนใต้

สำหรับจังหวัดหนองคายมีโครงการที่น่าสนใจ ได้แก่ 1. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจากระบบประปา 2. การพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น หรือ OTOP และ 3. การส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขง หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ตำบลบ้านเดื่อ อำเภอเมืองหนองคาย ไม่ใช่เพียงการติดตามการดำเนินงานของข้าราชการ และกลไกประชารัฐในพื้นที่เท่านั้น แต่นายกฯ ยังคิดว่าเมื่อได้ร่วมกับประชาชนปลูกต้นไม้ – ปลูกป่าแล้ว คงต้องลงไปช่วยรดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย เพื่อดูแลให้ต้นไม้ของเรา เติบโต งดงาม และผลิดอกออกผลที่สมบูรณ์ด้วย และทุกคนต้องมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ เพราะทุกคนเป็นเจ้าของประเทศ ถ้าเราไม่ดูแลชุมชนของเรา บ้านเมืองของเรา หรือถ้ารัฐจะทำอะไรไม่ไถ่ถามประชาชน ไม่ใส่ความต้องการของประชาชน ก็คงจะยากที่ถึงจุดหมาย คือ “มั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืน” แต่ต้องเคารพในกฎหมาย กฎกติกา ต่าง ๆ ด้วย เพราะทุกคนเป็นเจ้าของประเทศต้องช่วยกันดูแลชุมชนและบ้านเมืองของเรา เพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืน

นายกรัฐมนตรี กล่าวชื่นชมผลงานชาวอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ที่ได้มีการรวมกลุ่มนักพัฒนาชุมชน ศึกษากรณีในประเทศอินเดีย ที่ใช้ภาชนะที่ผลิตมาจากกาบหมากแทนการใช้กล่องโฟม ซึ่งสามารถใช้แล้วล้างนำกลับมาใช้ซ้ำได้ 9 -10 ครั้ง โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากผู้ว่าราชการจังหวัดเลย โดยมีการระดมทุนจากนักธุรกิจในจังหวัดเลย สั่งซื้อเครื่องปั๊มมาจากประเทศอินเดีย สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างงานให้ชุมชน รวมทั้งช่วยลดขยะและดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันด้วย ตามแนวทางพลังงานประชารัฐที่สร้างสรรค์

ในส่วนของการเติบโตของเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การขยายตัวและการพัฒนาของธุรกิจการค้าต่าง ๆ ทำให้เกิดร้านค้าสมัยใหม่และห้างร้านขนาดใหญ่ขึ้นมากมาย ส่งผลต่อการค้าขายของร้านค้าเล็กๆ หรือโชห่วย ซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางของชุมชน ปัจจุบันมีร้านค้าโชห่วย ประมาณ 370,000 ร้านค้า ซึ่งหลายร้านต้องเผชิญกับความท้าทายในการทำมาค้าขาย ทั้งการเพิ่มขึ้นของร้านค้าสมัยใหม่ ต้นทุนที่สูงขึ้น ความสามารถทางการแข่งขันน้อยกว่าร้านค้าปลีกสมัยใหม่ที่ดึงดูดลูกค้า และมีสินค้าที่ครบ ภาครัฐจึงได้หาแนวทางในการช่วยเหลือสนับสนุน คือ

1. โครงการปรับภาพลักษณ์ร้านค้า ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมกับผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ ลงพื้นที่ทั่วประเทศไปยังชุมชนต่าง ๆ เพื่อจะช่วยปรับภาพลักษณ์ “ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ” และ “ร้านโชห่วย” ให้มีการจัดร้านในรูปแบบ “5 ส” คือ สวย –สว่าง –สะอาด–สะดวก –สบาย ปัจจุบันได้ดำเนินการไปแล้วทั้งสิ้น 4,500 ร้านค้า จากเป้าหมาย 10,000 ร้านค้าทั่วประเทศ แต่ก็ยังมีเหลืออีกมาก หากโครงการนี้ยังไปไม่ถึงพื้นที่ของท่าน ในระหว่างนี้ ขอแนะนำให้ลองปรับร้านค้าของท่านในรูปแบบ “5 ส” ในเบื้องต้นด้วยตนเองก่อน โดยเฉพาะความสะอาด สว่าง จัดวางของให้สวยงาม หยิบได้สะดวก

2. การนำโมเดล “โย๋ เล่อ” (Ule Model) ของจีนมาใช้ในการพัฒนาร้านค้า โดยเป็นการช่วยเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้กับร้านค้าเล็กๆ ในชนบท มีความร่วมมือกับไปรษณีย์ของจีน เปิดเป็นแพลตฟอร์มการค้าอิเล็กทรอนิกส์ในร้านค้า ให้ร้านค้าในชนบทและทั่วประเทศเข้าไปจำหน่ายสินค้าขายแบบออนไลน์ นอกจากจะมีสินค้าอุปโภค-บริโภคทั่วไปแล้ว ยังมีสินค้าเกษตร เช่น ผัก ผลไม้ หรือของดี ของเด่นของชุมชน เช่น สินค้าหัตถกรรม โอทอป ซึ่งในท้องถิ่นอื่น อาจไม่มีหรือหาได้ยาก โดยร้านโชห่วยที่เข้าร่วม ก็จะต้องสแกนรหัสสินค้าทุกชนิด ตั้งแต่เครื่องดื่ม ไปจนถึงผัก ผลไม้ต่าง ๆ เข้าไปในระบบ ทำให้ในแพลตฟอร์มมีสินค้าให้เลือกหลากหลาย ผู้ซื้อในทุกพื้นที่ทั่วประเทศสามารถสั่งซื้อสินค้าได้ทันที ซึ่งร้านค้าที่อยู่ในชุมชนสามารถนำไปส่งให้ถึงที่ หรือหากอยู่ไกลจากแหล่งสินค้า ก็สามารถให้ไปรษณีย์จัดส่งสินค้าให้ได้ ทำให้ร้านโชห่วยกลายสภาพเป็นห้างใหญ่ในโลกดิจิทัล หรือเป็น “โชห่วย 4.0” ที่สามารถขายสินค้าทุกชนิดที่ต้องการขายได้ โดยไม่ต้องสต๊อกสินค้าไว้จำนวนมาก ซึ่งโมเดลนี้ จะลองนำมาปรับใช้กับร้านโชห่วยของไทย เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น โดยบริษัทที่อยู่เบื้องหลังการให้บริการ “แพลตฟอร์มโย๋เล่อ” นี้ จะส่งทีมมาให้คำแนะนำกับไทยในช่วงต้นปี 2562 นี้ด้วย เพื่อให้สามารถดำเนินการได้เร็วขึ้น

3. โครงการโชห่วยออนไลน์ เป็นแนวคิดในการพัฒนาช่องทางการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ระหว่างธุรกิจด้วยกันเอง ผ่านแอพพลิเคชั่นหรือเว็บไซต์ มาทำเป็นแพลตฟอร์มในการสั่งซื้อสินค้าจากร้านโชห่วยไปยังผู้ผลิตสินค้าโดยตรง ซึ่งการดำเนินการนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ประกอบด้วยบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด, กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ธนาคารออมสิน, ธ.ก.ส. และภาคเอกชนผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชน โดยในการดำเนินงาน บริษัทไปรษณีย์ไทยฯ จะพัฒนาช่องทางในการรับคำสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ และการบริหารสต๊อก สินค้า และคำสั่งซื้อสินค้า รวมถึงการบริหารจัดการด้านการขนส่ง โดยกระทรวงพาณิชย์จะเจรจากับผู้ผลิตสินค้าในเรื่องราคา และคัดเลือกร้านค้าโชห่วยที่มีศักยภาพเข้าร่วมโครงการ รวมถึงการเชื่อมโยงสินค้าชุมชนเพื่อกระจายสินค้าผ่านร้านโชห่วยในพื้นที่ต่าง ๆ อีกด้วย ในขณะที่ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. จะสนับสนุนด้านสินเชื่อการค้า หรือสินเชื่อในการสั่งซื้อสินค้าให้กับร้านค้าโชห่วยที่เข้าร่วมโครงการ การดำเนินโครงการนี้ จะทำให้ร้านค้าโชห่วย สามารถซื้อสินค้าจากผู้ผลิตได้ในราคาที่ถูกลง และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสินค้าชุมชน มีช่องทางในการจัดจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้น โดยจะเริ่มนำร่องใน 3 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินโครงการได้ในเดือน ม.ค. 2562

โครงการของภาครัฐทั้งหมดนี้ เป็นความพยายามที่จะนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาปรับใช้ภายใต้รูปแบบการดำเนินงานแบบประชารัฐ คือทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพื่อช่วยให้ร้านค้าโชห่วยสามารถปรับตัวในการทำธุรกิจและใช้จุดแข็งที่มีอยู่ ในการแข่งขันกับร้านค้าสมัยใหม่ได้ดีขึ้น ซึ่งการปรับตัวนี้ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพียงแค่ความช่วยเหลือจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว แต่เจ้าของร้านค้าก็จะต้องเร่งปรับตัวให้เท่าทัน ช่วยตัวเองไปด้วย

นายกฯ กล่าวว่า ขอยกตัวอย่างร้านโชห่วยที่ปรับตัวทำธุรกิจได้ต่อเนื่องเช่น ร้านบิ๊กเต้ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต ที่พยายามหาข้อมูลว่าลูกค้าที่เป็นนักศึกษาชอบสินค้าอะไร หรือปัจจุบันมีสินค้าอะไรที่น่าสนใจ แล้วหามาขายในร้าน นอกจากนี้ ยังรับฝากสินค้า ที่มีฝีมือจากนักศึกษาเพื่อสนับสนุนให้นักศึกษามีรายได้เสริม อีกทางหนึ่ง ก็จะได้ประโยชน์ร่วมกัน 2 ต่อ ก็ทำให้สามารถดึงดูดลูกค้าและสร้างลูกค้าประจำได้ หรือ “ร้านจีฉ่อย” แถวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีเอกลักษณ์ว่ามีสินค้าทุกชนิด หากที่ร้านไม่มีแต่ลูกค้ามาถามหา ก็จะวิ่งไปซื้อหามาให้ทันที โดยบวกราคานิดหน่อย ก็มีส่วนดึงดูด ให้ลูกค้ามาหาของที่ร้านนี้ก่อน อีกตัวอย่างก็คือ “ร้าน ล.เยาวราช” ที่ปรับปรุงใหม่ จากร้านที่มีสินค้าแน่นร้านแทบไม่มีทางเดิน ให้เป็นร้านโชห่วยที่สว่างไสว มีผนังสีทึบเพื่อให้สินค้าโดดเด่นออกมา ที่สำคัญ ก็คือการเปิดสม่ำเสมอทุกวัน เปิดเป็นเวลาแน่นอน เพื่อให้ลูกค้าสามารถมาซื้อหาของได้ รวมถึงความสะอาดของร้านด้วย ตัวอย่างเหล่านี้ อยากให้ได้เห็นเป็นข้อคิด ในการการปรับตัว

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า