Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ องค์การนิรโทษกรรมสากล ตัดสินใจถอดรางวัล “ทูตแห่งมโนธรรมสำนึก” ซึ่งเป็นรางวัลเกียรติยศด้านมนุษยชนสูงสุดของแอมเนสตี้ คืนจาก นางอองซาน ซูจี ผู้นำรัฐบาลเมียนมา จากกรณีที่ซูจี ไม่ยืนหยัดที่จะต่อสู้กับการใช้ความรุนแรงของกองทัพ ในการกวาดล้างชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญา ในรัฐยะไข่

วันนี้ (13 พ.ย.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ องค์การนิรโทษกรรมสากล ได้ประกาศเรียกคืนรางวัลสูงสุดที่เคยให้กับ นางอองซาน ซูจี ผู้นำรัฐบาลเมียนมา คือรางวัลทูตแห่งมโนธรรมสำนึก (Ambassador of Conscience Award) จากกรณีที่ซูจี ไม่ยืนหยัดที่จะต่อสู้กับการใช้ความรุนแรงของกองทัพ ในการกวาดล้างชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญา ในรัฐยะไข่

เมื่อวันที่ 11 พ.ย.61 นาย คูมี นายดู เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เขียนจดหมายถึงอองซานซูจี แจ้งให้ทราบว่าทางองค์การได้ยกเลิกรางวัลที่เคยมอบให้เมื่อปี 2552 คูมี แสดงความผิดหวังที่เธอไม่ได้ใช้อำนาจทางการเมืองและทางศีลธรรมที่มีอยู่เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม หรือความเท่าเทียมในเมียนมา โดยกล่าวถึงการที่เธอเพิกเฉยต่อการทารุณกรรมของกองทัพเมียนมา และการที่รัฐไม่อดทนอดกลั้นต่อการใช้เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นหลังจากที่เธอดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาแล้วครึ่งเทอม หรือ 8 ปี หลังจากได้รับการปล่อยตัวจากการถูกกักบริเวณภายในบ้าน

คูมีกล่าวไว้ในจดหมายตอนหนึ่งว่า

“ในฐานะทูตแห่งมโนธรรมสำนึก (Ambassador of Conscience Award) ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เราคาดหวังว่า อองซาน ซูจี จะยังคงใช้อำนาจทางศีลธรรมที่มีอยู่ เพื่อต่อต้านความอยุติธรรมทุกครั้งที่พบเห็น อย่างน้อยที่สุดภายในเมียนมา”

“ทุกวันนี้ เราผิดหวังอย่างยิ่งที่ท่านไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ของความหวัง ความกล้าหาญ และการยืนหยัดปกป้องสิทธิมนุษยชนอีกต่อไป แม้จะเสียใจเป็นอย่างยิ่ง แต่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลไม่อาจรับรองสถานะของท่านในฐานะทูตแห่งมโนธรรมสำนึกอีกต่อไป เราจึงขอถอนรางวัลนี้ที่เคยมอบให้กับท่าน”

  • สนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชน

นับแต่ อองซาน ซูจี ขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาลพลเรือนโดยพฤตินัยของเมียนมาเมื่อเดือนเมษายน 2559 รัฐบาลของเธอมีส่วนร่วมอย่างจริงจังต่อการปฏิบัติหรือสนับสนุนให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากมายหลายครั้ง

ที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้วิพากษ์วิจารณ์ อองซาน ซูจี และรัฐบาลของเธอหลายครั้ง เนื่องจากปฏิเสธที่จะพูดถึงปฏิบัติการที่ทารุณโหดร้ายของกองทัพเมียนมาต่อประชากรชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ซึ่งหลายปีที่ผ่านมา ชาวโรฮิงญาต้องดำรงชีวิตภายใต้ระบบที่มีการแบ่งแยก กีดกันและเลือกปฏิบัติ ระหว่างที่มีปฏิบัติการทางทหารอย่างรุนแรงต่อพวกเขา เมื่อปีที่แล้ว กองกำลังของเมียนมาได้เข่นฆ่าสังหารชาวโรฮิงญาหลายพันคน ข่มขืนผู้หญิงและเด็กผู้หญิง ควบคุมตัว ทรมานผู้ชายและเด็กผู้ชาย รวมถึงเผาทำลายบ้านเรือนอีกหลายร้อยหลัง ชาวโรฮิงญากว่า 720,000 คน ต้องหลบหนีไปยังบังกลาเทศ รายงานจากองค์การสหประชาชาติเรียกร้องให้มีการสอบสวนเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูง และดำเนินคดีในข้อหาอาชญากรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

แม้ว่ารัฐบาลพลเรือนไม่มีอำนาจควบคุมเหนือกองทัพ แต่ที่ผ่านมา อองซาน ซูจี และรัฐบาลของเธอได้ปกป้องกองทัพให้พ้นจากความรับผิดชอบ โดยทั้งปฏิเสธ เพิกเฉย หรือไม่ยอมรับข้อกล่าวหาว่าได้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งยังขัดขวางการสอบสวนของนานาชาติต่อการปฏิบัติมิชอบในครั้งนี้ รัฐบาลของเธอมีส่วนสำคัญในการสร้างความเกลียดชังต่อชาวโรฮิงญา โดยประณามว่าพวกเขาเป็น “ผู้ก่อการร้าย” กล่าวหาว่าพวกเขาเผาบ้านเรือนของตนเอง ทั้งยังประณามว่ามีการปล่อย “ข่าวการข่มขืนปลอม” ในเวลาเดียวกัน สื่อมวลชนของรัฐได้ตีพิมพ์เผยแพร่บทความในเชิงยั่วยุและลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ โดยกล่าวหาว่าชาวโรฮิงญาเป็น “เห็บมนุษย์ที่น่ารังเกียจ” และเป็น “เสี้ยนหนาม” ซึ่งต้องกำจัดให้หมดไป

คูมี กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่ อองซาน ซูจี ไม่ออกมาปกป้องชาวโรฮิงญา เป็นเหตุผลอย่างหนึ่งที่เราไม่สามารถยอมรับเธอในฐานะทูตแห่งมโนธรรมสำนึกได้อีกต่อไป

“การที่เธอปฏิเสธถึงระดับความรุนแรงของการกระทำดังกล่าว ถือเป็นการปิดกั้นโอกาสที่จะแก้ไขสถานการณ์เพื่อช่วยเหลือชาวโรฮิงญาหลายแสนคนซึ่งถูกทอดทิ้งอยู่ในบังกลาเทศหรืออีกหลายแสนคนซึ่งยังคงอยู่ในรัฐยะไข่ หากไม่มีการยอมรับว่าได้เกิดอาชญากรรมร้ายแรงต่อชุมชนเหล่านี้ เราย่อมไม่มีโอกาสเห็นรัฐบาลดำเนินการเพื่อปกป้องคุ้มครองพวกเขาจากความทารุณโหดร้ายในอนาคต”

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังเน้นให้เห็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในรัฐคะฉิ่นและตอนเหนือของรัฐฉาน ซึ่ง อองซาน ซูจี ล้มเหลวในการใช้อิทธิพลและอำนาจทางศีลธรรมเพื่อประณามการปฏิบัติมิชอบของกองทัพ รวมถึงการทำให้กองทัพรับผิดต่ออาชญากรรมสงคราม หรือเพื่อปกป้องพลเรือนชนกลุ่มน้อยที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง อีกทั้งรัฐบาลพลเรือนของเธอยังทำให้สถานการณ์แย่ลงโดยการใช้มาตรการจำกัดความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเข้มงวด ทำให้ความทุกข์ยากมากยิ่งขึ้นต่อประชาชนผู้พลัดถิ่นจากการสู้รบกว่า 100,000 คน

  • การปราบปรามเสรีภาพในการแสดงความเห็น

แม้กองทัพจะเป็นผู้ถืออำนาจแต่รัฐบาลที่นำโดยพลเรือนก็มีอำนาจหน้าที่มากพอที่จะปฏิรูปเพื่อให้เกิดการคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชนที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคมและการชุมนุมอย่างสงบ แต่สองปีหลังจากรัฐบาล อองซาน ซูจี บริหารประเทศ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรม และผู้สื่อข่าวได้ถูกจับกุมและคุมขัง ในขณะที่คนอื่นๆ ต้องเผชิญกับการข่มขู่ คุกคามและการใช้อิทธิพลกดดันในหน้าที่การงาน

รัฐบาล อองซาน ซูจี ไม่ได้ดำเนินการใดๆ เพื่อยกเลิกกฎหมายเผด็จการ รวมทั้งกฎหมายบางฉบับที่ได้เคยถูกใช้เพื่อควบคุมตัวเธอและบุคคลอื่นๆ ที่เรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในอดีต ในทางตรงข้าม เธอกลับแสดงความเห็นสนับสนุนการใช้กฎหมายเหล่านี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะการตัดสินใจดำเนินคดีและคุมขังผู้สื่อข่าวรอยเตอร์สองคน เนื่องจากการรายงานข้อมูลการสังหารหมู่โดยกองทัพเมียนมา

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ยกย่องอองซานซูจีในฐานะทูตแห่งมโนธรรมสำนึกเมื่อปี 2552 เนื่องจากการต่อสู้อย่างสงบและไม่ใช้ความรุนแรงของเธอเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน โดยในตอนนั้นเธอถูกกักบริเวณในบ้าน และต่อมาได้รับการปล่อยตัวจนครบรอบแปดปีในวันนี้ เมื่อเธอมารับรางวัลนี้ในปี 2556 อองซาน ซูจี ได้ร้องขอต่อแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า “อย่าได้ละสายตาหรือความคิดของท่านจากพวกเรา และโปรดช่วยเหลือให้เราเป็นประเทศที่ความหวังและประวัติศาสตร์เป็นหนึ่งด้วยกัน”

“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ยึดมั่นตามคำขอของ อองซาน ซูจี อย่างจริงจัง ดังนั้นเราจึงไม่เคยละสายตาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในเมียนมา”

“เราจะยังคงต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนในเมียนมาต่อไป ไม่ว่าจะด้วยความสนับสนุนของเธอหรือไม่ก็ตาม” คูมีกล่าวทิ้งท้าย

 

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก Amnesty InternationalAmnesty International Thailand

 

 

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า