https://youtube.com/watch?v=l2fZB-kLIKI
ชีวิตของเด็กที่ได้รับทุนคนหนึ่งที่ต้องเผชิญความยากลำบากหลังจากไม่ได้รับเงินจากกองทุนเสมาฯ
บ้านชั้นเดียว ปูนกึ่งไม้ สภาพเก่าโทรมแทบกันลมหนาวบนยอดเขาไม่ได้ เป็นที่อยู่ของ “กัญญาวีร์ แซ่ม้า ” เด็กสาวชาวม้ง หลังเธอจบการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 6 และตัดสินใจเดินหน้าทางการศึกษาต่อ แม้สถานะครอบครัวแทบไม่มีเงินใช้จ่าย บางครั้งมีเพียงข้าวเปล่าประทังชีวิต แต่ความหวังจากทุนกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ครอบครัวตัดสินใจ นำรายได้จากการขายผลผลิตทางเกษตรทั้งเดือนรวม 3,000 บาทไปซื้อหนังสือ 2,500 บาท และเธอต้องอ่านหนังสืออย่างหนักเพื่อคว้าโอกาสสุดท้ายนี้
ปี 2558 กัญญาวีร์ สอบผ่านได้รับทุนกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ศึกษาวิชาชีพพยาบาลในโควต้าโครงการตามรอยสมเด็จย่าฯ เธอตัดสินใจอย่างแน่วแน่ หอบเป้สะพายความหวัง มีเงินติดตัวไม่กี่ร้อยบาท เดินทางจาก บ้านปางแก ต.ทุ่งช้าง อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน กว่า 350 กิโลเมตร มุ่งหน้าไปวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครลำปาง จ.ลำปาง
ปีแรกของการเรียนพยาบาล กองทุนเสมาฯ โอนค่าใช้จ่ายในการศึกษาปีละ 40,000 บาท 30,000 บาทเป็นค่าเทอมและค่าหอพัก 10,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายตลอดทั้งปี หากเฉลี่ยเธอมีค่าครองชีพเดือนละ 4,000 บาท รายได้ไม่เพียงพอ และพ่อแม่ไม่มีศักยภาพพอที่จะช่วยได้ เธอทำงานหารายได้พิเศษสัปดาห์ละ 500 บาท ซึ่งนั่นพอจะถูไถได้ แต่แล้ว ชีวิตเธอต้องลำบากเพิ่มอีกเท่าตัว เพราะเมื่อ ปี 2559-2560 เงินกองทุนไม่เข้า พ่อต้องกู้หนี้นอกระบบ และนำจักรยานยนต์ไปจำนำ บางครั้งเงินทานข้าวยังไม่มี
ซึ่งไม่เพียงความลำบากกายที่ต้องเผชิญ ความลำบากใจนั้นทุกข์กว่า เธอมักโทษตัวเอง กับการตัดสินใจเลือกการศึกษาที่ทำให้พ่อแม่ต้องเผชิญความลำบากไปด้วย
อีก 1 ปี กัญญาวีร์จะจบการศึกษา แต่ทางข้างหน้ามีค่าใช้จ่ายรออยู่ ซึ่งเธอยังไม่รู้หนทางว่าจะหาเงินได้จากทางไหน และเริ่มไม่แน่ใจว่า เส้นทางการศึกษาของเธอจะต้องหยุดลงหรือไม่ เธอรู้สึกถูกริดรอนสิทธิและโอกาสการศึกษา เมื่อเธอกลายเป็นเหยื่อของความโลภ
ไม่เพียงสิทธิโอกาสทางการศึกษาของเยาวชนที่หายไป ผลการโกงกองทุนเสมายังได้ตัดกำลังสำคัญที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนอีกด้วย เมื่อมีข้อกำหนดให้เด็กที่ได้รับกองทุนเสมาฯ จะต้องกลับไปทำงานในพื้นที่บ้านเกิด หรือจังหวัดชายแดน ตามพระประสงค์โครงการผลิตพยาบาลเพื่อพัฒนาสุขภาพประชาชนในจังหวัดชายแดนตามรอยสมเด็จย่าฯ ซึ่งหน้าที่นี้คือความตั้งใจของกัญญาวีร์